backup og meta

ครีมรักษาฝ้า ควรมีส่วนผสมอะไรบ้างที่ปลอดภัย

ครีมรักษาฝ้า ควรมีส่วนผสมอะไรบ้างที่ปลอดภัย

ฝ้า เป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะหากผิวสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง กินยาบางชนิด หรือแพ้เครื่องสำอาง ดังนั้น ครีมรักษาฝ้า ที่มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี และช่วยลดหรือชะลอการสร้างเม็ดสีผิว จึงอาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาฝ้า อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาส่วนผสมและปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ครีมรักษาฝ้า เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพผิว

[embed-health-tool-bmi]

ฝ้า เกิดจากอะไร

ฝ้า เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีผิวจนทำให้เกิดจุดด่างดำบนผิวหน้า อาจพบได้บ่อยบริเวณแก้ม คาง หน้าผาก ริมฝีปากบน โดยฝ้าอาจเกิดจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างผิว เช่น พันธุกรรม รังสียูวีในแสงแดด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การกินยาบางชนิดอย่างยาคุมกำเนิดที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การแพ้เครื่องสำอาง

ครีมรักษาฝ้า ควรมีส่วนผสมอะไรบ้าง

ครีมรักษาฝ้ามีส่วนผสมหลายชนิดที่อาจช่วยลดปัญหาฝ้าบนใบหน้าได้ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของฝ้า นอกจากนี้ ในระหว่างการรักษาอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่สามารถก่อให้เกิดฝ้า เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยส่วนผสมที่ควรมองหาในครีมรักษาฝ้า อาจมีดังนี้

  • ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)

เป็นสารที่ช่วยลดและชะลอการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีผิว ช่วยลดความหมองคล้ำและจุดด่างดำ ครีมรักษาฝ้ามักใช้ไฮโดรควิโนนที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ 2-5% โดยควรใช้วันละ 1 ครั้ง ซึ่งอาจเห็นผลได้ชัดหลังจากใช้ประมาณ 5-7 สัปดาห์ และควรใช้ต่อเนื่องประมาณ 3 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อให้เห็นผลการรักษาชัดเจน นอกจากนี้ อาจใช้รักษาร่วมกับส่วนผสมอื่น ๆ เช่น ครีมกันแดด สเตียรอยด์เฉพาะที่ เรตินอยด์ (Retinoid) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) เพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ครีมรักษาฝ้าที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผื่นแดง ระคายเคืองผิวหนัง แสบ ผิวหนังอักเสบ ผื่นแพ้สัมผัส ผิวเปลี่ยนสี ภาวะโลหิตจางชั่วคราว

  • กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid)

เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ถูกนำมาใช้รักษาความผิดปกติเนื่องจากมีเม็ดสีมากเกินไป เช่น ฝ้า โดยกรดอะซีลาอิกอาจช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้เซลล์เม็ดสีผิดปกติ และยังอาจใช้รักษารอยดำหลังจากการอักเสบของสิวได้ ซึ่งครีมรักษาฝ้ามักใช้กรดอะซีลาอิกที่มีความเข้มข้น 20% โดยอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการคัน ผื่นแดงเล็กน้อย แสบร้อน

  • กรดโคจิก (Kojic Acid)

เป็นสารที่ช่วยยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในกระบวนการสร้างเม็ดสี ทั้งยังช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ โดยครีมรักษาฝ้ามักใช้กรดโคจิกที่มีความเข้มข้น 1-4% ซึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือมีผลข้างเคียงน้อยกว่าส่วมผสมอื่น ๆ

  • เรตินอยด์

เป็นส่วนผสมที่นิยมใช้รักษาฝ้าร่วมกับสารไฮโดรควิโนนและสเตียรอยด์ โดยเรตินอยด์มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่เกิดจากรังสียูวี จึงอาจช่วยในการรักษาฝ้าและป้องกันจุดด่างดำที่เกิดขึ้นบนผิวหนังได้ ทั้งนี้ เรตินอยด์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผื่นแดง แสบร้อน ผิวแห้ง ลอกเป็นขุย และยังอาจทำให้ผิวหนังอักเสบ จนทำให้เกิดรอยดำโดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวขาว

  • สเตียรอยด์เฉพาะที่

สเตียรอยด์อาจมีคุณสมบัติช่วยให้ผิวกระจ่างใส และยังอาจช่วยยับยั้งการผลิตเม็ดสีผิวที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดจุดด่างดำ ฝ้า และกระบนผิว อย่างไรก็ตาม อาจไม่แนะนำให้ใช้สเตียรอยด์เพียงตัวเดียวในการรักษาฝ้า เพราะอาจทำให้เกิดผลเสียและผลข้างเคียง เช่น การระคายเคืองผิวหนัง โรคผิวหนังที่มีลักษณะคล้ายกับโรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea) ภาวะที่ผิวบางลงจนเห็นเป็นรอยเส้นเลือดที่ผิวหนัง (Telangiectasia)

  • กรดไกลโคลิก

เป็นสารที่มีคุณสมบัติช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่เสื่อมสภาพ ช่วยลดการสร้างเม็ดสี และอาจช่วยให้ผิวแลดูกระจ่างใสขึ้น ครีมรักษาฝ้ามักใช้กรดไกลโคลิกที่มีความเข้มข้น 5-10% เพื่อผลลัพธ์ที่ดี อย่างไรก็ตาม กรดไกลโคลิกอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองเพียงเล็กน้อยหลังจากการใช้เพียงชั่วคราว ซึ่งการทามอยเจอร์ไรเซอร์อาจช่วยบรรเทาความระคายเคืองที่เกิดขึ้นได้

  • อาร์บูติน (Arbutin)

เป็นสารสกัดจากพืชที่มีคุณสมบัติในการรักษาความผิดปกติของเม็ดสีผิวที่มากเกินไป ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีในชั้นผิวหนัง และยังช่วยต้านสารอนุมูลอิสระที่ทำร้ายผิวอีกด้วย จึงอาจช่วยให้ผิวกระจ่างใสและรักษาฝ้าได้ โดยอาร์บูตินเป็นสารประกอบของไฮโดรควิโนนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จึงอาจปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย

นอกจากนี้ ยังมีสารสกัดจากพืชที่มีการทดลองใหม่และอาจนำมาใช้ในส่วนผสมของครีมรักษาฝ้าในอนาคต ดังนี้

  • N-อะเซทิล-4-S-ซิสเตมีนิลฟีนอล (N-Acetyl-4-S-Cysteaminylphenol) เป็นสารประกอบจากพืชที่อาจช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในการสร้างเม็ดสีผิว และอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองที่น้อยกว่าส่วนผสมไฮโดรควิโนน จึงอาจนำมาใช้รักษาฝ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • อัลฟ่า-โทโคฟีริล เฟอนูเลต (Alpha-Tocopheryl Ferulate) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยดูดซับรังสียูวีที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดฝ้า และยังอาจช่วยชะลอการสร้างเม็ดสีผิวอีกด้วย
  • วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของรังสียูวีในแสงแดด ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดฝ้า และยังอาจมีส่วนช่วยในการลดการสร้างเม็ดสีผิวอีกด้วย
  • ไนอะซินาไมด์ (Niacinamide) เป็นเอนไซม์ที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการสร้างเม็ดสีผิว ซึ่งอาจช่วยลดรอยดำและเพิ่มความสว่างของผิว
  • สารสกัดจากชะเอม (Liquorice Derivatives) เป็นสารสกัดที่อาจช่วยต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาการสร้างเม็ดสีน้ำตาลของผิวหนัง จึงอาจช่วยในการรักษาฝ้าได้ นอกจากนี้ ยังอาจมีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบได้อีกด้วย
  • ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบ ต้านสารอนุมูลอิสระ ต้านไวรัส และป้องกันการเกิดมะเร็ง โดยฟลาโวนอยด์อาจพบได้ในพืชหลายชนิด เช่น ถั่ว ชาเขียว ยูคาลิปตัส ว่านหางจระเข้ สตรอว์เบอร์รี่ ที่อาจมีผลต่อกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง ซึ่งอาจช่วยรักษาปัญหาฝ้าได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

TOPICAL TREATMENT OF MELASMA. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2807702/. Accessed October 10, 2022

Arbutin as a Skin Depigmenting Agent with Antimelanogenic and Antioxidant Properties. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8301119/. Accessed October 10, 2022

Mequinol 2%/tretinoin 0.01% topical solution for the treatment of melasma in men: a case series and review of the literature. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18441773/. Accessed October 10, 2022

Glycolic acid peels in the treatment of melasma among Asian women. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9145959/. Accessed October 10, 2022

Rationale for the use of topical corticosteroids in melasma. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15098972/. Accessed October 10, 2022

The role of topical retinoids in the treatment of pigmentary disorders: an evidence-based review. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19489658/. Accessed October 10, 2022

Treatment of melasma using kojic acid in a gel containing hydroquinone and glycolic acid. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10417583/. Accessed October 10, 2022

Melanin hyperpigmentation of skin: melasma, topical treatment with azelaic acid, and other therapies. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8654129/. Accessed October 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฝ้า เกิดจากอะไร วิธีรักษาและป้องกันฝ้า

หน้าเป็นฝ้า สาเหตุ วิธีรักษาและดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา