ตรวจตา คือ การทดสอบสายตาเพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในดวงตา เช่น ประสิทธิภาพในการมองเห็น ต้อกระจก ต้อหิน และ การทดสอบมีหลายรูปแบบโดยจักษุแพทย์อาจเลือกใช้มากกว่าหนึ่งวิธี เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของการตรวจตา
การเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอาจทำให้ทราบถึงปัญหาสายตา หรือโรคตาที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตาเหล่ ตาพร่า ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม การตรวจตาสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีอาจทำให้คุณหมอช่วยรักษาภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการที่รุนแรง หรือเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็น
ควรตรวจตาเมื่อใด
การตรวจตา สามารถทำได้ทุกวัยโดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาการปกติ อาจขอรับการตรวจตาตามเกณฑ์อายุ ดังต่อไปนี้
- ทารกแรกเกิด เป็นช่วงวัยแรกที่ควรได้รับการตรวจหาการติดเชื้อที่ตา
- ทารก 6 เดือน ควรตรวจสุขภาพตาโดยรวม และพัฒนาการในด้านการมองเห็น
- เด็กอายุไม่เกิน 3 ปี เด็กในช่วงวัยนี้อาจเสี่ยงเผชิญกับปัญหาตาขี้เกียจ ตาขวาง ตาเหล่ จึงควรพาเด็ก ๆ เข้ารับการตรวจตาเป็นประจำ
- เด็กอายุ 3-5 ปี ขึ้นไป อาจเข้ารับการตรวจตาเพื่อทดสอบด้านการมองเห็น และตำแหน่งของดวงตาเป็นประจำทุกปี
- ช่วงอายุ 20–39 ปี ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาทุก ๆ 5-10 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ใช้สายตามากในชีวิตประจำวัน หรือมีปัญหาทางสายตา ควรเข้ารับการตรวจตาทุกปี
- ช่วงอายุ 40-54 ปี ควรเข้ารับการตรวจตาทุก 2-4 ปี
- ช่วงอายุ 55-64 ปี ควรเข้ารับการตรวจตาทุก 1-3 ปี
- ช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจตาทุก 1-2 ปี
ทั้งนี้ผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับโรคตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน หรือโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรเข้ารับการตรวจตาทุกปี เพราะโรคที่เป็นอาจเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้เส้นเลือดจอประสาทตาอุดตัน และอาจนำไปสู่การมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไป
วิธีตรวจตาประเภทต่าง ๆ
การตรวจตาประเภทต่าง ๆ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของดวงตา มีดังนี้
- การทดสอบกล้ามเนื้อตา
เป็นการทดสอบประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อตาที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา ด้วยการมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ไปมา เช่น ปากกา แสง โดยคุณหมอจะสังเกตการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อตาว่ามีอาการอ่อนแรง และควบคุมดวงตาได้ดีหรือไม่
- การทดสอบการมองเห็นระยะใกล้ และไกล
การทดสอบการมองเห็น เป็นการทดสอบด้วยการอ่านตัวอักษรตามแถวที่กำหนด ซึ่งแต่ละแถวจะมีขนาดที่ต่างกันจากขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก และอาจกำหนดระยะห่างในการอ่านจากใกล้ไปถึงไกล อีกทั้งคุณหมออาจให้ปิดตาข้างใดข้างหนึ่งเพื่อทดสอบการมองเห็นของดวงตาแต่ละข้าง
- การทดสอบการมองเห็นด้วยการอ่านสี
บางครั้งการมองเห็นสีที่ผิดเพี้ยนอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการตาบอดสี คุณหมออาจทำการทดสอบโดยให้อ่านจุดหลากสีที่รวมเป็นตัวเลข หรือรูปภาพ ซึ่งแต่ละจุดอาจมีสีต่างกัน หรือคล้ายกัน หากมองเห็นเป็นสีปกติก็อาจสามารถบอกคุณหมอได้อย่างชัดเจนว่าจุดสีมีสีใด และรูปที่เห็นเป็นรูปใด แต่หากมีข้อบกพร่องในการมองเห็นสี ก็อาจทำให้จำแนกสีได้ยาก และใช้เวลาอ่านนานกว่าปกติ
- การทดสอบลานสายตา
การทดสอบลานสายตา คือ การทดสอบเพื่อประเมินการมองเห็นด้านข้าง โดยไม่ต้องหันหน้า หรือขยับดวงตา ซึ่งคุณหมออาจทดสอบด้วยการนั่งหันหน้ามองตรง และให้สังเกตวัตถุที่เคลื่อนที่มาด้านข้างดวงตา พร้อมแจ้งคุณหมอทุกครั้งว่าเห็นวัตถุที่เคลื่อนที่หรือไม่
- การทดสอบการหักเหของแสงในดวงตา
การตรวจการหักเหของแสงอาจใช้อุปกรณ์การตรวจตาที่เรียกว่า “โฟร็อปเตอร์ (Phoropter)’ เพื่อตรวจความโค้งของกระจกตา ว่าแสงสามารถผ่านเข้าไปยังส่วนของหลังตาหรือเรตินา ว่าสะท้อนกลับเข้ามาในรูม่านตาได้หรือไม่ ส่วนใหญ่มักใช้ประเมินหาปัญหาทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว
- การตรวจจอประสาทตา
คุณหมออาจหยอดตาเพื่อขยายม่านตา ก่อนใช้เครื่องมือ “ออพธัลโมสโคป (Ophthalmoscopy)’ เพื่อตรวจเรตินา แก้วนำแสง หลอดเลือดบริเวณเรตินาดวงตาอย่างละเอียด เพื่อตรวจสุขภาพด้านหลังดวงตาว่ามีการทำงานได้ดีหรือไม่
- ตรวจตาด้วยเครื่อง Slit-lamp
เป็นการตรวจด้วยเครื่องที่เปรียบเสมือนกล้องจุลทรรศน์ที่มีหลอดไฟที่มีแสง ส่วนใหญ่นิยมนำมาตรวจบริเวณเปลือกตา ขนตา กระจกตา ม่านตา เลนส์ตา บางกรณีอาจมีการใช้สีย้อมหยอดตาร่วม เพื่อสังเกตเซลล์ที่สร้างความเสียหายให้แก่ดวงตา
- ตรวจความดันในลูกตา
การทดสอบนี้เป็นการวัดความดันในลูกตา ที่อาจนำไปสู่การเกิดต้อหิน หรือภาวะที่ทำลายเส้นประสาทในตา โดยคุณหมออาจหยอดยาชาในลูกตา และใช้เครื่องมือเฉพาะทางสำหรับการตรวจตาที่เรียกว่า Tonometer กดกระจกตาด้วยแรงเบา
เมื่อทราบวันเข้ารับการตรวจสุขภาพตา อาจพาผู้ดูแล หรือคนในครอบครัวมาด้วย เพราะการตรวจสุขภาพตาบางวิธีที่มีการใช้ยาหยอดตา ยาชา ยาย้อมสี ซึ่งอาจก่อให้เกิดข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ตาไวต่อแสง มองเห็นไม่ชัด ที่อาจทำให้เดิน หรือขับรถไม่สะดวก