backup og meta

อาการก่อนเป็นประจำเดือน (PMS) พร้อมวิธีรับมือที่ควรรู้

อาการก่อนเป็นประจำเดือน (PMS) พร้อมวิธีรับมือที่ควรรู้

อาการก่อนเป็นประจำเดือน (Premenstrual syndrome หรือ PMS) เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนเป็นประจำเดือน มักส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ผู้หญิงแต่ละคนอาจมีอาการก่อนเป็นประจำเดือนที่อาจแตกต่างกันทั้งรูปแบบและความรุนแรงของอาการ เช่น ปวดหลัง ปวดท้อง เจ็บบริเวณหน้าอก ฉุนเฉียวง่าย อารมณ์อ่อนไหว ซึมเศร้า ทั้งนี้ ควรศึกษาอาการที่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมรับมืออย่างถูกวิธี โดยทั่วไปแล้ว ภาวะนี้สามารถรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย การงดสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม หากปรับพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

[embed-health-tool-ovulation]

อาการก่อนเป็นประจำเดือน คืออะไร

อาการก่อนเป็นประจำเดือน (Premenstrual syndrome หรือ PMS) คือ กลุ่มอาการผิดปกติด้านร่างกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไข่ตก ก่อนที่ประจำเดือนจะเริ่มต้นประมาณ 1 สัปดาห์ โดยปกติแล้วอาการก่อนเป็นประจำเดือนจะหายไปภายใน 1-2 วันหลังมีประจำเดือน แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงที่เป็นประจำเดือน คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า หรือปัจจัยภายนอก เช่น การไม่ออกกำลังกาย ความเครียดสะสม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่

สัญญาณของ อาการก่อนเป็นประจำเดือน

สัญญาณที่อาจแสดงถึงอาการก่อนเป็นประจำเดือน มีดังนี้

สัญญาณด้านร่างกาย 

  • ปวดศีรษะ
  • สิวขึ้น
  • เจ็บบริเวณเต้านม
  • ปวดข้อ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • หิวบ่อย
  • ท้องอืด
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ปวดหลัง
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย
  • มีภาวะไม่ทนต่อแอลกอฮอล์ (Alcohol intolerance)

สัญญาณด้านอารมณ์และพฤติกรรม 

  • รู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล
  • รู้สึกซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยครั้ง
  • มีปัญหาเรื่องการนอน เช่น นอนไม่หลับ
  • อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย
  • ปลีกตัวออกจากคนอื่น
  • หลงลืมง่าย
  • จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน ๆ ไม่ได้

วิธีรับมืออาการก่อนเป็นประจำเดือน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจช่วยบรรเทาอาการก่อนเป็นประจำเดือน  เช่น

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เลือกออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์ สำหรับการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นปานกลาง เช่น การปั่นจักรยาน การเดินเร็ว ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก หรือเลือกออกกำลังกายอย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์ สำหรับการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูง เช่น ดึงข้อ (Pull-ups) กระโดดตบ กระโดดเชือก
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ทำให้เครียดง่าย
  • นอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีน ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว ส่งผลทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคติน (Nicotine) ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง และอาจทำให้หงุดหงิดง่ายเมื่อไม่ได้สูบบุหรี่

การรักษาทางการแพทย์ที่อาจช่วยบรรเทา อาการก่อนเป็นประจำเดือน ได้ เช่น

  • การบำบัดด้วยการพูดคุย (Talk therapy) กับนักจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการรับมือกับความรู้สึกซึมเศร้าและวิตกกังวลในช่วงที่เกิดอาการก่อนประจำเดือนและช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น
  • การใช้ยาดังตัวอย่างต่อไปนี้ ตามคำแนะนำของคุณหมอและเอกสารประกอบยาอย่างเคร่งครัด
    • ยาแก้ปวด (Painkiller) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาปวด มีวางขายตามร้านขายยาทั่วไป
    • ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เพื่อลดอาการบวมน้ำที่เกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนแปรปรวน
    • ยาระงับภาวะวิตกกังวล (Anti-anxiety medicine) เพื่อคลายความกังวล และทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
    • ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) เพื่อปรับความสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง (Neurotransmitters) ช่วยให้อารมณ์เป็นปกติ

เมื่อไหร่ควรปรึกษาคุณหมอ

หากลองปรับพฤติกรรมหรือกินยาตามอาการแล้ว แต่อาการก่อนเป็นประจำเดือนยังแย่ลงเรื่อย ๆ และเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต เช่น ปวดท้องจนไม่สามารถไปทำงานได้ รู้สึกซึมเศร้าจนไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งอาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการนี้พัฒนาไปเป็นกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder หรือ PMDD) ที่มีความรุนแรงมากกว่าทั้งในด้านอารมณ์และพฤติกรรม เช่น มีอาการแพนิคอย่างรุนแรง มีความรู้สึกซึมเศร้าอย่างหนัก มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น หรือร้ายแรงถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย หากอาการพัฒนาไปเป็นกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนแล้ว จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตและส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premenstrual-syndrome/symptoms-causes/syc-20376780. Accessed March 11, 2022

What Is PMS?. https://www.webmd.com/women/pms/what-is-pms.  Accessed March 11, 2022

Premenstrual syndrome. https://medlineplus.gov/ency/article/001505.htm. Accessed March 11, 2022

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.womenshealth.gov/menstrual-cycle/premenstrual-syndrome. Accessed March 11, 2022

Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD). https://my.clevelandclinic.org/health/articles/9132-premenstrual-dysphoric-disorder-pmdd. Accessed March 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/11/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: ศุภานิช สุริโย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปวดท้องเมน เกิดจากอะไร และรับมือได้อย่างไร

อาการ ก่อน เป็น ประจำเดือน มีอะไรบ้าง บรรเทาอาการอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา