ร้อนใน เป็นแผลในช่องปากบริเวณริมฝีปากด้านใน เหงือก ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม มักทำให้รู้สึกเจ็บ รวมทั้งอาจทำให้กลืนอาหารยากหรือพูดได้ลำบาก หากถามว่า ร้อนในเกิดจาก อะไร? คำตอบคือ ร้อนในเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันแรงเกินไป การเผลอกัดปากหรือลิ้นของตนเอง การขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารที่เป็นกรด หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย
[embed-health-tool-bmi]
ร้อนในคืออะไร
ร้อนใน เป็นแผลในปากที่มักเกิดขึ้นบริเวณริมฝีปากทั้งด้านนอกและผนังด้านใน เหงือก ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม เมื่อเป็นแผลร้อนในมักทำให้รับประทานอาหารได้ไม่สะดวกหรือพูดคุยได้ลำบาก
ร้อนใน สามารถแบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ได้ ดังนี้
- ร้อนในขนาดเล็ก เป็นร้อนในชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ขอบเป็นรูปวงกลม และอาจหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
- ร้อนในขนาดใหญ่ เป็นร้อนในที่มักพบในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เนื่องจากการติดเชื้อเอชไอวีหรือการทำเคมีบำบัด ร้อนในขนาดใหญ่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1-3 เซนติเมตร ขอบไม่เป็นวงกลม และอาจหายได้เองภายใน 3-6 สัปดาห์
- แผลเปื่อยเฮอร์เพติฟอร์ม (Herpetiform Ulcer) เป็นร้อนในชนิดที่พบได้น้อยที่สุด โดยเป็นแผลขนาดเล็กจำนวนมากที่รวมกันเป็นแผลใหญ่แผลเดียว ลักษณะคล้ายกับอาการของโรคเริมแต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยทั่วไป ร้อนในชนิดนี้มักหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน
ร้อนในเกิดจาก สาเหตุอะไร
ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของร้อนใน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- อาการบาดเจ็บเล็กน้อยภายในช่องปาก เนื่องจากการแปรงฟัน การเล่นกีฬา หรือการกัดโดยไม่ตั้งใจ
- การรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำมะนาว
- การขาดสารอาหารประเภทวิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก สังกะสี และโฟเลต (Folate)
- การแพ้อาหาร หรือแพ้สารที่อยู่ในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก
- การติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (Helicobacter Pylori) ซึ่งเป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน
- การพักผ่อนหรือดื่มน้ำน้อย
ร้อนใน รักษาได้อย่างไร
เมื่อเป็นร้อนในแล้วไปพบคุณหมอ มักได้รับการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- ให้อมน้ำยาบ้วนปากที่ผสมเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) หรือลิโดเคน (Lidocaine) โดยตัวยาทั้ง 2 ชนิดมีฤทธิ์บรรเทาอาการเจ็บปวดของอาการร้อนใน
- ใช้ยาทาหรือเจลที่ผสมตัวยาอย่างเบนโซเคน (Benzocaine) ฟลูโอซิโนไนด์ (Fluocinonide) หรือไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ซึ่งมีฤทธิ์ลดความเจ็บปวด
- ในกรณีอาการร้อนในรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น คุณหมอจะจ่ายยาซูคราลเฟต (Sucralfate) โคลชิซิน (Colchicine) หรือสเตียรอยด์ (Steroid) ให้รับประทาน
- จี้บริเวณที่เป็นร้อนในด้วยสารเคมีอย่าง ดีแบคเตอรอล (Debacterol) ซึ่งอาจช่วยทำให้ร้อนในหายเร็วยิ่งขึ้น
- จ่ายอาหารเสริมหรือวิตามินให้รับประทาน ในกรณีร้อนในเกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก สังกะสี และโฟเลต (Folate)
ทั้งนี้ หากไม่ต้องการไปพบคุณหมอ อาจเลือกดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการร้อนในด้วยวิธีการต่อไปนี้
- บ้วนปากด้วยน้ำอุณหภูมิห้องผสมเกลือและผงฟู
- ใช้คอตตอนบัดป้ายยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) บริเวณที่เป็นร้อนใน
ร้อนใน ป้องกันได้อย่างไร
ร้อนในสามารถเป็นซ้ำได้หลายครั้ง แต่อาจป้องกันได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เคี้ยวอาหารอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการเคี้ยวโดนกระพุ้งแก้มหรือริมฝีปาก
- หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่อาจทำให้ภายในปากระคายเคือง เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม ผักรสเปรี้ยว ของเผ็ดต่าง ๆ น้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- เลือกใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงอ่อนนุ่ม ไม่แข็งเกินไป และไม่ควรแปรงฟันรุนแรงเกินไป
- รับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อลดโอกาสขาดสารอาหารที่จำเป็น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายประมาณ 1.5-2 ลิตรต่อวัน
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอและหาวิธีจัดการความเครียด