โรคสะเก็ดเงิน คือโรคผิวหนังที่ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนเร็วผิดปกติ จนเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วสะสมกันเป็นสะเก็ดหนาสีแดง มีขุยขาว ๆ และมีอาการคัน มักพบบริเวณหัวเข่า ข้อศอก หนังศีรษะ ลำตัว ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ หรือหลายเดือน แล้วจึงค่อย ๆ ทุเลาลง การทราบว่า โรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร อาจช่วยให้รู้ถึงสาเหตุของโรค วิธีรักษา และวิธีลดความเสี่ยงที่เหมาะสม
โรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร
โรคสะเก็ดเงินเกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้กระตุ้นการผลิตเซลล์ผิวหนังใหม่เร็วจนเกินไป โดยปกติร่างกายจะผลิตเซลล์ผิวหนังใหม่แทนที่เซลล์ผิวหนังเก่าที่ตายแล้วและถูกผลัดออกทุก ๆ 10-30 วัน แต่ผู้ที่ภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่องอาจส่งผลให้เซลล์ผิวใหม่เจริญเติบโตทุก ๆ 3-4 วัน จนสะสมก่อให้เกิดผิวหนังหนาเป็นสะเก็ดเงิน แม้นักวิจัยจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดภูมิคุ้มกันจึงบกพร่องจนส่งผลต่อการผลิตเซลล์ผิวหนัง แต่คาดการณ์ว่าอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม ดังต่อไปนี้
- พันธุกรรมจากคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคสะเก็ดเงิน
- การบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น ผิวถูกแดดเผาไหม้ รอยแมลงกัด บาดแผล
- ความเครียด
- สภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศหนาวและแห้ง
- การติดเชื้อที่ผิวหนัง
- การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษามาลาเรีย
อาการของโรคสะเก็ดเงิน
อาการของโรคสะเก็ดเงินแบ่งออกตามประเภทของโรค ดังนี้
- โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา เป็นรูปแบบที่พบบ่อย โดยสังเกตได้จากผิวหนังแห้ง เกล็ดผิวหนังนูนหนาปกคลุม ผิวหนังเป็นแผลแดง และมีอาการคัน
- โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก คือ โรคสะเก็ดเงินที่ส่งผลให้เกิดแผลขนาดเล็กบริเวณลำตัว แขน ขา มักเป็นผลจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคคออักเสบ
- โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ หรือเล็บสะเก็ดเงิน สังเกตได้จากเล็บมือเล็บเท้าเป็นรูพรุน เล็บเปลี่ยนสี และเจริญเติบโตผิดปกติ บางคนอาจได้รับผลกระทบรุนแรงที่ส่งผลให้เล็บเสียหายได้
- โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว อาจส่งผลให้รู้สึกคันระคายเคือง แสบผิวเหมือนผิวไหม้อย่างรุนแรง มีผื่นแดงลอก
- โรคสะเก็ดเงินตุ่มหนอง เป็นรูปแบบที่พบได้ยาก ส่งผลให้เกิดแผลหนอง มักปรากฏในบริเวณที่ถูกเสียดสีและมีเหงื่อออกมาก เช่น ข้อพับ ขาหนีบ หน้าอก ก้น
- โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน สังเกตได้จากอาการเจ็บปวดข้อต่อ ข้อต่อบวม เล็บเปลี่ยนแปลง หากไม่รักษาอาจทำให้ข้อต่อเสียหายร้ายแรงได้
โรคสะเก็ดเงินส่วนใหญ่อาจก่อให้เกิดอาการคัน ผิวแห้ง ผิวแตก มีผื่นนูนแดง หรือสะเก็ดผิวหนังหนาเป็นหย่อม โดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะ หลังส่วนล่าง ข้อศอก ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หัวเข่า ขา หากไม่ทราบว่ากำลังเผชิญกับสะเก็ดเงินประเภทใด ควรเข้าพบคุณหมอผิวหนัง คุณหมอจะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างเหมาะสม
วิธีรักษาโรคสะเก็ดเงิน
วิธีรักษาโรคสะเก็ดเงิน มีดังนี้
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นยาที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินในระดับเบาจนถึงระดับปานกลาง มีทั้งแบบครีม โลชั่น เจล สเปรย์ แชมพู ขี้ผึ้ง สามารถเลือกใช้ได้ตามเหมาะสม
- ยาเรตินอยด์ มีทั้งแบบรับประทาน ฉีด และทาเฉพาะที่ เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) อาซิเทรติน (Acitretin) ช่วยลดการผลิตเซลล์ผิวหนัง โดยควรทาบริเวณผิวที่ได้รับผลกระทบวันละ 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มเรตินอยด์อาจไม่เหมาะสำหรับสตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้
- วิตามินดีสังเคราะห์ เช่น แคลซิไทรออล (Calcitriol) อาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง สามารถใช้ควบคู่กับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ได้ เพื่อลดอาการระคายเคือง
- น้ำมันดิน อาจช่วยลดการอักเสบและอาการคันของโรคสะเก็ดเงิน มีทั้งแบบแชมพู ครีม น้ำมัน แต่อาจมีกลิ่นแรง และอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ จึงไม่เหมาะสมสำหรับสตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร
- กรดซาลิไซลิก ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยกรดซาลิไซลิกอาจช่วยลดขนาดสะเก็ดเงิน และอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ยาชนิดอื่น ๆ ที่ใช้รักษา ทำให้ยาซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น
- สารยับยั้งแคลซินิวริน (Calcineurin) อาจมีส่วนช่วยลดการอักเสบและการสะสมของคราบจุลินทรีย์ โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่บองบาง เช่น รอบดวงตา ยานี้อาจไม่เหมาะกับสตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- การบำบัดด้วยแสง เช่น ยูวีเอ (UVA) ยูวีบี (UVB) พียูวีเอ (PUVA) อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินระดับปานกลางถึงรุนแรง การรักษาวิธีนี้จำเป็นต้องทำซ้ำหลายครั้ง เพื่อช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง ทำให้อาการของโรคดีขึ้น
- ยาเม็ดรับประทานและการฉีดยา หากการรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล คุณหมออาจให้รับประทานยาเม็ด หรือฉีดยาเข้าสู่ร่างกายโดยตรง เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ เรตินอยด์ เมโธเทรกเซท (Methotrexate) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) อินฟลิซิแมบ (Infliximab) อะดาลิมูแมบ (Adalimumab)
วิธีดูแลโรคสะเก็ดเงิน
วิธีดูแลโรคสะเก็ดเงิน เพื่อให้อาการดีขึ้น หรืออาการไม่แย่ลง อาจทำได้ดังนี้
- ทายารักษาตามที่คุณหมอกำหนด และเข้ารับการตรวจสุขภาพตามนัดหมาย
- บำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน เช่น ครีมสารสกัดจากว่านหางจระเข้ เพราะอาจมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงิน ลดรอยแดง อาการคัน และการอักเสบ
- รับประทานน้ำมันปลา เพราะน้ำมันปลาอาจช่วยปรับปรุงกระบวนการตกสะเก็ด ซึ่งควรใช้รักษาควบคู่กับการบำบัดด้วยแสง UVB เพื่อลดปริมาณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ