backup og meta

สิวไม่มีหัว เป็นไต เกิดจากอะไร ควรรักษาอย่างไร

สิวไม่มีหัว เป็นไต เกิดจากอะไร ควรรักษาอย่างไร

สิวไม่มีหัว เป็นไต เป็นสิวอุดตันชนิดรุนแรงที่เกิดขึ้นใต้ชั้นผิวหนัง ไม่มีหัวหนอง และมีลักษณะเป็นตุ่มนูน เป็นก้อนแข็ง อาจอักเสบ บวมแดงและเจ็บปวด ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ ดังนั้น จึงควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อทำการรักษาด้วยยารักษาสิวที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและผลัดเซลล์ผิว เพราะหากทิ้งไว้อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้

[embed-health-tool-bmr]

สิวไม่มีหัว เป็นไต เกิดจากอะไร

สิวไม่มีหัว เป็นไต คือ สิวอุดตันชนิดหนึ่งที่มีการอักเสบแต่ไม่สามารถกำจัดหัวสิวออกมาเองได้ เกิดจากการอุดตันของน้ำมัน ขน สิ่งสกปรก เซลล์ผิวหนังและเชื้อแบคทีเรียในรูขุมขน ร่วมกับการติดเชื้อคิวติแบคทีเรียมแอคเน่ (Cutibacterium Acnes หรือ P.Acnes) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบและความเจ็บปวด

นอกจากนี้ สิวไม่มีหัวเป็นไตยังสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

  • พันธุกรรม ยีนสามารถสืบทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ ซึ่งหากคนในครอบครัวเป็นสิวง่าย ก็มีแนวโน้มที่คนอื่น ๆ ในครอบครัวจะเป็นสิวง่ายได้เช่นกัน
  • ฮอร์โมน สิวไม่มีหัวเป็นไตมักเกิดขึ้นในวัยรุ่น ช่วงมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการผลิตน้ำมันใต้ผิวหนังมากจนเกิดการอุดตันขึ้น
  • การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของน้ำมันที่ทำให้รู้ขุมขนอุดตัน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ น้ำหอม ยังอาจทำให้เกิดความระคายเคืองและอาการแพ้ได้
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น อีทาเนอร์เซ็บต์ (Etanercept) อิมาทินิบ (Imatinib) อนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic Steroids) คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)  มีผลข้างเคียงทำให้สิวเห่อตามตัวได้ 
  • ความเครียด สามารถเพิ่มระดับของฮอร์โมนความเครียดที่อาจทำให้ร่างกายผลิตน้ำมันมากขึ้น

อาการของสิวไม่มีหัว เป็นไต

สิวไม่มีหัวเป็นไตสามารถเกิดขึ้นได้หลายเม็ดพร้อมกัน และอาจเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณของร่างกาย เช่น ใบหน้า หลัง หน้าอก โดยอาจมีอาการ ดังนี้

  • สิวเป็นก้อนแข็งใต้ผิวหนัง
  • อักเสบ เจ็บปวดมาก และไวต่อความรู้สึกเมื่อสัมผัส
  • ก้อนนูนอาจมีลักษณะบวมแดง หรือเป็นสีเดียวกับผิว

หากพบสัญญาณอาการของสิวไม่มีหัวเป็นไต ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา เนื่องจากไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแต้มสิวทั่วไป และหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเสี่ยงทำให้เกิดรอยแผลเป็นรุนแรงที่อาจรักษาให้หายได้ยาก

การรักษาสิวไม่มีหัว เป็นไต

การรักษาสิวไม่มีหัวเป็นไตจำเป็นต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา โดยคุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษา ดังนี้

  • ยารักษาเฉพาะที่ เช่น เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เรตินอยด์ (Retiniod) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งเป็นยาที่ต้องได้รับการสั่งจ่ายโดยคุณหมอเท่านั้น เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขจัดสิวใต้ผิวหนัง และผลัดเซลล์ผิว
  • ยารับประทาน เช่น ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) สำหรับรักษาสิวรุนแรง ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาอย่างน้อย 5 เดือน นอกจากนี้ ยังมียาชนิดอื่น ๆ เช่น สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ที่อาจช่วยป้องกันหรือชะลอการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิว รวมทั้ง เตตราไซคลีน (Tetracycline) ยาคุมกำเนิด ที่ช่วยขจัดสิวใต้ผิวหนังและลดการอักเสบ
  • การฉีดคอร์ติโซน (Cortisone) ซึ่งอาจช่วยลดขนาดก้อนสิวที่เป็นไตใต้ผิวหนัง ที่มีขนาดใหญ่มาก เจ็บปวด หรือเป็นก้อนแข็ง
  • ไปพบคุณหมอผิวหนัง เพื่อทำการเจาะระบายหัวสิว ในบางเคสที่สามารถทำได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Nodulocystic acne. https://dermnetnz.org/topics/nodulocystic-acne. Accessed November 24, 2022

Cystic Acne. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21737-cystic-acne. Accessed November 24, 2022

Nodular Acne. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22888-nodular-acne#:~:text=Nodular%20acne%20is%20a%20type,this%20type%20of%20acne%20yourself. Accessed November 24, 2022

Therapeutic considerations for severe nodular acne. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21062102/. Accessed November 24, 2022

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/diagnosis-treatment/drc-20368048. Accessed November 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

สิวใต้ผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

สิวเกิดจากอะไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 03/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา