backup og meta

แพนิกตอนขับรถ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีภาวะนี้ และควรรับมืออย่างไรดี

แพนิกตอนขับรถ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีภาวะนี้ และควรรับมืออย่างไรดี

อาการแพนิก หรือที่เรียกว่า Panic Attack คือ อาการตื่นกลัวสุดขีด ซึ่งเป็นอาการของโรคแพนิกที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังขับรถ และหากคุณควบคุมอาการไม่อยู่ ก็อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ วันนี้ Hello คุณหมอ เลยอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ แพนิกตอนขับรถ ให้มากขึ้น คุณจะได้รู้ตัวเมื่อเกิดอาการนี้ และสามารถรับมือได้ดีขึ้นด้วย

อาการของภาวะ แพนิกตอนขับรถ

หากคุณขับรถอยู่แล้วเกิดอาการเหล่านี้ นั่นแปลว่าคุณอาจมีภาวะแพนิกตอนขับรถ

  • อยู่ ๆ ก็รู้สึกตื่นกลัวสุดขีด
  • หัวใจเต้นแรง หรือเต้นเร็วกว่าปกติ
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะ
  • รู้สึกเหมือนจะหมดสติ
  • หายใจติดขัด หรือเหมือนจะสำลัก
  • คลื่นไส้
  • ตัวเย็น และเหงื่อออก
  • ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก หรือปวดท้อง
  • มือ แขน และขาสั่น
  • รู้สึกชา หรือเจ็บจี๊ดเหมือนมีเข็มทิ่มทั่วร่างกาย
  • ปากแห้ง
  • จู่ ๆ ก็อยากเข้าห้องน้ำ
  • มีเสียงวิ้ง ๆ ในหู
  • ควบคุมตัวเองไม่ได้
  • รู้สึกเหมือนกำลังจะตาย

โดยทั่วไปแล้ว อาการแพนิกตอนขับรถ จะมีอาการประมาณ 5-20 นาที แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดอาการต่อเนื่องยาวนานได้ถึง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการนี้เดือนละ 1-2 ครั้ง หรือในรายที่มีอาการรุนแรง ก็อาจแพนิกตอนขับรถสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเลยทีเดียว

ภาวะแพนิกกำเริบตอนขับรถ เกิดจากอะไร

ผู้ที่เกิดอาการแพนิกตอนขับรถมักประสบปัญหานี้ตอนขับรถบนทางด่วน ขับรถบนสะพาน ขับรถตอนรถติด ขับรถในตอนกลางคืน เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้ว อาการแพนิกตอนขับรถนี้มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ก็อาจทำให้เกิดอาการแพนิกตอนขับรถได้

  • คนในครอบครัวป่วยเป็นโรคแพนิก
  • เครียดจัด หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิตอย่างกะทันหัน
  • เพิ่งประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเกี่ยวข้องกับการขับรถหรือไม่ก็ได้

นอกจากนี้ หากคุณเคยเกิดอาการแพนิกมาก่อน หากเจอกับสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นบางอย่าง เช่น ภาพ กลิ่น เสียง ที่ทำให้คุณนึกถึงเหตุการณ์ตอนเกิดอาการแพนิกตอนขับรถครั้งก่อน ก็อาจทำให้อาการแพนิกของคุณกำเริบได้เช่นกัน

หากเกิดอาการ แพนิกตอนขับรถ ควรทำอย่างไรดี

อาการแพนิกตอนขับรถอาจทำให้คุณรู้สึกกลัว และมีอาการทางกายบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการขับรถได้ เช่น ควบคุมตัวเองไม่ได้ มือสั่น ทางที่ดี หากคุณรู้สึกว่ามีอาการของภาวะแพนิกตอนขับรถ เช่น วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่ออก ควรรีบหยุดรถและออกจากรถทันทีที่ทำได้ แต่หากคุณจำเป็นต้องขับรถต่อไป ไม่สามารถหยุดรถได้จริง ๆ วิธีเหล่านี้ก็อาจช่วยให้คุณรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น

หาสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจที่ปลอดภัย

ลองฟังเพลง พอดแคสต์ หรือวิทยุดู เราแนะนำให้คุณสร้างเพลย์ลิสต์ที่เป็นเพลงแนวผ่อนคลาย หรือเพลงฟังสบาย ๆ หรือหากเป็นพอดแคสต์หรือวิทยุ ก็ควรเลือกฟังรายการที่ตลก เบาสมอง ฟังแล้วไม่เครียด วิธีนี้จะช่วยเบี่ยงเบนคุณจากความเครียดซึ่งเป็นตัวกระตุ้นอาการแพนิกได้

ควบคุมประสาทสัมผัสให้ดี

คุณควรพกหมากฝรั่ง ลูกอมรสเปรี้ยว รสเผ็ด หรือรสมินต์เย็นซ่า และน้ำเย็นติดตัวหรือติดรถไว้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อต้องขับรถนาน ๆ และหากคุณรู้สึกแพนิก ให้รีบอมลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือดื่มน้ำทันที เพราะความเย็นของน้ำ หรือรสชาติของลูกอมและหมากฝรั่งเหล่านี้ จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส โดยเฉพาะการรับรสของคุณให้ดีขึ้น และทำให้คุณจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่น แทนที่จะเป็นอาการแพนิก

ปรับอากาศโดยรอบให้เย็นขึ้น

หากคุณเริ่มรู้สึกวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเหงื่อออก ควรปรับแอร์ภายในรถให้เย็นขึ้น หรือเปิดหน้าต่างรถเพื่อรับลม เมื่อร่างกายของคุณ โดยเฉพาะใบหน้าและมือ ได้สัมผัสอาการเย็น ๆ ก็อาจช่วยให้คุณสงบขึ้น จนอาการแพนิกบรรเทาลงได้

สูดหายใจให้ลึก ๆ

เวลาเกิดอาการแพนิกตอนขับรถ ผู้ป่วยมักจะมีอาการหายใจติดขัด หายใจไม่ออก หรือรู้สึกเหมือนจะสำลัก ซึ่งอาการเหล่านี้ สามารถสร้างความตื่นตระหนกและความหวาดกลัวให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก ฉะนั้น หากเริ่มมีปัญหาในการหายใจ คุณควรสูดหายใจให้ลึก ๆ และช้า ๆ มีสมาธิกับการหายใจเข้า-ออก ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ และทางที่ดี คุณควรฝึกหายใจลึก ๆ เป็นประจำ จะได้หายใจได้ดีขึ้น และผ่อนคลายขึ้นด้วย

วิธีรักษาภาวะแพนิกตอนขับรถ

หากคุณมีอาการแพนิกตอนขับรถบ่อย ๆ ควรรีบเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาสุขภาพจิตทันที เพราะหากปล่อยไว้จนอาการรุนแรง นอกจากจะทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้แล้ว ยังอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะโรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) โดยแพทย์อาจให้คุณเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT)
  • การบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Exposure Therapy)
  • การใช้ยา เช่น
    • ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง
    • ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors หรือ SSRI) ซึ่งเป็นยาต้านซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินในสมอง

ย้ำอีกทีว่า หากคุณมีอาการแพนิกตอนขับรถเป็นประจำ ควรรีบเข้าพบคุณหมอ เพราะหากปล่อยไว้ อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา ทั้งยังทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้มากขึ้นด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What You Need to Know If You Have Panic Attacks While Driving. https://www.healthline.com/health/anxiety/panic-attack-while-driving#treatment. Accessed August 25, 2020

6 Ways to Conquer Driving-Related Anxiety and Panic. https://www.psychologytoday.com/us/blog/think-act-be/202001/6-ways-conquer-driving-related-anxiety-and-panic. Accessed August 25, 2020

Panic disorder. https://www.nhs.uk/conditions/panic-disorder/. Accessed August 25, 2020

Panic Disorder: When Fear Overwhelms. https://www.nimh.nih.gov/health/publications/panic-disorder-when-fear-overwhelms/index.shtml. Accessed August 25, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/09/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

สุขภาพจิตดีขึ้นได้ เพียงออกกำลังกายด้วยการวิ่ง

รับมือได้อย่างไรเมื่อถูก อาการแพนิก โจมตี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา