backup og meta

ภูมิแพ้ผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ภูมิแพ้ผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือที่เรียกอีกอย่างว่าโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากผิวแห้ง ติดเชื้อแบคทีเรีย สารระคายเคือง หรือสารก่อภูมิแพ้ ที่ทำให้ผิวหนังอักเสบ รู้สึกคัน ผิวเป็นสะเก็ด หากไม่เข้ารับการรักษาอาจส่งผลให้เกิดอาการคันรุนแรง จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

ภูมิแพ้ผิวหนัง คืออะไร

ภูมิแพ้ผิวหนัง คือ โรคผิวหนังที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ ทำให้เกิดผื่น อาการคัน รอยแดง ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า แขน และขา ภูมิแพ้ผิวหนังอาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้งหากมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น แบคทีเรีย สารระคายเคือง

อาการ

อาการภูมิแพ้ผิวหนัง

อาการภูมิแพ้ผิวหนัง อาจสังเกตได้ดังนี้

  • ผิวแห้งเป็นขุย
  • อาการคัน ที่อาจรุนแรงขึ้นในช่วงเวลากลางคืน
  • ตุ่มนูนเล็ก ๆ ที่มีของเหลวอยู่ด้านใน
  • ผื่นเป็นปื้นสีแดงหรือน้ำตาลอมเทา บริเวณใบหน้า ศีรษะ ข้อมือ คอ หน้าอก เท้า ข้อพับ ข้อศอก และหลังเข่า
  • ผิวบวมแดงจากการเกา

นอกจากนี้ หากสังเกตว่ามีไข้ หนาวสั่น รู้สึกเหมือนไม่สบาย และมีอาการแย่ลง เช่น มีหนอง เจ็บบริเวณตุ่มเมื่อถูกสัมผัสหรือเสียดสี อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง ควรพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาทันที

สาเหตุ

สาเหตุของภูมิแพ้ผิวหนัง

สาเหตุของภูมิแพ้ผิวหนังอาจยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นที่ส่งผลให้ผิวหนังอักเสบ ดังนี้

  • สารระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผงซักฟอก แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน
  • สารก่อภูมิแพ้ เช่น สภาพอากาศที่หนาวเย็น ขาดความชื้น ไรฝุ่น มลพิษ ขนสัตว์ ละอองเกสร น้ำหอม
  • ภูมิแพ้อาหาร เช่น ไข่ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ไข่ นมวัว
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจพบได้ในผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน และระหว่างตั้งครรภ์
  • ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ผิวหนัง มีดังนี้

  • พันธุกรรมคนในครอบครัวที่เคยมีประวัติการเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง และโรคหอบหืด
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำร้อน อาบน้ำนาน เพราะอาจส่งผลให้ผิวขาดความชุ่มชื้น ผิวแห้ง จนนำไปสู่อาการคันระคายเคือง

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภูมิแพ้ผิวหนัง

คุณหมออาจสอบถามประวัติสุขภาพ และสอบถามเกี่ยวกับอาหารที่รับประทาน รวมถึงสารระคายเคือง หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ เพื่อหาสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนัง จากนั้นอาจเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อผิวหนัง เพื่อนำไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ

การรักษาภูมิแพ้ผิวหนัง

การรักษาภูมิแพ้ผิวหนัง มีดังต่อไปนี้

  • ครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง โดยคุณหมออาจแนะนำให้ทาระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งควรทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบ 1-2 ครั้ง/วัน เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจทำให้รู้สึกแสบร้อนผิวหนัง รูขุมขนอักเสบ สีผิวเปลี่ยนแปลง
  • ยาทาในกลุ่มแคลซินูลิน อินฮิบิเตอร์ (Calcineurin inhibitor) เช่น ทาโครลิมัส (Tacrolimus) พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) กดภูมิคุ้มกันของผิวหนัง ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาแพ้เมื่อสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเพราะทำให้ผิวไวต่อแสง
  • เพรดนิโซโลน (Prednisolone) สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง คุณหมออาจให้รับประทานเพรดนิโซโลน (Prednisolone) สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง คุณหมออาจให้รับประทานแต่อาจให้รับประทานระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ประจำเดือนมาไม่ปกติ เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เลือดออกง่าย การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
  • ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจแนะนำให้ทายาปฏิชีวนะในรูปแบบครีมบนผิวหนังที่มีอาการ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การบำบัดด้วยแสง คุณหมออาจฉายรังสีอัลตราไวโอเลต A และ B ในบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ แต่วิธีการนี้อาจไม่เหมาะสำหรับทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากผิวหนังของเด็กค่อนข้างบอบบาง
  • การทำแผลแบบเปียก (Wet dressings) เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลจากผิวหนังอักเสบ เช่น แผลหนอง ตุ่มใส โดยคุณหมอจะทำความสะอาดแผลและใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือหมาด ๆ ประคบเป็นเวลา 10-15 นาที  จากนั้นจะทายาฆ่าเชื้อ หรือยาทากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์และพันผ้าพันแผล

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภูมิแพ้ผิวหนัง

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภูมิแพ้ผิวหนัง อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่ส่งผลให้ผิวระคายเคือง เช่น ขนสัตว์เลี้ยง น้ำหอมฝุ่นควัน ละอองเกสร
  • ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน และเสื้อผ้า สูตรอ่อนโยน ถนอมผิว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ที่ปราศจากน้ำหอม โดยควรทาหลังจากอาบน้ำและควรเช็ดตัวให้แห้งสนิทก่อนทา
  • จำกัดระยะเวลาอาบน้ำไม่เกิน 10 นาที และควรอาบน้ำอุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ผิวแห้ง ระคายเคือง
  • ไม่ควรขัดผิวอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง และเกิดบาดแผล เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • ตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Atopic dermatitis (eczema). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/atopic-dermatitis-eczema/symptoms-causes/syc-20353273. Accessed November 22, 2022.

Atopic eczema. https://www.nhs.uk/conditions/atopic-eczema/. Accessed November 22, 2022.

ECZEMA TYPES: ATOPIC DERMATITIS CAUSES. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/ECZEMA/TYPES/ATOPIC-DERMATITIS/CAUSES. Accessed November 22, 2022.

Atopic Dermatitis. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/eczema/eczema-basics. Accessed November 22, 2022.

Eczema. https://medlineplus.gov/eczema.html. Accessed Accessed November 22, 2022.

Prednisolone – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6307-2333/prednisolone-oral/prednisolone-liquid-oral/details. Accessed November 22, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/04/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาทาแก้คัน ผิวหนังอักเสบ ชนิดต่าง ๆ

โรคผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/04/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา