โรคเรื้อน เป็นอาการโรคติดเชื้อเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีระยะฟักตัวนานราว 5-12 ปี ส่งผลให้เกิดปัญหาผิวหนัง มีผื่น ตุ่ม หรือวงด่างขาว ขึ้นทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันเชื้อโรคมักไปทำลายระบบประสาทให้เสียหายอย่างช้า ๆ หากไม่รีบรักษา ผู้ป่วยอาจมีใบหน้าผิดรูป เป็นอัมพาต หรือตาบอดได้ ปัจจุบันนี้ โรคเรื้อนรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ
คำจำกัดความ
โรคเรื้อน คืออะไร
โรคเรื้อน เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม เลพรี (Mycobacterium Leprae) ทำให้เกิดความผิดปกติที่ผิวหนัง เส้นประสาท เยื่อบุจมูก มือ เท้า และดวงตา โดยระยะฟักตัวของเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าวก่อนแสดงอาการของโรคจะอยู่ประมาณ 5-12 ปี อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางราย เชื้ออาจใช้เวลาฟักตัวนานถึง 20 ปี
โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากจมูกหรือปากของผู้ติดเชื้อ หากมีอาการแต่ไม่รีบเข้ารับการรักษา อาจเป็นอัมพาตหรือตาบอดได้ เนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลาย รวมถึงมีผิวหนังที่เสียหายอย่างถาวร
โรคเรื้อนเกิดกับคนได้ทุกช่วงวัย ในปี พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลกพบว่าผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ ใน 139 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนทั้งสิ้น 127,558 คน ในจำนวนนี้ 8,629 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
อาการ
อาการของโรคเรื้อน
อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเรื้อน มีดังนี้
ผิวหนัง
- มีวงด่างขาว ปื้นแดง หรือผื่นแดงบนผิวหนัง
- ผิวหนังแห้งหรือแข็งเป็นหย่อม ๆ
- มีแผลพุพองบริเวณฝ่าเท้า
- มีตุ่มบวมบนใบหน้าหรือติ่งหู
- ขนคิ้วหรือขนตาร่วงมากผิดปกติ
ระบบประสาท
- มีอาการชาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น มือ เท้า ทำให้เมื่อร่างกายเป็นแผล จึงไม่รู้สึก และเมื่อปล่อยไว้ก็อาจลุกลามยากจะรักษาได้
- เกิดความเสียหายของเส้นประสาทบริเวณสมอง ไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตได้
- มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น ต้อหิน ตาบอด
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต โดยเฉพาะบริเวณมือหรือเท้า
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเรื้อนบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น
- ใบหน้าเสียรูป จากอาการนูนบวมของผิวหนังที่ติดเชื้ออย่างถาวร
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศ รวมทั้งลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และปริมาณน้ำเชื้อ ทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว และระบบสืบพันธุ์เสียหายได้
- อาการไตวาย โรคเรื้อนอาจไปทำลายไต จนก่อให้เกิดไตวายได้
- การคัดจมูกเรื้อรัง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียของโรคไปทำลายเซลล์เนื้อเยื่อภายในจมูก
- ความรู้สึกแสบร้อนบนร่างกาย
สาเหตุ
สาเหตุของโรคเรื้อน
โรคเรื้อน เกิดจากแบคทีเรียไมโคแบคทีเรียม เลพรีซึ่งติดต่อกันได้จากการกระจายของละอองฝอยเมื่อผู้ติดเชื้อไอหรือจาม
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อแบคทีเรียโรคเรื้อน จะไม่เกิดขึ้นในกรณีต่อไปนี้
- เมื่อจับมือหรือกอดกัน
- เมื่อนั่งติดกับผู้อื่นในระบบขนส่งสาธารณะ
- เมื่อร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน
- เมื่อมีเพศสัมพันธ์
- จากมารดาไปยังทารกในครรภ์
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
หากพบแผลหรือผื่นบนร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปพบคุณหมอ แม้ว่าจะมีผื่นที่มองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก รวมถึงไม่ทำให้รู้สึกเจ็บหรือคันก็ตาม นอกจากนั้น บางครั้งผื่นโรคเรื้อนจะขึ้นในบริเวณที่มองเห็นได้ยาก เช่น แผ่นหลัง สะโพก ทำให้ผู้ป่วยสังเกตไม่เห็น จึงไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
การวินิจฉัยโรคเรื้อน
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะวินิจฉัยอาการของโรคเรื้อน โดยการสังเกตด้วยตาเปล่า เพื่อตรวจดูความผิดปกติบนผิวหนังเช่น วงด่างขาว หรือชมพูซีด ปื้นแดง ผื่น รวมทั้งอาจใช้เข็มจิ้มลงบนผิวหนังเบา ๆ เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีอาการด้านชาเนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลายอันเป็นอาการของโรคหรือไม่
นอกจากนี้ หากคุณหมอสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคเรื้อน อาจตัดผิวหนังบางส่วนไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของโรค
การรักษาโรคเรื้อน
โรคเรื้อนรักษาให้หายได้ โดยเฉพาะอาการทางผิวหนัง โดยปกติ การรักษาโรคเรื้อนจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยคุณหมอจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะ 2-3 ชนิดร่วมกัน หรือมากกว่านั้น เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันไม่ให้อาการของโรคแย่ลง โดยยากลุ่มที่ใช้รักษาโรคเรื้อน ประกอบด้วย
- แดพโซน (Dapsone)
- ไรแฟมพิซิน (Rifampin)
- โคลฟาซิมีน (Clofazimine)
- ทาลิโดไมด์ (Thalidomide)
- เพรดนิโซโลน (Prednisolone)
ทั้งนี้ การใช้ยาหลายขนานยังป้องกันการดื้อยาเนื่องจากการใช้ยาในระยะยาวด้วย
อย่างไรก็ตาม ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาความเสียหายของเส้นประสาทหรือการเสียรูปของใบหน้าได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรรีบพบคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือในระยะแรก ๆ ของการเกิดโรคเรื้อน
การปรับพฤติกรรมและการดูแลตัวเอง
โรคเรื้อนมีอัตราการติดต่อกันของโรคต่ำ สามารถดูแลตัวเองเพื่อให้ห่างไกลโรคเรื้อน ดังนี้
- หลีกเลี่ยงสัมผัสผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะเมื่อร่างกายมีบาดแผล เนื่องจากเป็นช่องทางแพร่เชื้อของโรค หากต้องติดต่อกับผู้ป่วยโรคเรื้อนควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน เพราะหากผู้ป่วย ไอ จาม อาจแพร่กระจายเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ป่วยซึ่งยังไม่ได้รับการรักษา โดยผู้ที่อาศัยอยู่กับผู้ป่วยมีแนวโน้มติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปถึง 8 เท่า ทั้งนี้ ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษา สามารถป้องกันผู้ป่วยไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้
[embed-health-tool-heart-rate]