backup og meta

ทำหมันชาย เทคนิคผ่าตัดช่วยคุมกำเนิด สำหรับผู้ไม่อยากมีบุตร

ทำหมันชาย เทคนิคผ่าตัดช่วยคุมกำเนิด สำหรับผู้ไม่อยากมีบุตร

ทำหมันชาย เป็นการเข้ารับการผ่าตัดปิดกั้นท่อนำอสุจิ ไม่ให้ตัวอสุจิออกจากอัณฑะ ที่จะส่งต่อไปยังท่อปัสสาวะ จนเกิดการหลั่งออกมาขณะมีเพศสัมพันธ์ การทำหมันด้วยวิธีนี้อาจจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนให้ดีเสียก่อนว่าไม่ต้องการที่จะมีบุตรแล้วอย่างถาวร

ทำหมันชาย คืออะไร

ทำหมันชาย (Male Sterilisation) คือ การเข้ารับการผ่าตัดปิดกั้นท่อนำอสุจิ ไม่ให้ตัวอสุจิออกจากอัณฑะ ที่จะส่งต่อไปยังท่อปัสสาวะ จนเกิดการหลั่งออกมาขณะมีเพศสัมพันธ์ การทำหมันด้วยวิธีนี้อาจจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนให้ดีเสียก่อนว่าตนเอง และคู่รักไม่ต้องการที่จะมีบุตรแล้วอย่างถาวร เนื่องจากหลังจากการทำหมันแล้วโอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะลดลงไปจนเกือบ 100% ถือได้ว่าเป็นการคุมกำนิดที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี

ทำหมันชายมีกี่ประเภท

การทำหมันชายอาจเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาไม่นานมากนัก โดยส่วนใหญ่มักมี 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

1. การทำหมันแบบธรรมดาโดยใช้มีดผ่าตัด

คุณหมออาจเริ่มต้นด้วยการให้ยาชาในบริเวณที่ต้องการจะผ่าตัด แล้วกรีดผ่าผิวหนังบริเวณเล็ก ๆ แถวถุงอัณฑะ เพื่อเปิดให้เข้าถึงท่อนำอสุจิ และตัดส่วนของปลายท่อออก จากนั้น ทำการเย็บด้วยไหมละลายปิดให้สนิท

2. การทำหมันแบบโดยไม่ใช้มีดผ่าตัด

เป็นการทำหมันโดยเริ่มจากการให้ยาชาบริเวณอัณฑะ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะผ่าตัด จากนั้น คุณหมออาจทำการเจาะรูเล็ก ๆ บนผิวหนังของถุงอัณฑะไปจนถึงท่อนำอสุจิ และใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อคีบท่อนำอสุจิขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อทำการตัด และเย็บปิดผนึกปลายท่อ

การทำหมันชาย มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

ข้อดีของการทำหมันชาย

  • มีประสิทธิภาพป้องกันในการตั้งครรภ์มากกว่า 99%
  • ไม่ส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนทางเพศ หรือขัดขวางอารมณ์ในการมีเพศสัมพันธ์
  • ผลข้างเคียงที่อาจเกี่ยวข้องกับสุขภาพพบได้ยาก

ข้อเสียของการทำหมันชาย

  • ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้น จึงควรป้องกันตนเองด้วยการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์
  • การทำหมัน คือ การคุมกำเนิดอย่างถาวร ทำให้ไม่สามารถแก้ไขย้อนกลับให้เหมือนเดิมได้
  • ผู้ที่ทำหมันแล้ว ยังจำเป็นต้องคุมกำเนิดสักระยะหนึ่ง แม้ว่าจะได้รับการทำหมันมาแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันอสุจิที่ยังตกค้างอยู่บริเวณปลายท่อนำอสุจิ
  • อาจมีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น ภาวะห้อเลือด การติดเชื้อของแผล อาการเจ็บปวด

การดูแลตัวเองหลังจากทำหมัน

ช่วงแรกหลังเสร็จสิ้นการผ่าตัดทำหมันชาย ุณหมออาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีการฟื้นฟูแผลผ่าตัดที่จำเป็นอย่างมาก และควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • รักษาสุขอนามัย และห้ามไม่ให้แผลโดนน้ำ หรือทำการซับน้ำออกให้แห้งสนิทอย่างเบามือ
  • ประคบเย็น หรือประคบด้วยก้อนน้ำแข็ง ในบริเวณรอบ ๆ ที่คุณรู้สึกปวดจากแผลผ่าตัด
  • งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 8-12 สัปดาห์ เพื่อป้องกันอสุจิที่ยังตกค้างบริเวณท่อนำอสุจิ
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือการใช้ร่างกายอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด
  • สวมใส่กางเกงชั้นในที่ให้ความเบาสบาย คล่องตัว และสามารถช่วยพยุงถุงอัณฑะได้

หากหลังจากทำหมันแล้ว หากมีความประสงค์อยากมีบุตรอาจจำเป็นต้องใช้เทคนิคการทำเด็กหลอดแก้ว โดยคุณหมอจะนำอสุจิที่อยู่ภายในถุงอัณฑะมาปฏิสนธิกับไข่ของคู่รัก แต่การทำเด็กหลอดแก้วอาจเป็นเทคนิคมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจทำหมันชายเพื่อคุมกำเนิดอย่างถาวร

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vasectomy. https://www.webmd.com/sex/birth-control/vasectomy-overview Accessed January 24, 2021

Vasectomy. (male sterilisation) https://www.nhs.uk/conditions/contraception/vasectomy-male-sterilisation/ Accessed January 24, 2021

Vasectomy. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/vasectomy/about/pac-20384580#:~:text=Vasectomy%20is%20a%20form%20of,outpatient%20setting%20under%20local%20anesthesia. Accessed September 16, 2022

Vasectomy. https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/vasectomy. Accessed September 16, 2022

5 Facts You Should Know Before Having a Vasectomy. https://www.pennmedicine.org/updates/blogs/fertility-blog/2019/march/5-facts-you-should-know-before-having-a-vasectomy. Accessed September 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/09/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

หลั่งน้ำอสุจิน้อย ปัญหาสุขภาพ ที่ทำให้ผู้ชายหมดความมั่นใจ

หลั่งข้างนอก เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้ผลจริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 16/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา