พยาธิในช่องคลอด เป็นโรคติดเชื้อพยาธิหรือเชื้อปรสิตชนิดหนึ่ง ส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ เช่น ตกขาว ช่องคลอดมีกลิ่น รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ มักมีสาเหตุจากการมีเพศสัมพันธ์ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอย่างถูกวิธี อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม หากรู้จักสังเกตสัญญาณเตือนพยาธิในช่องคลอด ว่ามีอะไรบ้าง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือช่วยให้เข้ารับการตรวจรักษาได้อย่างทันท่วงที
[embed-health-tool-ovulation]
พยาธิในช่องคลอด คืออะไร
โรคพยาธิในช่องคลอดหรือโรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อพยาธิ (Trichomoniasis) เป็นโรคติดเชื้อพยาธิหรือเชื้อปรสิตชนิดหนึ่ง เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคพยาธิในช่องคลอดที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อโปรโตซัวทริโคโมแนส วาจินาลิส (Trichomonas vaginalis หรือ T. vaginalis) ซึ่งมักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 10-14 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการตกขาวมีสีเขียวหรือเหลือง ช่องคลอดมีกลิ่น รู้สึกคันที่อวัยวะเพศ และรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น การติดเชื้อนี้พบในผู้หญิงมากกว่าเพศชาย และหากเป็นหญิงตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
สัญญาณเตือนพยาธิในช่องคลอด ที่ควรรู้
ผู้ที่เป็นโรคพยาธิในช่องคลอดระยะแรกมักไม่แสดงอาการใด ๆ โดยเฉพาะหากเป็นการติดเชื้อในผู้ชาย การหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนพยาธิในช่องคลอด จึงอาจเป็นวิธีสำคัญที่อาจช่วยให้สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคได้ทันท่วงที
สัญญาณเตือนในผู้หญิง
- ตกขาวเยอะผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น
- ตกขาวมีสีเทาเหลือง หรือเขียว เป็นฟอง
- คันที่อวัยวะเพศ
- แสบรอบ ๆ ปากมดลูก
- รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด
สัญญาณเตือนในผู้ชาย
- มีเมือกใส หรือเมือกปนหนอง
- คันและเจ็บท่อปัสสาวะ
หากมีคู่นอนหลายคน เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคพยาธิในช่องคลอด
วิธีรักษา พยาธิในช่องคลอด
โรคพยาธิในช่องคลอดอาจรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ยาทินิดาโซล (Tinidazole) ทั้งนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาบนเอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำของคุณหมอและเภสัชกรอย่างเคร่งครัด และห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังรับประทานยาเมโทรนิดาโซลในช่วง 24 ชั่วโมงแรก หรือหลังจากรับประทานยาทินิดาโซลในช่วง 72 ชั่วโมงแรก
วิธีลดความเสี่ยงโรค พยาธิในช่องคลอด
วิธีที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคพยาธิในช่องคลอดได้ มีดังนี้
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคพยาธิในช่องคลอด รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อเพศสัมพันธ์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งหรือทุก ๆ 6 เดือน