backup og meta

ห้อเลือด ส่งผลต่อสุขภาพผิวอย่างไร

ห้อเลือด ส่งผลต่อสุขภาพผิวอย่างไร

ห้อเลือด เกิดจากการสะสมของเลือดภายนอกหลอดเลือด โดยมีสาเหตุมาจากการที่ผนังหลอดเลือดหรือหลอดเลือดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ รวมถึงเส้นเลือดฝอย ได้รับความเสียหายจากการกระแทกหรืออุบัติเหตุ เช่น หกล้ม รถชน การผ่าตัด ส่งผลให้เลือดออกบริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน สีดำ สีแดง เกิดการอักเสบ บวมแดง และเจ็บปวด นอกจากนี้ ห้อเลือดยังอาจบ่งบอกถึงภาวะที่ร้ายแรง เช่น เลือดคั่งในสมอง เลือดออกในช่องท้อง เลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งอาจส่งผลให้ช็อกหรือเสียชีวิตได้

[embed-health-tool-bmr]

ห้อเลือด คืออะไร

ห้อเลือด คือ อาการเลือดออกภายนอกหลอดเลือด เนื่องจากผนังหลอดเลือดหรือหลอดเลือดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ รวมถึงเส้นเลือดฝอยได้รับความเสียหาย ส่งผลให้เลือดออกบริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ โดยเลือดที่ไหลออกมาจะจับตัวกัน ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อบริเวณใต้ผิวหนัง มีลักษณะแน่นและนุ่ม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของอวัยวะทั้งภายในและภายนอกที่ได้รับการบาดเจ็บ เช่น ใต้ผิวหนัง บนศีรษะ จมูก หู ใต้เล็บ หากเม็ดเลือดก่อตัวใกล้ผิวหนังอาการห้อเลือดจะปรากฏเป็นก้อนสีแดง สีดำหรือสีน้ำเงินร่วมกับอาการเจ็บปวด เมื่อเวลาผ่านไปผิวหนังจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง น้ำตาลและกลับเป็นปกติ

ห้อเลือดอาจมีความแตกต่างจากรอยฟกช้ำ โดยห้อเลือดจะเกิดจากเลือดรั่วไหลออกจากหลอดเลือดและเกิดลึกเข้าไปในร่างกายจนอาจมองไม่เห็นความเสียหาย แต่รอยช้ำจะสามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนกว่าและหายได้เองง่ายกว่า ยิ่งอาการห้อเลือดมีขนาดใหญ่และเกิดลึกเข้าไปในร่างกาย เช่น เลือดคั่งในสมอง ห้อเลือดในตับ เลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง เลือดออกในช่องท้อง อาจทำให้ความดันโลหิตลดลง จนถึงขั้นช็อกหรือเสียชีวิตได้

ห้อเลือดมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

ประเภทของห้อเลือดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ปรากฏในร่างกาย ซึ่งอาจบอกถึงความอันตรายของอาการได้ ดังนี้

  • ห้อเลือดที่หู เกิดขึ้นระหว่างกระดูกอ่อนของหูกับผิวหนัง พบบ่อยในนักมวยปล้ำ นักมวย และนักกีฬาที่ศีรษะถูกกระแทกเป็นประจำ
  • ห้อเลือดที่เล็บ เป็นอาการบาดเจ็บเล็กน้อยจากการถูกกระแทกที่เล็บ เช่น ถูกค้อนทุบนิ้วโดยไม่ได้ตั้งใจ ประตูหนีบ
  • ห้อเลือดที่หนังศีรษะ เกิดจากการกระแทกที่ศีรษะจนเกิดความเสียหายบริเวณผิวหนังและกล้ามเนื้อภายนอกที่ไม่ส่งผลต่อสมอง
  • ห้อเลือดที่ผนังกั้นช่องจมูก เกิดจากการจมูกหัก ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาทางจมูก เช่น จมูกเบี้ยว หากไม่ได้รับการรักษา
  • ห้อเลือดใต้ผิวหนัง เป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงใต้ผิวหนัง เนื่องจากความเสียหายของเส้นเลือดตื้นใกล้กับผิวหนัง
  • ก้อนเลือดในท้องด้านหลัง เกิดขึ้นภายในช่องท้องแต่ไม่อยู่ในอวัยวะใด ๆ
  • ห้อเลือดในม้าม จะเกิดความเสียหายในม้าม
  • ห้อเลือดในตับ เกิดความเสียหายและมีอาการเลือดออกในตับ
  • ห้อเลือดในไขสันหลัง เกิดขึ้นบริเวณระหว่างเยื่อบุไขสันหลังและกระดูกสันหลัง
  • ห้อเลือดในกะโหลก เกิดขึ้นระหว่างแผ่นกะโหลกศีรษะกับเยื่อบุด้านนอกของสมอง
  • เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง เกิดขึ้นระหว่างเนื้อเยื่อสมองกับเยื่อบุภายในของสมอง

ห้อเลือด เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

ห้อเลือดเกิดได้จากหลายสาเหตุเมื่อร่างกายถูกกระแทกหรือการกระทบกระเทือนจนทำให้หลอดเลือดเสียหาย เช่น การหกล้ม อุบัติเหตุทางรถยนต์ การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การผ่าตัด กระดูกแตกหัก การศัลยกรรม นอกจากนี้ อาจมีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดห้อเลือดและส่งผลเสียต่อสุขภาพผิว ดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น อาจเกี่ยวข้องกับการทรงตัว ความแข็งแรงของร่างกายและผิว ที่อาจเสี่ยงหกล้มและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และผิวบอบบางลง หากมีการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อยอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเกิดห้อเลือดได้
  • การขาดวิตามินเคหรือวิตามินซี เนื่องจากวิตามินเคและวิตามินซีเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อผิวในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับผิว ช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์คอลลาเจนและเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการแข็งตัวของเลือดและสมานแผล ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ห้อเลือดและรอยฟกช้ำได้อีกด้วย
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคตับ การติดเชื้อไวรัสขั้นรุนแรง มะเร็งเม็ดเลือดขาว อาจส่งผลให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอลง รวมทั้งสุขภาพผิวไม่แข็งแรง บอบบาง แห้งแตก เกิดรอยฟกช้ำหรือห้อเลือดได้ง่าย
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาเฮปาริน (Heparin) วาร์ฟาริน (Warfarin) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดและอาจทำให้หลอดเลือดบางลง ส่งผลให้ห้อเลือดสมานตัวช้าหรือหลอดเลือดเสียหายจากการกระทบกระเทือนได้ง่าย และอาจทำให้ผิวแห้ง ขาดน้ำหรืออ่อนแอลงได้เช่นกัน

อาการห้อเลือดที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือเกิดบาดแผลทั้งภายนอกและภายใน โดยอาจส่งผลให้ผิวมีอาการเหล่านี้

  • ผิวเปลี่ยนสีเป็นสีม่วง สีน้ำเงิน สีดำ หรือสีแดง
  • เกิดอาการอักเสบ บวมแดง
  • เจ็บปวดและไวต่อการสัมผัส
  • ผิวบริเวณที่เป็นห้อเลือดอาจมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณอื่น

วิธีดูแลผิวเมื่อเป็นห้อเลือด

ในบางกรณีหากอาการห้อเลือดไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะเมื่อเวลาผ่านไปร่างกายอาจค่อย ๆ สมานแผลด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม การดูแลอาการห้อเลือดที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนังอาจทำได้ ดังนี้

  • หยุดพักการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงในบริเวณที่มีอาการห้อเลือด เช่น การวิ่ง การออกแรงยกของ
  • ยกแขนหรือเท้าที่มีห้อเลือดขึ้นเหนือระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวม
  • ประคบเย็นโดยใช้ผ้าขนหนูนุ่มห่อน้ำแข็งและประคบในบริเวณที่มีอาการห้อเลือด เพื่อลดอาการปวดและบวม เป็นเวลา 10-15 นาทีวันละหลาย ๆ ครั้ง
  • พันผ้าก๊อซหรือใส่เฝือกเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนซ้ำบริเวณที่เป็นห้อเลือดและลดอาการบวม
  • รับประทานยาตามคุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพริน เนื่องจากยาอาจเพิ่มการไหลเวียนของเลือดทำให้อาการห้อเลือดหายช้าลง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bruises. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/bruises-article. Accessed July 19, 2022.

Bruises. https://medlineplus.gov/bruises.html. Accessed July 19, 2022.

Bruises and Blood Spots Under the Skin. https://www.mottchildren.org/health-library/bruse. Accessed March 11, 2022

Chronic Expanding Hematoma in the Extremities: A Clinical Problem of Adhesion to the Surrounding Tissues. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC5469981/. Accessed March 11, 2022

Vitamin C. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=19&contentid=vitaminc . Accessed March 11, 2022

The Roles of Vitamin C in Skin Health. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC5579659/. Accessed March 11, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/07/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

โลชั่นทาผิว เลือกอย่างไรให้เหมาะกับสภาพผิว

ผิวแข็งแรง เป็นอย่างไร และ 5 เคล็ดลับในการดูแลผิว


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา