backup og meta

หน้าเป็นหลุม สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

หน้าเป็นหลุม สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

หน้าเป็นหลุม เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นหลังจากสิวอักเสบหายไป เนื่องจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลายลึกลงไปและเป็นบริเวณกว้างจนคอลลาเจนใต้ชั้นผิวหนังอาจไม่สามารถฟื้นฟูได้ทัน และเกิดเป็นหลุมสิวขึ้น ส่งผลให้ผิวหน้าหยาบกระด้าง ไม่เรียบเนียน ดังนั้น การป้องกันปัญหาสิวและการรักษาหลุมสิวอย่างถูกวิธีจึงอาจช่วยปรับปรุงสุขภาพผิวให้ดีขึ้นได้

สาเหตุของหน้าเป็นหลุม

หน้าเป็นหลุม มักมีสาเหตุมาจากการอักเสบของสิวที่เกิดขึ้นลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนัง ส่งผลให้เนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนังสลายหายไปจนกลายเป็นหลุมลึก เมื่อสิวหายจากการอักเสบหากหลุมลึกใต้ชั้นผิวหนังมีขนาดเล็ก คอลลาเจนที่เป็นโครงสร้างเนื้อเยื่อผิวหนังจะค่อย ๆ สร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาแทนที่เนื้อเยื่อที่หายไป แต่ในบางกรณีที่หลุมลึกมีขนาดใหญ่หรือเนื้อเยื่อรอบข้างอักเสบมาก และถูกทำลายอย่างรุนแรงจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ทันก็อาจส่งผลให้เกิดเป็นหลุมสิวลึกและมีขนาดใหญ่ได้ สำหรับปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดหลุมสิว อาจมีดังนี้

  • สิวอักเสบ มีอาการบวม แดงและเจ็บปวด สิวประเภทนี้มักอักเสบลึกลงไปในผิวหนังและทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังมาก
  • การไม่รักษาสิวอักเสบ การปล่อยให้สิวอักเสบคงอยู่เป็นเวลานานอาจยิ่งเพิ่มการทำลายเซลล์เนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนังมากขึ้น
  • การกดหรือบีบสิว อาจเพิ่มการอักเสบให้กับสิวและผิวหนังมากขึ้น

การรักษาหน้าเป็นหลุม

การรักษาหลุมสิวของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะผิว ความรุนแรงของหลุมสิวและประเภทของแผลเป็นจากสิว ซึ่งวิธีที่ใช้รักษาหลุมสิวได้ อาจมีดังนี้

  • การฉีดฟิลเลอร์ เป็นการฉีดสารเติมเต็มลงไปใต้ชั้นผิวหนัง เพื่อช่วยให้ผิวหนังเต่งตึงและช่วยเติมเต็มบริเวณที่เป็นหลุม ซึ่งช่วยให้รอยแผลเป็นและหลุมสิวดูจางลง แต่ผลลัพธ์ของการฉีดฟิลเลอร์อาจคงอยู่เพียงชั่วคราว จึงจำเป็นต้องทำการรักษาซ้ำเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง
  • การฉีดสเตียรอยด์ เป็นการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในแผลเป็นนูน ซึ่งอาจช่วยปรับปรุงลักษณะของหลุมสิว และอาจทำให้รอยนูนดูจางลง
  • การผลัดผิวด้วยเลเซอร์ เป็นการยิงเลเซอร์ลงบนผิวหนังที่เป็นแผลเป็นหรือหลุม เพื่อผลัดเซลล์ผิวเก่าและให้ผิวใหม่พัฒนาขึ้นมาแทนที่ ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงในผู้ที่มีสีผิวคล้ำหรือเคยมีประวัติเป็นคีลอยด์
  • การขัดผิวเพื่อกำจัดแผลเป็น (Dermabrasion) เป็นการรักษาที่มักใช้สำหรับรอยแผลเป็นที่รุนแรงมาก โดยคุณหมอจะเอาผิวหนังชั้นบนออกด้วยการขัดด้วยแปรงหมุนเร็ว ทำให้หลุมสิวแลดูจางลง แต่อาจมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เช่น รอยแผลเป็นใหม่ สีผิวเปลี่ยนแปลง
  • การลอกหน้าผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peel) คุณหมอจะใช้สารเคมีเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อแผลเป็นชั้นบนสุดของผิวหนังเพื่อลดรอยหลุมสิว อาจมีผลข้างเคียง เช่น สีผิวเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกับผู้ที่มีสีผิวคล้ำ
  • ลูกกลิ้งนวดหน้า (Skin Needling) เป็นอุปกรณ์คล้ายลูกกลิ้งที่มีเข็มขนาดเล็ก โดยคุณหมอจะกลิ้งลูกกลิ้งไปบนผิวเพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการรักษาหลุมสิว
  • การผ่าตัด คุณหมอจะทำการผ่าตัดขนาดเล็กบริเวณหลุมสิวแต่ละส่วนบนผิวหนัง และซ่อมแซมบาดแผลด้วยการเย็บแผลหรือการปลูกถ่ายผิวหนังใหม่
  • การฉีดโบท็อกซ์ หากบริเวณหลุมสิวมีรอยย่น คุณหมออาจแนะนำให้ฉีดโบท็อกซ์ เพื่อกระตุ้นให้ผิวกระชับซึ่งอาจช่วยให้หลุมสิวดูจางลง แต่ผลลัพธ์ของการฉีดโบท็อกซ์อาจคงอยู่เพียงชั่วคราว จึงจำเป็นต้องทำการรักษาซ้ำเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง

การป้องกันหน้าเป็นหลุม

วิธีป้องกันและการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้หน้าเป็นหลุมสิว อาจทำได้ดังนี้

  • หน้าเป็นหลุมส่วนใหญ่อาจเกิดจากสิวอักเสบ จึงควรป้องกันสภาพผิวไม่ให้เป็นสิวอักเสบ หรือหากเกิดสิวอักเสบขึ้นควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรรักษาทันที
  • หลีกเลี่ยงการแกะสิว บีบสิวเอง
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว ส่งผลให้ผิวฟื้นตัวช้าหลังจากสิวหายและอาจก่อให้เกิดหลุมสิวในที่สุด
  • ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน เพื่อช่วยเพิ่มคอลลาเจนให้ชั้นผิวหนังในการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและช่วยให้ผิวแข็งแรง
  • นวดหน้าเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณใบหน้า ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของผิวหนัง
  • การรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจน เพื่อบำรุงและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่สำคัญต่อการฟื้นฟูและบำรุงผิวใหม่จากภายในสู่ภายนอก

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Effective Treatments of Atrophic Acne Scars. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4445894/. Accessed June 13, 2022

Atrophic Acne Scarring. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4295858/. Accessed June 13, 2022

ACNE SCARS: WHO GETS AND CAUSES. https://www.aad.org/public/diseases/acne/derm-treat/scars/causes. Accessed June 13, 2022

Complications-Acne. https://www.nhs.uk/conditions/acne/complications/. Accessed June 13, 2022

Acne scars: What’s the best treatment?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/expert-answers/acne-scars/faq-20058101. Accessed June 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/07/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีรักษาสิวอักเสบ สามารถทำได้อย่างไรบ้าง

สิวผดเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา