Marasmus เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่มีความหมายว่า ภาวะร่างกายขาดโปรตีนและแคลอรี่ ส่วนใหญ่มักพบในเด็กหรือบุคคลในประเทศที่ขาดทรัพยากรทางอาหาร ซึ่งอาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่าจากร่างกายซูบผอม ผิวหนังเหี่ยวย่น ซึ่งควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการแก้ไขหรือปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารใหม่ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
[embed-health-tool-bmi]
Marasmus คืออะไร
Marasmus (มาราสมัส) คือ ภาวะทุพโภชนาการประเภทหนึ่งที่มีภาวะร่างกายขาดโปรตีนและแคลอรี่ในระดับรุนแรง รวมถึงสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ซึ่งแตกต่างกันจากโรคควาชิออร์กอร์ (Kwashiorkor) หรือ โรคขาดสารอาหารชนิดโปรตีนเป็นหลัก เพราะสารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกายทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย ส่วนใหญ่มักพบได้ในเด็ก แต่ก็อาจเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน
สาเหตุของ Marasmus
สาเหตุของภาวะร่างกายขาดโปรตีนและแคลอรี่ อาจมีดังต่อไปนี้
- คุณแม่ให้นมบุตรไม่เพียงพอต่อความต้องการของทารก เนื่องจากนมของคุณแม่อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ จึงอาจส่งผลให้ทารกเสี่ยงเป็นภาวะร่างกายขาดโปรตีนและแคลอรี่แต่เด็ก
- ผู้ป่วยติดเตียงหรือมีอาการเจ็บป่วยบ่อยครั้ง เพราะอาจส่งผลให้รู้สึกเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง เสี่ยงเป็นภาวะร่างกายขาดโปรตีนและแคลอรี่
- ครอบครัวที่มีปัญหาทางการเงิน
- ประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรด้านอาหารและเผชิญกับภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง
อาการของภาวะMarasmus
อาการของภาวะร่างกายขาดโปรตีนและแคลอรี่ อาจสังเกตได้ดังนี้
- ร่างกายสูญเสียไขมันทำให้ ผอมซูบที่อาจทำให้เห็นซี่โครงชัดเจน
- น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
- ศีรษะใหญ่กว่าลำตัว
- ผมร่วง
- ผิวหนังเหี่ยวย่น หย่อนคล้อยและแห้งกร้าน
- รู้สึกร่างกายขาดน้ำ กระหายน้ำมาก
- อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง
- พัฒนาการและเจริญเติบโตล่าช้า
ควรเข้าพบคุณหมอทันทีหากมีอาการท้องเสีย อุณหภูมิร่างกายต่ำ น้ำหนักลดลงกะทันหันและต่ำกว่าเกณฑ์ ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียนศีรษะและเป็นลมหมดสติบ่อยครั้ง เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเสี่ยงหัวใจวาย การติดเชื้อรุนแรงนำไปสู่การเสียชีวิต
การรักษาภาวะMarasmus
การรักษาภาวะร่างกายขาดโปรตีนและแคลอรี่ อาจทำได้ดังนี้
- รับประทานสารละลายหรือฉีดสารละลายเข้าสู่เส้นเลือด เช่น วิตามิน กรดอะมิโน กลูโคส แร่ธาตุ เพื่อช่วยป้องกันร่างกายขาดน้ำ รักษาสมดุลของอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการอ่อนแรง
- ยาปฏิชีวนะสำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในทางเดินหายใจ ติดเชื้อในทางเดินอาหาร
- รับประทานอาหารที่เน้นการเพิ่มโปรตีนและแคลอรี่ รวมถึงสารอาหารอื่น ๆ ในแต่ละมื้ออาหาร เช่น อาหารทะเล ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน โยเกิร์ต นม งา ผลไม้ ผักใบเขียว อัลมอนด์ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ คุณหมออาจใช้วิธีให้อาหารทางสายยางหรือหลอดเลือดดำแทน
ในระหว่างที่ปรับโภชนาการให้ผู้ป่วยและรับการรักษาด้วยยา คุณหมอจะติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อเช็กความผิดปกติ เช่น จังหวะการหายใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การคืนของน้ำหนักตัวและกล้ามเนื้อ