แก้หมัน หมายถึง การทำให้ชายหรือหญิงที่ทำหมันแล้ว กลับมามีลูกได้อีกครั้ง การแก้หมันเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน ทั้งการแก้หมันชายและแก้หมันหญิงอาจมีความเสี่ยงที่ต้องใส่ใจเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพและการแก้หมันให้สำเร็จ
แก้หมันชาย
คือ การผ่าตัดต่อท่อนำอสุจิ ทำให้การลำเลียงอสุจิจากอัณฑะ ซึ่งถูกยับยั้งไว้จากการทำหมันให้กลับมาทำงานได้เป็นปกติ โดยหากแก้หมันสำเร็จ เมื่อร่างกายผลิตอสุจิออกมา อสุจิจะถูกลำเลียงไปยังกระเปาะพักเชื้ออสุจิด้านหลังต่อมลูกหมาก เพื่อรอส่งออกจากลูกอัณฑะเมื่อถึงจุดสุดยอดผ่านไปยังองคชาติแล้วปล่อยน้ำเชื้อเข้าสู่ร่างกายผู้หญิงไปผสมกับไข่ที่รอการผสม และทำให้เกิดการตั้งครรภ์
ขั้นตอนการแก้หมันชาย
เมื่อผู้ชายต้องการแก้หมัน คุณหมอจะทำการตรวจดังนี้
- ความพร้อมของร่างกาย เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายไม่มีความผิดปกติ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
- ความแข็งแรงของอสุจิ จากการตรวจตัวอย่างน้ำอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งหากมีลูกแล้วอาจเป็นข้อบ่งชี้หนึ่งว่าอสุจิอาจมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม อสุจิอาจสุขภาพแย่ลงได้ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ การสูบบุหรี่ อาหารที่รับประทาน
- ความพร้อมของฝ่ายหญิง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาเรื่องความพร้อมในการตั้งครรภ์ ในกรณีฝ่ายหญิงอายุ 40 ปี ขึ้นไป โอกาสตั้งครรภ์จะน้อยลง
ในกรณีคุณหมออนุญาตให้แก้หมัน จะมีขั้นตอนดังนี้
- ดมยาสลบ
- หลังจากนั้น คุณหมอจะกรีดถุงอัณฑะทั้งสองข้างแล้วส่องกล้องจุลทรรศน์สำหรับการผ่าตัดซึ่งมีกำลังขยายประมาณ 25 เท่าเพื่อมองหาท่ออสุจิซึ่งผ่านการทำหมันไว้แล้ว
- คุณหมอจะต่อท่ออสุจิ โดยอาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งจาก 2 วิธี คือ Vasovasostomy ซึ่งเป็นการเย็บเชื่อมท่อนำอสุจิเข้าด้วยกัน และ Vasoepididymostomy ซึ่งเป็นการเย็บต่อท่อนำอสุจิเข้ากับหลอดเก็บตัวอสุจิโดยตรง โดยวิธีหลังจะค่อนข้างซับซ้อนกว่า โดยคุณหมอจะเลือกวิธีที่ 2 เมื่อพบว่าท่อนำอสุจิตันไม่สามารถต่อด้วยวิธีแรกได้ รวมระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดแก้หมันประมาณ 2 ชั่วโมง
การดูแลตัวเองหลังแก้หมันชาย
หลังแก้หมันแล้ว ต้องพักฟื้นประมาณ 1-2 วัน โดยคุณหมอจะนัดตรวจแผลประมาณ 7 วันหลังการผ่าตัด วิธีดูแลตัวเองหลังแก้หมัน สามารถทำได้ดังนี้
- เลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ ในช่วง 1-2 วันแรกหลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันการเน่าเปื่อยของแผลหรืออาจเกิดติดเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาบางอย่างที่ต้องออกแรง เป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ อาทิ การปั่นจักรยาน วิ่งจ๊อกกิ้ง ยกน้ำหนักเพราะกิจกรรมเหล่านั้นอาจทำให้อัณฑะหรือถุงอัณฑะกระทบกระเทือนและแผลอาจปริได้
- สวมกางเกงในสำหรับเล่นกีฬา (Athletic supporter) ให้บ่อยที่สุด เพื่อช่วยประคับประคององอัณฑะหลังผ่าตัด
- เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าคุณหมอจะอนุญาต หรือประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพราะอาจกระทบกระเทือนแผลผ่าตัดและทำให้แก้หมันไม่สำเร็จได้
เมื่อไรจึงทราบว่าแก้หมันชายสำเร็จ
หลังแก้หมันแล้ว คุณหมอจะนัดตรวจจำนวนอสุจิในน้ำอสุจิเป็นระยะ โดยจำนวนอสุจิอาจกลับมาเท่าเดิมภายใน 2-3 เดือนหรือในบางรายอาจใช้เวลามากกว่าครึ่งปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพและปัจจัยต่าง ๆ เช่น อาหาร พันธุกรรม ภาวะสุขภาพ ของแต่ละบุคคล
ความเสี่ยงของการแก้หมันชาย
ในการแก้หมันชายอาจเสี่ยงต่อการแก้หมันไม่สำเร็จรวมทั้งความเสี่ยงต่อสุขภาพ อาจมีภาวะแทรกซ้อนหรืออาการข้างเคียง ดังนี้
ความเสี่ยงในการแก้หมันไม่สำเร็จ
การทำหมันมีโอกาสสำเร็จราว 99 เปอร์เซ็นต์ แต่การแก้หมันมีโอกาสสำเร็จน้อยกว่า ขึ้นกับระยะห่างระหว่างการทำหมันและแก้หมัน ยิ่งแก้หมันเร็วยิ่งมีโอกาสสำเร็จสูง สอดคล้องกับรายงานของหน่วยงาน National Health Service แห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า โอกาสแก้หมันสำเร็จโดยเฉลี่ยของผู้ชายที่แก้หมันภายใน 3 ปี หลังจากทำหมัน คือ 75 เปอร์เซ็นต์ และลดลงเหลือ 55 เปอร์เซ็นต์ หากตัดสินใจแก้หมันภายในปีที่ 8 หลังการทำหมัน
ความเสี่ยงด้านสุขภาพ
หลังการผ่าตัดแก้หมันอาจมีความเสี่ยงต่อร่างกายและภาวะแทรกซ้อนหลายประการ เช่น ภาวะเลือดออกในถุงอัณฑะ การติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ อาการเจ็บปวดบริเวณที่ผ่าตัด
แก้หมันหญิง
คือ การผ่าตัดต่อท่อนำไข่ในผู้หญิงให้กลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติ ซึ่งในการทำหมันหญิง คุณหมอจะทำการตัดและผูกท่อนำไข่เอาไว้ เพื่อป้องกันอสุจิจากฝ่ายชายเข้าไปผสมกับไข่ทำให้เกิดการปฏิสนธิและตั้งครรภ์ได้
ขั้นตอนการแก้หมันหญิง
เมื่อผู้หญิงต้องการแก้หมัน คุณหมอจะพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยในการอนุญาตให้ทำหมันได้ ดังนี้
- อายุ โดยผู้หญิงอายุ 40 ปี ขึ้นไป มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่า คุณหมออาจไม่แนะนำให้แก้หมัน
- ความยาวของท่อนำไข่ในเวลานั้น หากสั้นเกินไปอาจผ่าตัดแก้หมันไม่ได้
- สุขภาพของมดลูก หากสุขภาพของมดลูกหรือรังไข่ไม่ดี เช่น ในกรณีพบเนื้องอกที่มดลูกโอกาสตั้งครรภ์อาจต่ำลง ซึ่งคุณหมอจะไม่แนะนำให้แก้หมัน
- ระยะห่างระหว่างตอนที่ทำหมันกับขอแก้หมัน โดยหากระยะเวลาห่างกันมากหลายปี โอกาสในการแก้หมันสำเร็จจะน้อยลง
- ความพร้อมในการมีบุตรของฝ่ายชาย คุณหมอจะตรวจคุณภาพของน้ำอสุจิของฝ่ายชายร่วมด้วย
ในกรณีคุณหมออนุญาตให้แก้หมัน ในวันผ่าตัด จะมีขั้นตอนดังนี้
- ดมยาสลบ
- หลังจากนั้น คุณหมอจะส่องกล้องเข้าไปในช่องท้อง เพื่อตรวจดูสภาพของท่อนำไข่ และประเมินว่าสามารถต่อหมันได้หรือไม่
- หากต่อได้ คุณหมอจะผ่าบริเวณหัวเหน่าเป็นช่องเล็ก ๆ เพื่อสอดเครื่องมือเข้าไปแก้มัดท่อนำไข่และเย็บท่อต่อกันทีละข้าง
- หลังต่อท่อเรียบร้อยแล้ว คุณหมอจะฉีดสีผ่านท่อนำไข่ เพื่อตรวจสอบว่าท่อรั่วหรือไม่ หากไม่พบปัญหา คุณหมอจะเย็บปิดแผล รวมระยะเวลาในการผ่าตัดแก้หมันประมาณ 2-3 ชั่วโมง
การดูแลตัวเองหลังแก้หมันหญิง
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำ ภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันแผลเปียกและติดเชื้อ แต่หากรู้สึกไม่สบายตัวอาจใช้วิธีเช็ดตัวได้
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการยกของหนัก จนกว่าคุณหมอจะอนุญาต เพื่อป้องกันแผลปริ
- กินยาแก้ปวด หากรู้สึกปวดบริเวณแผลหลังผ่าตัด อาจรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
ความเสี่ยงของการแก้หมันหญิง
ในการแก้หมันอาจมีความเสี่ยงที่จะแก้หมันไม่สำเร็จ รวมทั้งเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนบางประการ ดังนี้
ความเสี่ยงที่จะแก้หมันไม่สำเร็จ
ในผู้หญิงที่แก้หมันแล้ว โอกาสตั้งครรภ์อยู่ที่ 40 ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ และอาจเกิดขึ้นได้ภายในปีแรกหลังจากแก้หมัน โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ประกอบด้วย
- อายุของฝ่ายหญิง ยิ่งอายุมาก ยิ่งตั้งครรภ์ยาก โดยเฉพาะผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ระยะห่างกับการแก้หมัน ยิ่งแก้หมันช้า โอกาสตั้งครรภ์ยิ่งน้อยหากแก้หมันภายใน 5 ปีหลังทำหมัน โอกาสตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 74 เปอร์เซ็นต์ และหากแก้หมันในช่วง 6-10 ปี หลังจากทำหมัน โอกาสในการตั้งครรภ์จะเหลือประมาณ 63 เปอร์เซ็นต์
- สุขภาพของฝ่ายหญิง ทั้งนี้ตรวจต้องร่างกายเพื่อประเมินความแข็งแรงของร่างกายและโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะสุขภาพของมดลูกหรือรังไข่
- สุขภาพของฝ่ายชาย นอกเหนือจากสุขภาพของฝ่ายหญิงแล้ว สุขภาพของฝ่ายชายก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงจำเป็นต้องตรวจร่างกายเช่นกัน โดยเฉพาะการตรวจจำนวนและความแข็งแรงของอสุจิ
ความเสี่ยงด้านสุขภาพ
ผู้หญิงอาจพบความเสี่ยงต่อร่างกายหลังการผ่าตัดแก้หมันหญิง ดังนี้
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การติดเชื้อ
- แผลเป็นบนท่อนำไข่
- การมีเลือดออกภายใน
- อาการแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ