backup og meta

ฝีเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรักษาและป้องกันฝี

ฝีเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรักษาและป้องกันฝี

ฝีเกิดจากอะไร อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ความจริงแล้ว ฝี เป็นกลุ่มหนองที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอม โดยส่วนใหญ่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยฝีแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ฝีที่ผิวหนัง มักพบที่หน้าอก แผ่นหลัง ก้น ใบหน้า รักแร้ ลักษณะเป็นตุ่มหนองหรือตุ่มแดงคล้ายสิว อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บ บวม แดง มีไข้ หนาวสั่น และ ฝีในร่างกาย ที่เกิดขึ้นในอวัยวะหรือช่องว่างระหว่างอวัยวะภายใน เช่น ฝีในช่องท้อง ฝีในสมอง ซึ่งอาจทำให้อวัยวะนั้น ๆ ถูกทำลายได้ ดังนั้น การทราบว่าฝีเกิดจากอะไรอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดฝี และช่วยให้สามารถดูแลรักษาฝีได้เหมาะสมขึ้น

[embed-health-tool-heart-rate]

ฝีเกิดจากอะไร

เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณใดบริเวณหนึ่งติดเชื้อและเสียหาย ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองต่อการติดเชื้อด้วยการส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวไปต่อสู้กับการติดเชื้อในบริเวณนั้น ๆ กระบวนการนี้จะก่อให้เกิด ฝี (Abscess) ซึ่งเป็นกลุ่มหนองที่มีของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด น้ำเหลือง ผสมรวมกับเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ตายแล้วและที่ยังมีชีวิต เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจนนำไปสู่การเกิดฝี คือ เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งพบได้ทั่วไปบนผิวหนังและในโพรงจมูก และอาจเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางรอยแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน รอยเจาะ หรือรอยแมลงกัดต่อย

นอกจากแบคทีเรียดังกล่าวแล้ว ปัจจัยดังต่อไปนี้ก็อาจทำให้ติดเชื้อและเป็นฝีได้เช่นกัน

  • ปัญหาผิวหนังเรื้อรัง เช่น สิว ผื่นภูมิแพ้อักเสบ
  • โรครูขุมขนอักเสบ (Folliculitis)
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่รักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด
  • ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี
  • ภาวะสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคปอดอักเสบ โรคกระเปาะที่ลำไส้ใหญ่หรือโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดฝีที่ลำไส้ใหญ่ได้
  • การบาดเจ็บ เช่น โดนยิง ถูกไฟไหม้รุนแรง โดนสิ่งแปลกปลอม อย่างหนาม เข็ม ทิ่มหรือข่วนผิวหนัง
  • การสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ
  • การดูแลสุขอนามัยที่ไม่ดี
  • การผ่าตัด

นอกจากนี้ การติดเชื้อปรสิต เช่น เห็บ หมัด พยาธิ ก็สามารถก่อให้เกิดฝีได้เช่นกัน แม้ฝีจากการติดเชื้อปรสิตจะเป็นภาวะที่พบได้ยาก แต่หากเป็นแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้

ประเภทของฝีที่มักพบบ่อย

ฝี ที่อาจพบได้บ่อย อาจมีดังนี้

  • ฝีที่ผิวหนัง อาจเกิดจาก การติดเชื้อแบคทีเรีย รูขุมขนอักเสบ การเป็นแผลหรือรอยถลอก ฝีชนิดนี้เกิดขึ้นได้กับผิวหนังแทบทุกส่วน และสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย
  • ฝีในสมอง มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา โดยอาจได้รับเชื้อในระหว่างผ่าตัด หรือมักเกิดจากปอดติดเชื้อ หัวใจติดเชื้อ เป็นต้น เมื่อเลือดจากอวัยวะที่ติดเชื้อไหลเวียนเข้าสู่สมอง จึงอาจทำให้สมองติดเชื้อ จนเกิดฝีได้
  • ฝีในฟัน เมื่อชั้นเคลือบฟันสึกกร่อนเนื่องจากฟันผุ ฟันแตก เป็นต้น อาจส่งผลให้มีแบคทีเรียสะสมและเจริญเติบโตในโพรงประสาทฟัน จนเกิดการติดเชื้อและเป็นฝีในฟัน ซึ่งหากปล่อยไว้จนติดเชื้อรุนแรง อาจต้องถอนฟัน หรือผ่าตัดเอาหนองออก
  • ฝีรอบทอนซิล มักเกิดจากการติดเชื้อบริเวณรอบทอนซิล หรือทอนซิลอักเสบ พบมากในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น และควรเข้าพบคุณหมอทันทีหากมีอาการ เช่น อ้าปากลำบาก คอและขากรรไกรบวม เจ็บคอ ปวดหู เป็นไข้ เพราะอาจเกิดจากทอนซิลอักเสบ หรือเป็นฝีรอบทอนซิล และหากปล่อยไว้อาจทำให้หายใจลำบากได้
  • ฝีในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้เล็กอักเสบหรือลำไส้รั่ว รังไข่แตก การติดเชื้อที่อวัยวะภายในช่องท้อง จนทำให้เกิดฝีที่อวัยวะภายในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน เช่น รังไข่ ตับ ตับอ่อน ไต
  • ฝีในตับจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นฝีในตับชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดในกระแสเลือด ในช่องท้อง เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ หรืออาจเกิดจากตับมีแผล หรือมีรอยอักเสบ เป็นต้น หากมีอาการบ่งชี้ของโรค เช่น ปวดท้องด้านขวาบน อุจจาระมีลักษณะเหมือนดินโคลน ปัสสาวะมีสีเข้ม มีไข้ อาเจียน ควรรีบเข้าพบคุณหมอ เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ฝีตับอะมีบา หรือฝีบิดในตับ มักเกิดจากลำไส้เล็กติดเชื้อปรสิตชื่อว่า เอนตามีบา ฮิสโตไลติค (Entamoeba histolytica) และเมื่อเลือดไหลเวียนจากลำไส้เล็กไปยังตับ จึงอาจลำเลียงเชื้อไปที่ตับ และทำให้ตับติดเชื้อ จนเกิดฝี
  • ฝีคัณฑสูตร พบบริเวณทวารหนักหรือรอบลำไส้ตรง มักเกิดจากต่อมผลิตเมือกอุดตัน แผลปริที่ขอบทวารหนัก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น หากเป็นฝีที่อยู่ลึกเข้าไปในทวารหนัก อาจเกิดจากโรคเกี่ยวกับลำไส้ เช่น โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคโครห์น ฝีชนิดนี้พบมากในผู้ชาย แต่อาจพบในผู้ที่เคยเป็นโรคแผลปริที่ขอบทวารหนัก หรือเด็กทารกและเด็กวัยเตาะแตะที่ยังสวมผ้าอ้อมได้ด้วย
  • ฝีในต่อมบาร์โธลิน หรือที่อาจเรียกว่า ฝีที่อวัยวะเพศหญิง โดยต่อมบาร์โธลินจะอยู่บริเวณปากช่องคลอด หากต่อมนี้อุดตัน อาจทำให้มีเมือกสะสมอยู่ภายในจนบวม ติดเชื้อ และเกิดฝีได้

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ

หากเป็นฝีในระดับไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ฝีจะแตกและแห้งเองภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม ฝีส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อ จึงควรเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการเหล่านี้

  • ฝีที่ผิวหนังบวม แดง หรือเจ็บมากขึ้น
  • มีรอยแดงเป็นเส้นในบริเวณที่ผิวหนังติดเชื้อ
  • รู้สึกเจ็บ หรือไม่สบายตัว
  • มีไข้ หรือหนาวสั่น

วิธีรักษาและป้องกัน ฝี

วิธีรักษาฝี

สำหรับฝีที่ผิวหนัง คุณหมอจะพิจารณาว่าควรรักษาด้วยการกรีดเอาหนองออกให้หมด หรือให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ หรือใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน สำหรับฝีในร่างกาย อาจต้องรักษาด้วยการฝ่าตัด

หลังเข้ารับการรักษาฝี ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เช่น

  • รับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามกำหนด แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • หากเป็นฝีที่ผิวหนัง ควรป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ด้วยการไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว มีดโกน อุปกรณ์ออกกำลังกาย
  • หากอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง ควรเข้าพบคุณหมออีกครั้งทันที

วิธีป้องกันฝี

การรักษาสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ ด้วยวิธีดังตัวอย่างต่อไปนี้ อาจเป็นวิธีป้องกันการเกิดฝีที่ดีที่สุด

  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยใช้สบู่ถูมือ นิ้วมือ ง่ามนิ้ว ซอกเล็บ และข้อมือให้ทั่วอย่างน้อย 20 วินาที ก่อนล้างออกด้วยน้ำสะอาด หากไม่สะดวก สามารถทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ได้
  • หากเกิดแผล ควรทำความสะอาดแผลให้ดี ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ และดูแลให้แผลแห้งอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรค
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ผ้าเช็ดตัว มีดโกน ชุดเครื่องนอน
  • ทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวเป็นประจำ เช่น ซักชุดเครื่องนอนทุกสัปดาห์ ซักผ้าเช็ดตัวหลังใช้งาน 3-4 ครั้ง หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Abscesses. https://www.healthdirect.gov.au/abscesses. Accessed October 8, 2021

Abscess. https://www.nhs.uk/conditions/abscess/. Accessed October 8, 2021

Abscess. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/abscess#1-1. Accessed October 8, 2021

Abscess. https://kidshealth.org/en/teens/abscess.html. Accessed October 8, 2021

Abscess. https://medlineplus.gov/ency/article/001353.htm. Accessed October 8, 2021

Abscess. https://www.nidirect.gov.uk/conditions/abscess#toc-2. Accessed October 8, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ฝีที่รักแร้ เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา