backup og meta

1

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

หนังหุ้มปลายตีบ สาเหตุ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

หนังหุ้มปลายตีบ สาเหตุ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

หนังหุ้มปลายเป็นชั้นผิวหนังบาง ๆ ที่ส่วนปลายอวัยวะเพศชาย โดยปกติจะสามารถรูดเปิดขึ้นลงได้ แต่บางครั้งอาจมีอาการ หนังหุ้มปลายตีบ ซึ่งเป็นภาวะผิวหนังหดตัวจนไม่สามารถรูดให้เปิดได้ตามปกติ หากหนังหุ้มปลายตีบแต่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ทั้งในด้านสุขภาพและความสัมพันธ์ทางเพศ เช่น เจ็บขณะปัสสาวะ มีเลือดออกที่องคชาต เจ็บเมื่อองคชาตแข็งตัว ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากหนังหุ้มปลายตีบร่วมกับมีอาการข้างต้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

[embed-health-tool-ovulation]

หนังหุ้มปลายตีบ เกิดจากอะไร

หนังหุ้มปลายตีบ เป็นภาวะที่เกิดจากผิวหนังบริเวณปลายองคชาตหดตัวจนไม่สามารถรูดให้เปิดได้ตามปกติ สามารถเกิดได้กับผู้ชายได้ทุกวัย แต่มักพบในเพศชายวัยเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน หนังหุ้มปลายของเด็กผู้ชายมักไม่หดกลับจนกว่าจะอายุ 5-7 ขวบ ภาวะหนังหุ้มปลายตีบอาจทำให้ส่วนปลายองคชาตโป่งหรือพองขณะปัสสาวะ และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บบริเวณปลายองคชาต มีอาการอักเสบ รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ เจ็บขณะองคชาตแข็งตัว หรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่หนังหุ้มปลายตึงแน่นมากกว่าปกติ

สาเหตุที่ทำให้หนังหุ้มปลายตีบ อาจมีดังนี้

  • สุขอนามัยไม่ดี การดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศที่ไม่ดี เช่น ล้างไม่สะอาด ไม่ซับให้แห้งหลังอาบน้ำหรือปัสสาวะ อาจทำให้หนังหุ้มปลายตีบ ทั้งยังทำให้ระคายเคืองและติดเชื้อได้
  • ปัญหาสุขภาพผิว เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคสะเก็ดเงิน โรคไลเคน พลานัส (Lichen planus) ซึ่งเป็นการอักเสบของผิวหนังที่ก่อให้เกิดผื่นคัน โรคไลเคน สเคิลโรซุส (Lichen Sclerosus) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังอักเสบที่ส่งผลต่อผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ
  • สาเหตุโดยธรรมชาติ เป็นภาวะหนังหุ้มปลายตีบที่เรียกว่า ภาวะหนังหุ้มปลายตีบทางสรีรวิทยา (Physiologic Phimosis) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งอาจดีขึ้นเมื่ออายุได้ 5-7 ขวบ
  • การติดเชื้อ การติดเชื้อและการอักเสบอาจทำให้หนังหุ้มปลายเกิดแผลเป็น และอาจทำให้ผิวหนังยืดหยุ่นได้น้อยลง เมื่อเนื้อเยื่อบริเวณหนังหุ้มปลายแข็งตัวและไม่อ่อนนุ่มจะทำให้ดึงกลับได้ยาก
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หนังหุ้มปลายอาจสูญเสียความยืดหยุ่นที่เคยมี นอกจากนี้ อวัยวะเพศอาจไม่แข็งตัวบ่อยเหมือนในวัยหนุ่ม จึงอาจทำให้เกิดหนังหุ้มปลายตีบได้
  • ภาวะสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน เป็นโรคที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปลายองคชาตหรือปลายองคชาตอักเสบ (Balanitis) และนำไปสู่ภาวะหนังหุ้มปลายตีบได้
  • การบาดเจ็บ บางครั้งหนังหุ้มปลายตีบอาจเกิดจากการดึงและยืดหนังหุ้มปลายอย่างรุนแรง จนทำให้เนื้อเยื่อฉีกขาดและเกิดการอักเสบได้

อาการของหนังหุ้มปลายตีบ

อาการหนังหุ้มปลายตีบ ที่อาจต้องเข้ารับการรักษาโดยคุณหมอ อาจมีดังนี้

  • อวัยวะเพศมีรอยแดงหรือเปลี่ยนสีซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือระคายเคือง
  • อวัยวะเพศบวมหรืออักเสบซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือระคายเคือง
  • ปวดเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวหรือมีเพศสัมพันธ์
  • ปวดขณะถ่ายปัสสาวะ หรือถ่ายปัสสาวะไม่ออก
  • มีเลือดปนในปัสสาวะ
  • ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง
  • มีเลือดออกหรือมีสารคัดหลั่งที่มีลักษณะเป็นมูกหนาออกมาจากใต้หนังหุ้มปลาย หรือมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

ภาวะสุขภาพที่เกิดจากหนังหุ้มปลายตีบ

หากหนังหุ้มปลายตีบ อาจส่งผลให้เกิดภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้

  • สุขอนามัยไม่ดี หนังหุ้มปลายตีบอาจทำให้สุขอนามัยไม่ดีได้ เนื่องจากทำความสะอาดยาก อาจทำให้สิ่งสกปรกหมักหมม จนเกิดกลิ่นเหม็นได้
  • เกิดภาวะหนังหุ้มปลายติด (Paraphimosis) เกิดขึ้นเมื่อหนังหุ้มปลายตึงแน่นมาก ทำให้เมื่อรูดลงมาจากส่วนปลาย หนังหุ้มปลายจะค้างอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถรูดกลับขึ้นไปคลุมส่วนปลายเหมือนเดิมได้ จนอาจทำให้ส่วนปลายขององคชาตบวมและอักเสบ เป็นภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น เลือดไม่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงปลายองคชาต

วิธีรักษาหนังหุ้มปลายตีบ

โดยทั่วไปผู้ที่มีหนังหุ้มปลายตีบไม่ต้องเข้ารับการรักษา โดยเฉพาะในเด็กผู้ชาย เพราะภาวะนี้จะหายไปเองเมื่ออายุมากขึ้น แต่หากมีภาวะสุขภาพอื่นร่วมด้วย อาจต้องรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ใช้ยาทาเฉพาะที่ ใช้ครีมหรือเจลสเตียรอยด์ทาบริเวณหนังหุ้มปลาย เพื่อให้ผิวหนังบริเวณนั้นนิ่มลงและรูดเปิดได้ง่ายขึ้น หลังใช้ยาประมาณ 2 สัปดาห์ คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยลองรูดหนังหุ้มปลายขึ้นลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ ควรทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เนื้อเยื่อฉีกขาด
  • ยาปฏิชีวนะ หากหนังหุ้มปลายติดเชื้อ ต้องรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เบต้าเมทาโซน (Betamethasone) ความเข้มข้น 0.05% เพื่อฆ่าเชื้อโรค
  • การขลิบหนังหุ้มปลาย
  • การผ่าตัด หากอาการหนังหุ้มปลายตีบเกิดจากปลายองคชาตอักเสบและรักษาด้วยการใช้ยาทาเฉพาะที่แล้วไม่ได้ผล คุณหมออาจรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศโดยการตัดหนังส่วนปลายออกบางส่วน เพื่อให้สามารถรูดเปิดได้ง่ายขึ้น

วิธีป้องกันไม่ให้เกิด หนังหุ้มปลายตีบ

การป้องกันไม่ให้เกิดหนังหุ้มปลายตีบ อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างทำความสะอาดหนังหุ้มปลายเป็นประจำ ด้วยการใช้น้ำอุ่นและสบู่ที่ไม่ผสมน้ำหอม เพื่อป้องกันปัสสาวะ สิ่งสกปรก แบคทีเรีย และสารอื่น ๆ สะสมจนทำให้ติดเชื้อ
  • ควรรูดเปิดหนังหุ้มปลายและรูดปิดกลับมาในตำแหน่งเดิมทุกครั้งอย่างระมัดระวังและเบามือ
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศชายทั้งหมดอย่างหมดจด ทั้งส่วนฐาน ถุงอัณฑะ และส่วนปลาย
  • เล็มขนหัวหน่าวเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่อาจทำให้หนังหุ้มปลายตีบ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tight foreskin (phimosis). https://www.nhs.uk/conditions/phimosis/. Accessed July 11, 2022

2 Penis Disorders: Phimosis and Paraphimosis. https://www.webmd.com/men/phimosis-paraphimosis. Accessed July 11, 2022

What are the treatment options for phimosis?. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK326433/. Accessed July 11, 2022

Phimosis. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22065-phimosis. Accessed July 11, 2022

Foreskin care. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/foreskin-care. Accessed July 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

avatar

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา