backup og meta

เช็กอาการ! เริมกับHPV 2 โรคนี้ ต่างกันยังไง

เช็กอาการ! เริมกับHPV 2 โรคนี้ ต่างกันยังไง

เริมกับHPV ต่างก็เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถพบได้ทั่วไป ทั้งสองโรคอาจคล้ายคลึงกันเนื่องจากเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อผิวหนังและเกิดขึ้นจากไวรัสด้วยกันทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม การศึกษาความแตกต่างของโรคเริมกับการติดเชื้อ HPV ให้กระจ่างยิ่งขึ้น อาจช่วยให้สามารถรับมือกับทั้งสองโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เริมกับHPV เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

โรคเริม (Herpes) คืออะไร

โรคเริม คือหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้มากที่สุด โรคนี้สามารถพบได้มากถึง 1 ใน 6 คน โรคเริมเป็นการติดเชื้อไวรัส herpes simplex virus โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ herpes simplex virus ชนิดที่ 1 (HSV-1) ที่มักจะเกิดที่บริเวณปาก และชนิดที่ 2 (HSV-2) ที่มักจะเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ โรคเริมนี้สามารถส่งผลกระทบได้ทั้งกับผิวหนังและระบบประสาท โดยเฉพาะอาการแผลเริมที่มีลักษณะเป็นตุ่มใสๆ เล็กๆ

โรคเริมสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน การจูบ หรือการทำออรัลเซ็กส์โดยไม่ผ่านแผ่นยางอนามัย นอกจากนี้โรคเริมยังสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ ขณะที่ทำการคลอดบุตรโดยธรรมชาติ โดยปกติแล้วอาการของโรคเริมมักจะเป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

โรคติดเชื้อเอชพีวี คืออะไร

โรคติดเชื้อเอชพีวี หรือโรคเอชพีวี คือ โรคที่เกิดจากเชื้อฮิวแมนปาปิลโลมาไวรัส หรือเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) ที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ เชื้อไวรัสเอชพีวีมักก่อให้เกิดหูด และสามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสผิวหนัง เป็นต้น เชื้อเอชพีวีแต่ละชนิดอาจส่งผลให้เกิดอาการที่แตกต่างกันออกไป โดยอาการที่รู้จักกันมาที่สุด ก็คือ โรคหูดหงอนไก่ หรือโรคหูดอวัยวะเพศ (Genital warts) นอกจากนี้ การติดเชื้อไวรัสเอชพีวียังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย

ความแตกต่างระหว่าง เริมกับHPV

อาการของโรค อาการของโรคเอชพีวี ที่พบได้มากที่สุด คือ มีหูด แต่บ่อยครั้งที่โรคเอชพีวีจะไม่แสดงอาการใด ๆ ในขณะที่โรคเริมมักทำให้มีตุ่มหนองเล็ก ๆ หรือแผลพุพองในบริเวณที่ติดเชื้อ คือ รอบปากหรืออวัยวะเพศ ในบางครั้งอาจมีอาการคล้ายกับเป็นไข้หวัดร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรค โรคเอชพีวีสามารถตรวจสอบได้ผ่านการตรวจแปปสเมียร์ (Pap test) ซึ่งเป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกวิธีหนึ่ง บางครั้งคุณหมออาจตรวจหาโรคเอชพีวีได้โดยการตรวจชิ้นเนื้อหูด ส่วนโรคเริมมักวินิจฉัยจากการตรวจร่างกายเพื่อดูอาการ หรืออาจนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจเพาะเชื้อไวรัสได้เช่นกัน

การป้องกันโรค ในปัจจุบันอาจยังไมมีวิธีที่สามารถป้องกันโรคเอชพีวีได้ 100% เพราะเชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อกันอย่างง่ายผ่านการสัมผัส แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย เช่น สวมถุงยางอนามัย ใช้แผ่นยางอนามัย และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ รวมไปถึงการฉีดวัคซีน HPV ที่อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนโรคเริม อาจป้องกันได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย หรือแผ่นยางอนามัย ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก และทางปาก

วิธีรักษา เริมกับHPV

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์อาจเสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างโรคเริมกับHPV ได้ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน เช่น ไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางอนามัย โรคนี้สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ แม้ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการใด ๆ การรักษาและป้องกันโรคด้วยวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละโรคจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

โรคเริมกับHPV ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สำหรับโรคเริม คุณหมออาจสั่งจ่ายยาต้านไวรัสเพื่อรักษาอาการของโรคและลดความเสี่ยงที่โรคจะกำเริบ ส่วนการรักษาโรคเอชพีวี คุณหมออาจสั่งจ่ายยารักษาหูด และอาจต้องผ่าตัดเอาหูดออก นอกจากนี้ หากผู้ที่ติดเชื้อเอชพีวีมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก หรือพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก คุณหมอก็จะต้องรักษาเฉพาะทางด้วยวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการและระยะของโรค สุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ติดเชื้อเอชพีวีอาจไม่ต้องได้รับการรักษาเฉพาะ เนื่องจากอาการมักหายไปได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรงหรืออาการที่พบก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบเข้ารับการรักษา

อาการหูดหงอนไก่ที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี โดยปกติมักจะหายไปได้เอง แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการที่มาพร้อมกับหูด เช่น ยาอิมิควิโมด (imiquimod) ยาโพโดฟิลอก (podofilox) ยาไซนีคาเทชิน (sinecatechins) นอกจากนี้ คุณหมออาจให้ผู้ป่วยใช้ยากรดไตรคลอโรอะเซติก (trichloroacetic acid) เพื่อช่วยรักษาอาการหูดหงอนไก่ให้หายได้เร็วยิ่งขึ้น หรือคุณหมออาจต้องผ่าตัดเนื้อหูดออก หากจำเป็น

หากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชพีวีมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกสูง คุณหมออาจเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจะไม่พัฒนาไปเป็นโรคมะเร็ง หรือหากเกิดมะเร็ง จะได้รักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

สำหรับโรคเริมอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาในปัจจุบันจะเน้นไปที่การบรรเทาอาการ ลดความเสี่ยงที่โรคจะกำเริบ และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยคุณหมออาจสั่งจ่ายยายาต้านไวรัส เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (acyclovir) ยาแฟมไซโคลเวียร์ (famciclovir) เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคเริม และช่วยลดความถี่ในการกำเริบของโรคเริม

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pictures and Facts About STDs. https://www.webmd.com/sexual-conditions/ss/slideshow-std-pictures-and-facts. Accessed February7, 2022

What’s the difference between HPV and HIV?. https://www.nhs.uk/common-health-questions/sexual-health/what-is-the-difference-between-hpv-and-hiv/. Accessed February7, 2022

Chapter 37: Herpesviruses, Poxviruses, & Human Papilloma Virus. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2381§ionid=187691460. Accessed February7, 2022

Genital HPV Infection – Fact Sheet. https://www.cdc.gov/std/hpv/stdfact-hpv.htm. Accessed February7, 2022

Genital herpes and HPV: The facts. https://www.cesphn.org.au/news/latest-updates/57-enews/2431-genital-herpes-and-hpv-the-facts. Accessed February7, 2022

Herpes & HPV. http://www.publichealth.lacounty.gov/dhsp/Trainings/herpes_hpv.pdf. Accessed February7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/02/2024

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สัญญาณมะเร็งปากมดลูก สาว ๆ อย่าลืมสังเกตตัวเองก่อนสาย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ วัคซีน HPV ตัวช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก เท่านั้นหรือ?


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 06/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา