backup og meta

ครีมลดรอยแตกลาย ควรเลือกอย่างไร และวิธีลดรอยแตกลายที่ควรรู้

ครีมลดรอยแตกลาย ควรเลือกอย่างไร และวิธีลดรอยแตกลายที่ควรรู้

การใช้ ครีมลดรอยแตกลาย อาจช่วยให้รอยแตกลายบนผิวหนังแลดูจางลงและกลืนไปกับผิวหนังโดยรอบอย่างเป็นธรรมชาติ หากทาครีมลดรอยแตกลายตั้งแต่เริ่มเกิดรอยแตกหรือในช่วงที่รอยยังเป็นสีออกแดงหรือม่วง อาจช่วยให้รอยจางลงได้ดีกว่าปล่อยไว้นานหรือรอยแตกลายเปลี่ยนเป็นสีขาวแล้ว

ทั้งนี้ การเลือกครีมลดรอยแตกลายให้เหมาะสมและทาครีมหลังอาบน้ำติดต่อกันทุกวัน ร่วมกับใช้วิธีลดรอยแตกลายอื่น ๆ เช่น การเลเซอร์ การฉายแสง การทำไมโครนีดดิง (Microneedling) การใช้พลังงานคลื่นวิทยุ (Radio Frequency หรือ RF) อาจช่วยให้รอยแตกลายดูจางลงได้มากขึ้น

[embed-health-tool-bmi]

รอยแตกลาย เกิดจากอะไร

รอยแตกลายบนผิวหนัง หรือที่เรียกว่า ผิวแตกลาย คือ ผิวหนังที่มีลักษณะเป็นเส้นริ้ว บางครั้งอาจเป็นร่องลึกที่สัมผัสแล้วเป็นคลื่นหรือรู้สึกได้ว่าผิวไม่สม่ำเสมอ เกิดจากเนื้อเยื่อผิวหนังชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้คอลลาเจนในชั้นผิวแยกออกจากกันและกลายเป็นรอยแตกลาย มักเกิดขึ้นบริเวณหน้าท้อง หน้าอก หน้าอก ต้นแขน ขา ก้น สะโพก หลัง รอยแตกลายในระยะแรกจะมีสีเข้ม มักออกแดง ชมพู หรือม่วง และทำให้รู้สึกคันเล็กน้อย เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งสีจะจางลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นริ้วสีขาวหรือเทาแบบถาวรคล้ายแผลเป็น

รอยแตกลายที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และส่วนใหญ่ไม่สามารถลบเลือนให้หายสนิทได้ แต่ก็สามารถทำให้ดูจางจนเนียนไปกับผิวหนังปกติได้ด้วยการทาครีมลดรอยแตกลายหรือรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ ทั้งนี้ รอยแตกลายจะดูจางลงมากหรือน้อยอาจขึ้นอยู่กับอายุของรอยแตกลายด้วย โดยทั่วไป รอยแตกลายที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ มีโอกาสจางลงได้มากกว่ารอยแตกลายที่เกิดขึ้นนานแล้ว

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดรอยแตกลาย

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดรอยแตกลาย อาจมีดังนี้

  • อายุ ในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะเจริญเติบโตและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผิวหนังยืดออกเร็วเกินไป จนผลิตคอลลาเจนไม่ทัน และส่งผลให้เกิดรอยแตกลายบนผิวหนัง
  • น้ำหนักตัว หากน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ผิวหนังขยายไม่ทันและเกิดเป็นรอยแตกลายตามตัว โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว ซอกรักแร้ ข้อพับเข่า
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติมีรอยแตกลาย อาจเสี่ยงเกิดรอยแตกลายได้มากกว่าคนทั่วไป
  • การตั้งครรภ์ หน้าท้องของหญิงตั้งครรภ์จะขยายตัวตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น อีกทั้งระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ก็ยังทำให้เส้นใยผิวหนังอ่อนแอลงและเกิดเป็นรอยแตกลายบริเวณหน้าท้องทั้งในขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ทั้งนี้ รอยแตกลายอาจจางลงหลังน้ำหนักลดหลังคลอด
  • การศัลยกรรม เช่น การผ่าตัดเสริมหน้าอก อาจทำให้ผิวหนังบริเวณใกล้เคียงเกิดรอยแตกลายได้
  • สารสเตียรอยด์ การใช้ยาทาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ในปริมาณมาก เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) หรือการเป็นโรคคุชชิง (Cushing’s syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีฮอร์โมนสเตียรอยด์มากเกินไป อาจทำให้เกิดรอยแตกลายถาวรที่รักษาได้ยาก
  • การออกกำลังกาย ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักหรือมีการฝึกร่างกายอย่างต่อเนื่อง อาจมีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดรอยแตกลายบนผิวหนังได้ง่ายกว่าปกติ

ครีมลดรอยแตกลาย มีอะไรบ้าง

การทาครีมที่มีส่วนผสมดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดเลือนรอยแตกลายให้ดูจางลงได้

  • เรตินอยด์ (Retinoid) เช่น เตรติโนอิน (Tretinoin) เป็นอนุพันธ์วิตามินเอ (Vitamin A) ที่ช่วยกระตุ้นการผลิตโปรตีนในชั้นผิวหรือคอลลาเจน อาจช่วยให้รอยแตกดูตื้นขึ้น ดูจางลงและกลืนไปกับผิวโดยรอบ ทั้งนี้ ผู้ที่ผิวแพ้ง่ายควรทดสอบครีมกับผิวบริเวณข้อพับก่อนใช้ เพราะส่วนผสมนี้อาจทำให้ผิวระคายเคือง แห้งลอก ตกสะเก็ดได้ สำหรับคนท้องและหญิงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมเรตินอยด์ เพราะอาจไม่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์และเด็กทารก
  • กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid) อาจช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนและอิลาสติน จึงอาจรักษาความยืดหยุ่นของผิวและอาจช่วยให้รอยแตกลายในระยะแรกดูจางลงได้

การลดรอยแตกลายบนผิวหนังด้วยวิธีอื่น ๆ

วิธีลดรอยแตกลายบนผิวหนังอื่น ๆ อาจมีดังนี้

  • การรักษาด้วยแสงและเลเซอร์ การใช้แสง (Light therapy) และการใช้เลเซอร์อย่างเพาซ์ดายด์ (Pulsed dye laser) แฟรกชันนอล ซีโอทู (Fractional CO2 laser) อาจช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนในชั้นผิว และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิวหนัง ส่งผลให้รอยแตกลายดูจางลงได้ ทั้งนี้ อาจเกิดผลข้างเคียง คือ ผิวไหม้ ผิวคล้ำได้ง่ายขึ้น จึงควรดูแลผิวให้ดี ด้วยการทาครีมกันแดดทุกวัน หลีกเลี่ยงการโดนแดดแรง ๆ เป็นต้น
  • การรักษาด้วยไมโครนีดดิง (Microneedling) เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กจิ้มผิวหนังเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว เมื่อทำหลายครั้ง อาจช่วยให้รอยแตกลายดูจางลงได้ การลดรอยแตกลายด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงในการเกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีผิวน้อยกว่าการทำเลเซอร์ จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีผิวคล้ำ
  • การรักษาด้วยพลังงานคลื่นวิทยุ (Radio Frequency หรือ RF) เป็นการส่งคลื่นไฟฟ้าในรูปแบบคลื่นวิทยุเข้าไปในเนื้อเยื่อผิวหนัง พลังงานจากกระแสไฟฟ้าดังกล่าวจะกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน อาจช่วยลดเลือนรอยแตกลายที่เกิดบนผิวหนังได้

ทั้งนี้ วิธีข้างต้นเป็นวิธีลดรอยแตกลายทางการแพทย์ ควรทำโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีลดรอยแตกลายที่เหมาะสมที่สุด

รอยแตกลายสามารถป้องกันได้หรือไม่

รอยแตกลายเป็นปัญหาผิวที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่โดยทั่วไป สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะผิวหนังขยายตัวอย่างรวดเร็วจากสาเหตุที่พบบ่อย เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้นกะทันหัน ผิวหนังบริเวณหน้าท้องแตกลายขณะตั้งครรภ์ ผิวแตกลายจากการเล่นกล้าม เป็นต้น ได้ดังนี้

  • ควบคุมค่าดัชนีมวลกาย (BMI) หรือความสมดุลของน้ำหนักและส่วนสูง ให้เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการควบคุมอาหารแบบผิดวิธีหรือรับประทานยาลดน้ำหนัก เพราะอาจทำให้เกิดภาวะโยโย่หรือภาวะที่น้ำหนักตัวขึ้น ๆ ลง ๆ ผิดปกติ จนส่งผลให้ผิวหนังขยายและหดตัวอย่างรวดเร็วจนเกิดรอยแตกลายได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพผิว เช่น วิตามินเอ วิตามินซี สังกะสี คอลลาเจน อิลาสติน
  • ดื่มน้ำและของเหลวให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่พอเหมาะ และควรออกกำลังกายเบา ๆ อยู่เสมอ เพื่อช่วยให้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และอาจช่วยให้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องไม่ขยายตัวเร็วเกินไปจนเกิดรอยแตกลาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Stretch Marks. https://www.webmd.com/beauty/what-are-stretch-marks. Accessed October 7, 2022

STRETCH MARKS: WHY THEY APPEAR AND HOW TO GET RID OF THEM. https://www.aad.org/public/cosmetic/scars-stretch-marks/stretch-marks-why-appear. Accessed October 7, 2022

Stretch marks. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/stretch-marks/diagnosis-treatment/drc-20351144. Accessed October 7, 2022

Stretch marks. https://www.nhs.uk/conditions/stretch-marks/. Accessed October 7, 2022

Stretch Marks. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/10785-stretch-marks. Accessed October 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

รอยแตกลาย สาเหตุและการรักษา

เลเซอร์รอยแตกลาย ข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวัง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา