backup og meta

ประจำเดือนสีดำ เกิดจากอะไร

ประจำเดือนสีดำ เกิดจากอะไร

ประจำเดือน คือ เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาเนื่องจากไข่ไม่ได้รับการผสมกับอสุจิ จึงไม่มีตัวอ่อนมาฝังที่เยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้หลุดลอกออกมาตามรอบเดือน โดยปกติแล้วภาวะนี้จะเกิดขึ้นทุกเดือนหากไม่ได้ตั้งครรภ์ เลือดประจำเดือนโดยทั่วไปอาจมีสีแดงสด หรือแดงเข้ม แต่ในบางครั้ง ก็อาจเกิด ประจำเดือนสีดำ ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากมีประจำเดือนสีดำร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ คันช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ควรรีบเข้าพบคุณหมอ เพราะอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้

[embed-health-tool-ovulation]

ประจำเดือน คืออะไร

ประจำเดือน หรือรอบเดือน หรือระดู คือ ภาวะที่มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือน โดยปกติแล้ว เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (อายุประมาณ 11-14 ปี) รังไข่จะตกไข่ทุก ๆ เดือน และจะมีไข่ใบที่สุกที่สุดหลุดออกมาจากรังไข่เพื่อรอผสมกับอสุจิเดือนละ 1 ฟอง อีกทั้งสมองจะหลั่งฮอร์โมนไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเพศ อย่างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงและหนาตัวขึ้น เพื่อเตรียมให้ตัวอ่อนมาฝังตัว ในกรณีที่ไข่ผสมกับอสุจิแล้วเกิดการปฏิสนธิหรือเกิดการตั้งครรภ์ แต่หากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิหรือไม่มีการตั้งครรภ์ เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมากลายเป็นเลือดประจำเดือน ปกติอาจมีสีแดงเข้ม หรือสีน้ำตาล แต่ก็อาจมีสีอื่น ๆ ได้ เช่น ประจำเดือนสีดำ ประจำเดือนสีเทา ประจำเดือนสีชมพู ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมน สภาวะสุขภาพ อายุของเลือด เป็นต้น

วิธีนับรอบประจำเดือน

การนับรอบประจำเดือน (Menstrual cycle) แต่ละรอบ จะเริ่มนับวันแรกของการมีประจำเดือน เป็นวันที่ 1 แล้วนับต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนรอบถัดไป จึงเริ่มนับเป็นวันที่ 1 ใหม่อีกครั้ง รอบประจำเดือนปกติจะมีระยะเวลาประมาณ 28 วัน แต่ก็อาจมีระยะเวลาตั้งแต่ 21-35 วัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม เช่น ความเครียด ภาวะสุขภาพ การออกกำลังกายหนักเกินไป การขาดสารอาหาร ระดับฮอร์โมน

รอบประจำเดือนแบ่งเป็น 4 ระยะหลัก ได้แก่

  1. ระยะมีประจำเดือน
  2. ระยะก่อนตกไข่
  3. วันไข่ตก
  4. ระยะหลังไข่ตก

ประจำเดือนสีดำ เกิดจากอะไร

ในบางเดือน ผู้หญิงอาจมีประจำเดือนสีดำได้ในช่วงวันแรก ๆ หรือวันท้าย ๆ ของการมีประจำเดือน ที่ประจำเดือนมีสีดำ อาจเพราะเป็นเลือดเก่า หรือเป็นเลือดที่คั่งค้างอยู่ในช่องคลอดนานเกินไป จนเกิดการออกซิไดซ์หรือทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ส่งผลให้เลือดเปลี่ยนจากสีแดง เป็นสีน้ำตาลหรือแดงคล้ำ ก่อนจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเลือดประจำเดือนสีดำในที่สุด

แม้การมีประจำเดือนสีดำจะพบได้ทั่วไป และมักไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ในบางครั้ง ก็อาจเป็นสัญญาณว่าช่องคลอดผิดปกติ เช่น ช่องคลอดตีบตันหรือมีสิ่งอุดกั้นในช่องคลอด ซึ่งนอกจากจะทำให้ประจำเดือนมีสีดำแล้ว ยังอาจมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • คันช่องคลอด หรือช่องคลอดบวม
  • มีลิ่มเลือดประจำเดือนมาก 
  • มีไข้ 
  • ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะขัด

หากพบอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยหาสาเหตุ จะได้รักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

อาการผิดปกติอื่น ๆ นอกจากประจำเดือนสีดำ

นอกเหนือจากอาการประจำเดือนสีดำ หากประจำเดือนมีลักษณะดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

  • ปวดประจำเดือนรุนแรง
  • จำนวนวันในการมีประจำเดือนเปลี่ยนไปทุกเดือน
  • รอบประจำเดือนน้อยกว่า 24 วัน หรือนานกว่า 38 วัน
  • ประจำเดือนไม่มาอย่างน้อย 3 เดือน
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือมีเลือดออกในช่วงที่ไม่ได้มีประจำเดือน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดทั้งที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Menstrual cycle. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/menstrual-cycle. Accessed February 10, 2022

Menstrual cycle: What’s normal, what’s not. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/menstrual-cycle/art-20047186. Accessed February 10, 2022

Periods. https://www.nhs.uk/conditions/periods/. Accessed February 10, 2022

Menstruation. https://medlineplus.gov/menstruation.html. Accessed February 10, 2022

What Does the Color of Your Period Mean?. https://health.clevelandclinic.org/what-does-the-color-of-your-period-mean/. Accessed February 10, 2022

What to Know About the Color of Period Blood. https://www.webmd.com/women/what-to-know-color-period-blood. Accessed February 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/06/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย กับปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง

แสบช่องคลอด สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 29/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา