backup og meta

เป็นฝีห้ามกินอะไร แล้วควรดูแลตัวเองยังไง ให้ฝีหายเร็วขึ้น

เป็นฝีห้ามกินอะไร แล้วควรดูแลตัวเองยังไง ให้ฝีหายเร็วขึ้น

ฝี คือ ตุ่มหนองอักเสบที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง อาจพบได้ในหลายบริเวณของร่างกาย เช่น ฝีที่รักแร้ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้บริเวณนั้นบวม แดง กดเจ็บ และเป็นหนองชนิดที่มีกลิ่นเหม็น และบางคนอาจมีไข้ หรือหนาวสั่น เวลาเป็นฝี นอกจากจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และการระบายหนองออกแล้ว เป็นฝีห้ามกินอะไร อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เพราะอาการบางอย่างอาจทำให้ฝีมีอาการแย่ลงได้ ดังนั้น การเลือกกินอาหารร่วมกับการดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่น ๆ อาจช่วยให้ฝีหายเร็วขึ้น

[embed-health-tool-heart-rate]

เป็นฝีห้ามกินอะไร

ฝีเกิดจากการติดเชื้อและอักเสบ ฉะนั้น อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหากอยากให้ฝีหายเร็วขึ้น ก็คือ อาหารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ดังนั้น อาหารที่ห้ามกินตอนเป็นฝีอาจมีดังนี้

น้ำตาล

น้ำตาลที่ผ่านกระบวนการ เช่น น้ำตาลทรายขาว อาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารตั้งต้นของการอักเสบ (Pro-Inflammatory Cytokines) มากขึ้นได้ ฉะนั้น หากเป็นฝีจึงควรงดหรือลดอาหารที่เติมน้ำตาลที่ผ่านกระบวนการจะดีที่สุด

ไขมันอิ่มตัว

ไขมันอิ่มตัวอาจกระตุ้นการอักเสบที่เนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการอักเสบ อย่างฝี ที่เป็นอยู่แย่ลงแล้ว ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ด้วย อาหารที่อาจมีไขมันอิ่มตัว และควรหลีกเลี่ยงในช่วงที่เป็นฝี เช่น เบอร์เกอร์ พิซซ่า เฟรนช์ฟราย รวมถึงของทอดอื่น ๆ ด้วย

กรดไขมันโอเมก้า 6

แม้กรดไขมันโอเมก้า 6 จะเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ แต่หากได้รับโอเมก้า 6 มากเกินไป ก็อาจไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารตั้งต้นของการอักเสบมากขึ้น โดยอาหารที่มีกรดโอเมก้า 6 เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง มายองเนส น้ำสลัดบางสูตร ฉะนั้น ในช่วงที่เป็นฝีจึงควรงดอาหารดังกล่าว เพื่อฝีจะได้หายเร็วขึ้น

คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี

คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี หรือ คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการแปรรูป (Refined Carbohydrates) เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว ก็เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่ไม่ควรกินในช่วงที่เป็นฝี เพราะคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีจัดเป็นอาหารที่มีค่าไกลซีมิกหรือค่าดัชนีน้ำตาลสูงซึ่งกระตุ้นการสร้างสารที่เกิดจากการรับประทานโปรตีนและน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย (Advanced Glycation End Products หรือ AGEs) เมื่อร่างกายมีสาร AGEs มาก ๆ ก็อาจไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และทำให้การอักเสบที่เป็นอยู่แย่ลงได้ด้วย

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ตับทำงานหนักขึ้น ยิ่งดื่มแอลกอฮอล์หนักและดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจยิ่งทำให้ตับต้องทำงานหนักมาก จนประสิทธิภาพการทำงานของตับแย่ลงเรื่อย ๆ และส่งผลกระทบต่อการทำงานเชื่อมโยงกันของหลายอวัยวะด้วย ดังนั้น เวลาเป็นฝีจึงควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะดีที่สุด

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นฝี

หากอยากให้ฝีหายเร็วขึ้น อาจดูแลตัวเองด้วยวิธีการเหล่านี้

สิ่งที่ควรทำ

  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณที่เป็นฝีวันละ 4 ครั้ง ๆ ละ 10 นาที
  • หากฝีแตก ให้ทำความสะอาดบริเวณที่เป็นฝีด้วยสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • ใช้ผ้าก๊อซปิดบริเวณที่เป็นฝีไว้จนกว่าฝีจะหาย
  • รักษาสุขอนามัยให้ดี ด้วยการอาบน้ำทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และล้างมือเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนและหลังกินอาหาร
  • กินยาพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • ซักผ้าเช็ดตัว และเครื่องนอนในน้ำร้อนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • อย่าบีบ แกะ หรือเจาะฝี
  • อย่าใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับคนอื่น
  • อย่าลงสระว่ายน้ำ หรือไปใช้บริการฟิตเนส เพราะอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

8 Food Ingredients That Can Cause Inflammation. https://www.arthritis.org/health-wellness/healthy-living/nutrition/foods-to-limit/8-food-ingredients-that-can-cause-inflammation. Accessed September 10, 2020

Boils. https://www.nhs.uk/conditions/boils/. Accessed September 10, 2020

What foods cause or reduce inflammation?. https://www.uchicagomedicine.org/forefront/gastrointestinal-articles/what-foods-cause-or-reduce-inflammation. Accessed March 21, 2022

The Top 10 Inflammatory Foods to Avoid. https://performancehealthcenter.com/2020/02/the-top-10-inflammatory-foods-to-avoid/. Accessed March 21, 2022

8 Inflammation-Causing Foods to Avoid When You Have Arthritis. https://www.allergyinstitute.org/blog/8-inflammation-causing-foods-to-avoid-when-you-have-arthritis. Accessed March 21, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความแตกต่างและข้อควรรู้เกี่ยวกับ การติดเชื้อไวรัส กับ การติดเชื้อแบคทีเรีย

ฝีฝักบัว อาการ สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา