เลเซอร์หลุมสิว คือการรักษาแผลเป็นบนใบหน้าเนื่องจากสิว โดยการใช้เลเซอร์กระตุ้นให้เซลล์ผิวชั้นหนังแท้ซ่อมแซมตัวเองด้วยการผลิตคอลลาเจนขึ้นมาทดแทนเซลล์ผิวที่เสียหาย เพื่อให้ใบหน้ากลับมาเรียบเนียน ไม่เป็นหลุม อย่างไรก็ตาม การเลเซอร์หลุมสิวต้องใช้เวลาเพื่อให้ได้ผล และอาจมีผลข้างเคียงที่ควรระวังด้วย
หลุมสิว คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
หลุมสิว คือ แผลเป็นจากสิวรูปแบบหนึ่ง ลักษณะเป็นรอยบุ๋ม ผิวหนังยุบตัวลงไป และส่วนใหญ่มักเกิดบนใบหน้า แม้ไม่เป็นอันตรายต่อผิว แต่อาจทำให้ผิวไม่เรียบเนียน จนทำให้ขาดความมั่นใจได้
โดยปกติแล้ว หากผิวเกิดการอักเสบและเป็นแผล ร่างกายจะซ่อมแซมส่วนที่เสียหายเอง โดยสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นมา แต่หากมีผังผืดยึดติดเนื้อเยื่อชั้นล่างและคอลลาเจนไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ก็จะทำให้เกิดเป็นหลุมสิวขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยการเกิดหลุมสิวอาจเกิดจากการบีบสิว การกดสิว ชนิดของสิว และการอักเสบของสิว
ในปัจจุบัน การรักษาหลุมสิวสามารถทำได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการเลเซอร์หลุมสิว โดยเหมาะกับหลุมสิวที่มีลักษณะตื้น โค้ง คล้ายแอ่งกระทะ มีขนาดของปากหลุมและก้นหลุมที่กว้างเท่า ๆ กัน
เลเซอร์หลุมสิว คืออะไร
เลเซอร์หลุมสิว คือการรักษาแผลเป็นจากสิวซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมบนใบหน้าโดยใช้ความร้อนของแสงเลเซอร์ความเข้มข้นสูง หรือ Ablative Laser เข้าไปกำจัดเซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้าของใบหน้าส่วนที่เป็นหลุมสิว และกระตุ้นให้เซลล์ผิวชั้นหนังแท้สร้างคอลลาเจนขึ้นมาซ่อมแซมและเติมเต็มส่วนที่เป็นหลุมสิว ทำให้ผิวกลับมาเรียบเนียน จำเป็นต้องทำซ้ำทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ และรักษาประมาณ 5-6 ครั้งติดต่อกันเพื่อให้ได้ผล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและสภาพหลุมสิวของแต่ละคน
ขั้นตอนการทำเลเซอร์หลุมสิว
คุณหมอจะใช้ผ้าหรือแว่นกันแสงปิดตาคนไข้ ทายาชาทั่วใบหน้าก่อนทำเลเซอร์หลุมสิว และใช้เลเซอร์ยิงตามจุดที่ต้องการรักษา โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30-45 นาที หรืออาจนานกว่านั้นหากมีหลุมสิวจำนวนมาก
เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใบหน้าอาจบวมแดงเล็กน้อย คุณหมอจะทาขี้ผึ้งให้คนไข้เพื่อช่วยถนอมผิวและอาจใช้ผ้าพันแผลปิดแผลไว้ เพื่อป้องกันใบหน้าโดนแสง ก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน
บุคคลต่อไปนี้อาจไม่สามารถเข้ารับการรักษาหลุมสิวด้วยเลเซอร์ เนื่องจากมีโอกาสพบผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง
- ผู้ที่มีผิวสีเข้ม
- ผู้ที่ผ่านการฉายแสงเพื่อรักษาโรค เช่น มะเร็งผิวหนังบริเวณใบหน้ามาก่อน
- ผู้ที่มีแผลบริเวณใบหน้า เพราะอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
ทั้งนี้ บุคคลเหล่านี้ อาจปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการรักษาหลุมสิวด้วยวิธีอื่น
ผลข้างเคียงจากการทำเลเซอร์หลุมสิว
หลังจากทำเลเซอร์หลุมสิว ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอาจมีดังนี้
- รอยแดงบนใบหน้า ที่จะค่อย ๆ หายไปเองในภายหลัง โดยอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรืออาจเป็นเดือน
- อาการคันใบหน้า อาจรู้สึกคันยิบ ๆ เป็นเวลา 12-72 ชั่วโมง หลังจากการรักษาหลุมสิวด้วยเลเซอร์ เนื่องจากผิวหน้าเกิดการระคายเคือง
- ใบหน้าบวมหรือปวด โดยคุณหมอจะให้ยาแก้อักเสบไปรับประทานที่บ้าน และอาจหาน้ำแข็งมาหุ้มด้วยผ้าแล้วประคบหน้าเพื่อช่วยให้อาการทุเลาลงได้
- สิวขึ้นบริเวณใบหน้า เนื่องจากการปิดแผลบริเวณที่รักษาหลุมสิวด้วยผ้าพันแผลเป็นเวลานาน
- การติดเชื้อ จากไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา โดยกรณีที่พบบ่อย คือการติดเชื้อไวรัสเอชเอสวี (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ซึ่งทำให้เกิดโรคเริมได้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติคุณหมอจะให้คนไข้ที่เคยเป็นโรคเริมรับประทานยาต้านเชื้อก่อนการรักษา และจ่ายยาให้กลับมารับประทานที่บ้านด้วย เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อหลังเลเซอร์หลุมสิว
- การเปลี่ยนแปลงของสีผิวบริเวณที่ถูกเลเซอร์ ซึ่งอาจทำให้สีผิวเข้มหรืออ่อนกว่าสีผิวปกติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสีผิวอาจหายได้เองภายหลัง หรือเกิดขึ้นอย่างถาวร โดยผู้ที่มีผิวสีเข้มมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงประเภทนี้มากกว่าบุคคลผิวสีอ่อน
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น แผลหายช้า ในรายที่ใช้ยารักษาสิวซึ่งมีส่วนผสมของไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin) ทั้งนี้ ก่อนทำเลเซอร์หลุมสิว ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับผลข้างเคียงซึ่งอาจเกิดจากยาที่กำลังใช้อยู่หรือเคยใช้ ว่าส่งผลต่อการทำเลเซอร์หรือไม่อย่างไร
การดูแลตัวเองหลังเลเซอร์หลุมสิว
หลังจากเข้ารับการทำเลเซอร์หลุมสิวแล้ว ควรดูแลตัวเองดังนี้
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด เพื่อปกป้องผิวหน้าถูกทำลายจากแสงแดดหากต้องออกไปกลางแจ้งควรทาครีมกันแดดมีระดับการปกป้องแสงยูวี SPF 30 ขึ้นไป และควรกางร่มหรือใส่หมวกเมื่อจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ใบหน้าเสี่ยงติดเชื้อ เช่น การว่ายน้ำ ในช่วงระหว่างที่ยังทำเลเซอร์หลุมสิวต่อเนื่อง และอาจทำกิจกรรมเหล่านี้ได้เมื่อทำเลเซอร์ครบจำนวนครั้งตามที่คุณหมอแนะนำ และใบหน้าไม่มีร่องรอยบวมแดงหรือแสบคัน
- รับประทานยาตามที่คุณหมอแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ รวมทั้งทำความสะอาดใบหน้า และดูแลแผลตามคำแนะนำของคุณหมอ