การติดเชื้อที่ผิวหนัง มักเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังแตก มีบาดแผล ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย และระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้เชื้อโรคอย่างไวรัส หรือแบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังได้ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือโรคต่าง ๆ เช่น กลาก โรคน้ำกัดเท้า หากรู้จักป้องกันและดูแลตัวเองอาจช่วยให้สามารถจัดการกับการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ดีขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
การติดเชื้อที่ผิวหนัง
ผิวหนัง เป็นด่านแรกในการปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค ชั้นแรกคือ หนังกำพร้า ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต และเชื้อรา ชั้นที่สองคือ ชั้นหนังแท้ มีหน้าที่ช่วยพยุงผิว ให้สารอาหารผิวและทำให้ผิวแข็งแรง ชั้นที่สามคือ ชั้นใต้ผิวหนัง เป็นชั้นไขมันช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ และกักเก็บพลังงาน
การติดเชื้อที่ผิวหนัง มักเกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต เข้าสู่ผิวหนังทั้งทางรูขุมขมหรือผ่านบาดแผลบนผิวหนัง เช่น ผิวหนังแตก การเจาะ การผ่าตัด แมลงกัดต่อย และหากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็อาจทำให้เกิด การติดเชื้อที่ผิวหนัง รุนแรงขึ้นได้
ประเภทและสาเหตุ
ประเภทและสาเหตุ การติดเชื้อที่ผิวหนัง
ประเภทการติดเชื้อที่ผิวหนังแบ่งเป็น แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ดังนี้
1. การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
การติดเชื้อแบคทีเรียเกิดจาก แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลบนผิวหนัง และความเสี่ยงมักเพิ่มขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ประเภทของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง มีดังนี้
- โรคเรื้อน ทำให้เกิดแผลบนผิวหนังและทำลายเส้นประสาท สามารถติดต่อได้เมื่อสัมผัสกับละอองน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ที่เป็นโรคเรื้อน อาการหลักของโรคเรื้อน ได้แก่
- เกิดแผลและชาที่ผิวหนัง
- มีก้อนเนื้อ
- มีตุ่ม
- ฝีฝักบัว (Carbuncle) ส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรีย Staphylococcus aureus มักเกิดการติดเชื้อในรูขุมขน สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสผิวหนัง หรือของใช้ส่วนตัว อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- มีตุ่มสีแดง มีหนอง
- รู้สึกเจ็บปวด
- มีไข้
- เหนื่อยล้า
- ผิวหนังมีอาการบวม
- การติดเชื้อ Staph เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยการเกิดบาดแผลเล็ก ๆ อาการเจ็บปวด และแผลบวมแดง
- โรคเซลลูไลติส (Cellulitis) เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังและติดเชื้อในชั้นผิวหนังแท้ ทำให้ผิวหนังมีอาการบวม แดง และปวด รวมทั้งมีหนองหรือรอยแดง
- โรคพุพอง พบบ่อยในทารก และเด็กเล็ก มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ เกิดขึ้นตามผิวหนังทั่วร่างกาย
- ฝี คือการติดเชื้อในรูขุมขนหรือต่อมน้ำมัน มีการเปลี่ยนแปลงเป็นก้อนเนื้อและมีหนองสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง
- ซีสต์ (Pilonidal Cyst) ส่วนใหญ่มักเกิดจากขนคุดใต้ผิวหนัง ภายในซีสต์มีเศษหนัง น้ำมัน และเส้นขน มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจแสดงอาการปวด บวมที่ก้นและกระดูกสันหลัง มีหนองหรือเลือด หนองมีกลิ่นเหม็น มีไข้
2. การติดเชื้อราที่ผิวหนัง
มักเกิดขึ้นในบริเวณที่อับชื้น เช่น เท้า รักแร้ การติดเชื้อราบางชนิดไม่ติดต่อและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาจทำให้รู้สึกระคายเคือง ผิวเป็นสะเก็ด คัน บวม แผลพุพอง การติดเชื้อราที่ผิวหนังแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
- กลาก เป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา มักเกิดขึ้นบริเวณหนังศีรษะ เล็บ และเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว มักมีอาการ ดังนี้
- เกิดรอยแดง
- ผิวหนังตกสะเก็ด
- เกิดตุ่มคัน
- โรคน้ำกัดเท้า ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อราในกลุ่ม Dermatophytes เติบโตได้ดีในพื้นที่อับชื้น เช่น เล็บ เส้นผม และผิวหนัง อาจมีอาการ ดังนี้
- คัน เป็นผื่น ระหว่างนิ้วเท้า
- แผลพุพอง
- ผ่าเท้าแห้ง ลอกเป็นขุย
- มีแผล และมีกลิ่นเหม็น
- การติดเชื้อยีสต์ มีมากกว่า 20 ชนิด พบมากที่สุดคือ เชื้อ Candida albicans ซึ่งอาศัยอยู่บนผิวหนัง อาจแสดงอาการ ดังนี้
- จุดสีขาวหรือเหลืองที่ลิ้น ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม
- เจ็บในปากและลำคอ
- ปวดเมื่อกลืน
- โรคสปอโรทริโคสิส (Sporotrichosis) มักเกิดขึ้นจากสปอร์ของเชื้อราที่มาจาก สัตว์เลี้ยง ขนมปังเก่า ดิน พืช เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- มีตุ่มสีชมพูไปจนถึงสีม่วง
- เจ็บปวดเล็กน้อย
- การติดเชื้อราที่เล็บ อาจทำให้เล็บเปราะและสีเปลี่ยน มักเกิดขึ้นที่นิ้วเท้า และอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น
- มีขุยสีขาวหรือเหลืองใต้เล็บ
- เล็บหนาขึ้น
- เล็บอาจม้วน
- เล็บอาจเปราะและแตก
- เล็บอาจผิดรูป
- เล็บมีกลิ่นเหม็น
3. การติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง
การติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนังอาจมีความรุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ไวรัสบางชนิดอาจติดต่อได้ผ่านละอองจากสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส ประเภทการติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง มีดังนี้
- หูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum) ส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็ก และผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มักมีอาการเจ็บปวดและคันตามผิวหนัง มีตุ่มเล็ก ๆ เกิดขึ้นประมาณ 2-3 เดือน หรืออาจนานเป็นปี
- โรคอีสุกอีใส เกิดจากไวรัส varicella-zoster เป็นผื่นผิวหนังที่สร้างอาการคันและตุ่มแดง
- โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับอีสุกอีใส อาจแสดงอาการปวดแสบปวดร้อน ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มสีแดงเล็ก ๆ อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดและคันได้
การติดเชื้อที่ผิวหนังสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่ว่าเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ซึ่งมีอาการและการรักษาแตกต่างกันออกไป
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยง การติดเชื้อที่ผิวหนัง
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- การไหลเวียนเลือดไม่ดี
- ผู้สูงอายุ
- โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น HIV/AIDS
- ผู้ป่วยที่เขารับการรักษาทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เคมีบำบัด หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ป่วยที่นอนท่าเดียวเป็นเวลานาน เช่น อัมพาต
- โรคขาดสารอาหาร
- โรคอ้วน โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวหนังพับเข้าหากันจนเสียดสี หรืออับชื้น
อาการ
อาการ การติดเชื้อที่ผิวหนัง
อาการขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อ อาการทั่วไปที่มักพบบ่อย ได้แก่ ผื่นแดง คัน ปวด ควรเข้าพบคุณหมอหากมีตุ่มหนองหรืออาการไม่ดีขึ้น เพราะการติดเชื้อที่ผิวหนังอาจแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและอาจทำให้เสียชีวิตได้ สัญญาณของการติดเชื้อรุนแรง ได้แก่
- มีหนอง
- แผลพุพอง
- ผิวลอก แตกลาย
- สีผิวซีดและเจ็บปวด
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยการติดเชื้อที่ผิวหนัง
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยการติดเชื้อที่ผิวหนัง มีดังนี้
- ตรวจร่างกายและสอบถามถึงอาการ
- อาจได้รับการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เช่น การเพาะเลี้ยงผิวหนังเพื่อระบุชนิดของการติดเชื้อ
- อาจได้รับการตรวจเลือด
การรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง
การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและความร้ายแรงของการติดเชื้อ เพราะการติดเชื้อบางชนิดอาจหายได้เอง หรืออาจใช้ครีมกับโลชั่นในการรักษา หากมีการติดเชื้อที่ผิวหนังเพียงเล็กน้อย และอาจรักษาด้วยการกินยาปฏิชีวนะ หรือฉีดยาหากผิวหนังมีการติดเชื้อบริเวณกว้าง สำหรับการรักษาฝีคุณหมอจะเปิดฝีเพื่อระบายหนองออกและผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกด้วย
ไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
ไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน การติดเชื้อที่ผิวหนัง
การป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังเป็นการดูแลไม่ให้ผิวหนังบาดเจ็บและทำความสะอาดผิวหนัง เช่น เมื่อผิวหนังมีบาดแผลควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำ จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าพันแผลปลอดเชื้อ
ควรทำความสะอาดผิวหนังทุกวันโดยการอาบน้ำเป็นประจำ เพื่อขจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่บนผิวหนัง และควรทำความสะอาดมือทุกครั้งก่อนหยิบจับสิ่งของหรืออาหาร
ไม่ควรใช้เสื้อผ้า หรือของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโรคสู่ผิวหนังได้