backup og meta

ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก การเตรียมตัว และความเสี่ยง

ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก การเตรียมตัว และความเสี่ยง

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก คือกระบวนการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์ที่เจริญเติบโตผิดปกติภายในมดลูก ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดแบบกำจัดแค่เพียงส่วนที่เป็นเนื้องอก กับการผ่าตัดนำมดลูกออกไปทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการลุกลามของเนื้องอก การศึกษาเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดมดลูก อาจช่วยลดวามเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้

[embed-health-tool-ovulation]

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก คืออะไร

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก คือ กระบวนการผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอกในมดลูกออกไป โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. การผ่าตัดเฉพาะแค่ส่วนของเนื้องอก (Myomectomy) คือการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อส่วนที่เป็นเพียงก้อนเนื้องอกออก เหมาะสำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ในอนาคต ทั้งนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติหลังการผ่าตัด หากพบว่ามีไข้ หายใจลำบาก เลือดออกทางช่องคลอดมาก ควรพบคุณหมอทันที
  2. การตัดมดลูก (Hysterectomy) คือการผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกมดลูกและมดลูกออกไปทั้งหมด ส่งผลให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกในอนาคต และจะไม่มีประจำเดือน แต่ถ้ายังไม่ได้ตัดรังไข่ ก็ยังมีฮอร์โมนตามธรรมชาติ ไม่ต้องกินยาฮอร์โมนทดแทน วิธีการนี้มักใช้กับผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไปที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว

การผ่าตัดมดลูกมีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่

  • การตัดมดลูกออกเพียงบางส่วน เป็นการผ่าตัดเพื่อนำแค่เฉพาะส่วนบนของมดลูกออกไป แต่ยังคงเหลือส่วนปากมดลูกเอาไว้
  • การตัดมดลูกออกทั้งหมด เป็นการผ่าตัดเพื่อนำส่วนของมดลูกทั้งหมด รวมไปถึงปากมดลูกออกไป
  • การตัดมดลูกแบบถอนราก เป็นการผ่าตัดเพื่อนำมดลูกและเนื้อเยื่อโดยรอบ รวมไปถึงรังไข่ ท่อนำไข่ ต่อมน้ำเหลือง ต่อมไขมัน และเนื้อเยื่อบางส่วนของช่องคลอดออกไปด้วย มักใช้ในกรณีที่เป็นมะเร็งปากมดลูก

วิธีการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

วิธีการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก มี 3 รูปแบบ ดังนี้

  1. การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านการเปิดช่องท้อง เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกในมดลูกออกโดยการกรีดบริเวณท้องน้อยในแนวนอนสำหรับเนื้องอกขนาดเล็ก หรือผ่าในแนวตั้งสำหรับเนื้องอกขนาดใหญ่
  2. การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านกล้อง เป็นการผ่าตัดโดยการสอดกล้องผ่านแผลขนาดเล็ก (5-10 มิลลิเมตร) บริเวณหน้าท้อง แล้วใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กตัดเนื้องอกที่มดลูกออกมา ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ อาจไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องได้
  3. การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย เป็นการผ่าตัดที่คล้ายกับการส่องกล้องแต่ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดแทน โดยคุณหมอจะกรีดแผลขนาดเล็กใกล้กับสะดือ และรสอดกล้องและเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กเข้าไป จากนั้นคุณหมอจะควบคุมการเคลื่อนไหวของเครื่องมือผ่านแผงควบคุม วิธีการนี้อาจทำให้เสียเลือดน้อยกว่า มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย และอาจใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดรูปแบบอื่น แต่อาจใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

คุณหมออาจนัดหมายตรวจสุขภาพโดยรวม ผู้ป่วยต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล และอดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด โดยผู้ป่วยควรแจ้งเกี่ยวกับยา อาหารเสริม สมุนไพร และวิตามิน ที่กำลังใช้อยู่ให้คุณหมอทราบก่อนการผ่าตัด เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลให้มีเลือดออกมากกว่าปกติ  หรืออาจเกิดปฏิกิริยากับยาที่คุณหมออาจให้ในรับประทานก่อนวันผ่าตัด

จากนั้นจะให้ผู้ป่วยดมยาสลบและใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออาจใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดบริเวณกระดูกสันหลัง แล้วจึงเริ่มการผ่าตัด ระยะเวลาในการผ่าตัดขึ้นอาจอยู่กับประเภทของการผ่าตัดและขนาดของเนื้องอก

วันที่ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกควรพาคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมาคอยดูแลและเฝ้าสังเกตอาการหลังการผ่าตัด เพราะอาจมีการเจ็บปวดหรือเคลื่อนไหวลำบาก

ความเสี่ยงของการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

ความเสี่ยงของการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก อาจมีดังนี้

  • การสูญเสียเลือด การผ่าตัดทุกชนิด รวมไปถึงการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกล้วนมีโอกาสทำให้ร่างกายสูญเสียเลือด อย่างไรก็ตาม คุณหมอจะดำเนินการผ่าตัดอย่างระมัดระวังที่สุด เพื่อไม่ให้เลือดออกมากจนเกินไป
  • แผลเป็น การผ่าตัดอาจสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ และส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นได้
  • มดลูกแตก เนื่องจากการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกอาจจำเป็นกรีดลึกลงไปในบริเวณผนังมดลูก จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะมดลูกแตกระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียงอย่างลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต เป็นต้น อาการปวดเรื้อรัง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภาวะเสียเลือดมาก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Uterine fibroids. https://medlineplus.gov/ency/article/000914.htm. Accessed May 09, 2022

Uterine Fibroids. https://www.acog.org/womens-health/faqs/uterine-fibroids. Accessed May 09, 2022

Uterine fibroids. https://www.webmd.com/women/uterine-fibroids/uterine-fibroids. Accessed May 09, 2022

Uterine Fibroids. https://www.webmd.com/women/uterine-fibroids/uterine-fibroids. Accessed May 09, 2022

Myomectomy. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/myomectomy/about/pac-20384710. Accessed May 09, 2022

Do I Need Surgery for Uterine Fibroids? https://www.webmd.com/women/uterine-fibroids/surgery-for-uterine-fibroids. Accessed May 09, 2022

Hysterectomy. https://www.webmd.com/women/guide/hysterectomy. Accessed May 09, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/11/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เซ็กส์หลังผ่าตัดมดลูก เตรียมความพร้อมอย่างไร

ทำไมต้อง ตัดมดลูกและรังไข่ 2 ข้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา