การสะอึกเป็นอาการที่พบกันได้บ่อย ซึ่งอาจทำให้เกิดความรำคาญใจไปบ้าง แต่ไม่เป็นอันตรายอะไรหรือส่งผลต่อสุขภาพอะไรเลย สักพักก็จะหายไปได้เอง แต่บางครั้งหากเกิดอาการนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ การสะอึกในแต่ละครั้งบ่งบอกถึงอะไรบ้าง Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้แล้วค่ะ
การสะอึก คืออะไร
การสะอึก เกิดขึ้นเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมหดตัวกะทันหัน และไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อาการสะอึกจะเกิดขึ้น เมื่อเกิดอาการ เส้นเสียงจะปิด ทำให้เกิดเสียงสะอึกขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วอาการสะอึกไม่ก่อให้เกิดอันตราย
สาเหตุของอาการสะอึก
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสะอึก ได้แก่
- น้ำอัดลม
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- กินมากเกินไป
- อารมณ์รุนแรงต่างๆ
- อุณหภูมิเปลี่ยนกะทันหัน
- การกลืนอากาศเข้าไป ขณะที่เคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอม
ภาวะที่รุนแรง ที่เกิดขึ้นจาก การสะอึก
หากมีอาการสะอึกที่เกิดขึ้นประมาณ 2 วัน อาจเกิดจากภาวะที่รุนแรงต่างๆ ต่อร่างกาย ดังนี้
เส้นประสาทอักเสบหรือถูกทำลาย
การที่เส้นประสาทที่เชื่อมโยงกับกล้ามเนื้อกระบังลม ได้รับอันตรายหรือการกระทบกระเทือน อาจทำให้เกิดอาการสะอึกเรื้อรัง อันตรายที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากการที่มีวัตถุแปลกปลอมเข้าไปสัมผัสเยื่อแก้วหู หรือจากเนื้องอก ซีสต์ หรือต่อมไทรอยด์อักเสบ อาการกรดไหลย้อน เจ็บคอ หรือกล่องเสียงอักเสบ
โรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง
เนื้องอกหรือการติดเชื้อที่เกิดขึ้นที่ระบบประสาท หรือการที่เส้นประสาทเสียหายจากการบาดเจ็บ เช่น โรคไข้สมองอักเสบ (encephalitis) โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) โรคเอ็มเอสที่เกิดจากการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง (multiple sclerosis) เส้นเลือดในสมองแตก และอาการอื่นๆ อาจนำไปสู่การสูญเสียการควบคุมการสะอึกได้
โรคเกี่ยวกับการเผาผลาญและยาต่างๆ
อาการสะอึกเรื้อรังอาจถูกกระตุ้นจากแอลกอฮอล์ ยาชา ยาบาร์บิทูเรต (barbiturates) โรคเบาหวาน (diabetes) ภาวะอิเล็กโตรไลต์ไม่สมดุลย์ (electrolyte imbalance) โรคไต ยาสเตียรอยด์ และยาระงับประสาท
ควรเข้ารับการรักษาอาการสะอึกเมื่อไร
แม้ว่าอาการสะอึกจะไม่ใช่อาการฉุกเฉิน ที่ต้องเข้ารับการรักษา แต่คุณควรพบหมอ หากมีอาการนานกว่า 3 ชั่วโมง หรือรบกวนการนอนหลับ และทำให้อาเจียน อีกทั้ง หากอาการสะอึกเกิดร่วมกับการปวดท้อง เป็นไข้ หายใจไม่ออก อาเจียนเป็นเลือด และรู้สึกว่าลำคอตีบลง คุณควรรีบเข้ารับการช่วยเหลือโดยเร็ว
การวินิจฉัยอาการสะอึก
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเป็นอันดับแรก หากแพทย์สงสัยว่าอาการสะอึกเกิดจากโรคที่ไม่แสดงอาการ อาจต้องทำการตรวจทางห้องแล็บ
การรักษาอาการสะอึก
อาการสะอึกที่รุนแรงและเรื้อรัง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ แพทย์อาจสั่งยาคลอโปรมาซีน (โธราซีน) หรือยาบาโคลเฟน อย่างเช่น ลิโอเรซอล (Lioresal) และยารักษาอาการชัก เช่น ฟีเนโทอีน (phenytoin) อย่างเช่น ไดแลนทีน (Dilanin) สามารถรักษาอาการสะอึกได้ผลเช่นเดียวกัน
ในบางกรณี อาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด คุณอาจจำเป็นต้องใช้ยาชาเพื่อกั้นเส้นประสาทเฟรนิค และตัวกระตุ้นไฟฟ้าที่ฝังอยู่ที่เส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) หากการรักษาที่กล่าวมาไม่ได้ผล แพทย์อาจต้องใช้การผ่าตัด เพื่อระงับการทำงานของเส้นประสาทเฟรนิค
การรักษาอาการสะอึกด้วยตัวเอง
หากอาการสะอึกไม่ได้เกิดจากภาวะทางสุขภาพ คุณอาจลองใช้วิธีการรักษาอาการสะอึก ดังต่อไปนี้
- หายใจในถุงกระดาษ
- กลั้วน้ำเย็น
- กลั้นหายใจ
- ค่อยๆ ดื่มน้ำเย็นปริมาณพอดีคำทีละครั้ง
- ทำให้ตกใจ
- ดึงลิ้นออกมาข้างหน้า
นอกจากนี้คุณควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม หรืออาหารที่ทำให้เกิดกรด และควรรับประทานอาหารหลายมื้อในปริมาณน้อย แทนการรับประทานอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว เท่านี้ก็ช่วยลดการสะอึกได้
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด