ชา ทำมาจากพืชตากแห้งชนิดต่าง ๆ มีกลิ่นหอม นิยมนำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนเพื่อดื่มดับกระหาย เพิ่มความสดชื่น ทั้งยังอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เนื่องจาก ชาอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย อาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองและอาจช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของผิวหนังได้ นอกจากนี้ ชายังอาจช่วยเพิ่มการเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งดีต่อการควบคุมน้ำหนัก สุขภาพลำไส้และการขับถ่ายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรดื่มชาในปริมาณที่เหมาะสมเพราะหากดื่มมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน
[embed-health-tool-bmr]
ชา 5 ชนิด ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ
ชาเป็นเครื่องดื่มที่ให้ประโยชน์กับสุขภาพ แต่ชาทุกชนิดมีคาเฟอีนเป็นส่วนผสมในปริมาณที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของชา อุณหภูมิน้ำและระยะเวลาการต้ม ซึ่งร่างกายควรได้รับคาเฟอีนในปริมาณปานกลางไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน หรือประมาณ 3-4 ถ้วย/วัน เพื่อป้องกันผลข้างเคียงของคาเฟอีน เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ใจสั่น โดยชาที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพอาจมีดังนี้
-
ชาดำ
ชาดำทำมาจากพืชตระกูลคาเมเลีย ไซเนนซิส (Camellia Sinensis) ซึ่งเป็นต้นชาชนิดเดียวกับที่ใช้ทำชาเขียว ชาขาว และชาอู่หลง โดยผ่านกระบวนการตากแห้งเป็นเวลานานก่อนนำไปผ่านความร้อน ทำให้ชามีสีดำ มีรสชาติเข้มและมีคาเฟอีนสูงกว่าชาชนิดอื่น นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) โพลีฟีนอล (Polyphenols) คาเทชิน (Catechins) ช่วยต้านการอักเสบที่เกิดจากการทำลายของอนุมูลอิสระ กระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น เพิ่มความตื่นตัว กระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลสูง
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน International Journal of Health Sciences เมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มชาดำต่อสุขภาพ พบว่า ชาดำเป็นเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่น้อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอล เช่น อิพิกัลโลคาเทชิน แกลเลต (Epigallocatechin Gallate) ธีฟลาวิน (Theaflavins) ธีอารูบิกินส์ (Thearubigins) กรดอะมิโนแอล-ธีอะนีน (L-theanine) คาเทชิน ฟลาโวนอยด์ ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอาจช่วยต้านการอักเสบและลดคอเลสเตอรอล จึงอาจช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด
-
ชาอู่หลง
ชาอู่หลงเป็นชาจีนดั้งเดิมที่ผ่านกระบวนการตากแห้งในระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนนำไปผ่านความร้อน ทำให้ชาอู่หลงมีสีและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น
- อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น โพลีฟีนอล ที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันภาวะดื้อต่ออินซูลิน รวมทั้งอาจช่วยกระตุ้นการย่อยสลายไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
- กระตุ้นการเผาผลาญไขมันจึงอาจช่วยในการควบคุมน้ำหนัก
- อุดมไปด้วยกรดอะมิโนแอล-ธีอะนีน (L-Theanine) ที่ดีต่อการทำงานของสมอง ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล อาจช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของสมอง และอาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมได้
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Neurobiology Protocols เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของชาอู่หลงต่อสุขภาพ พบว่า ชาอู่หลงอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มโพลีฟีนอลที่มีศักยภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค ช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย ต้านการอักเสบและลดคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน มะเร็ง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
-
ชาเขียว
ชาเขียวเป็นชาที่ไม่ผ่านกระบวนการตากแห้งและนำไปผ่านความร้อนด้วยวิธีการเผาหรือคั่ว ทำให้ชาเขียวยังคงมีสีเขียว ชาเขียวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ ซึ่งอาจช่วยลดไขมันไม่ดีในเลือด ลดการแข็งตัวของเลือด จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Chinese Medicine เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของชาเขียว พบว่า ชาเขียวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารคาเทชิน โดยเฉพาะสารอิพิกัลโลคาเทชิน แกลเลต อาจช่วยป้องกันโรคเมตาบอลิซึม (Metabolic Syndrome) ที่เกี่ยวกับระบบเผาผลาญในร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมทั้งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของชาเขียวต่อสุขภาพและการป้องกันโรค
-
ชาขาว
ชาขาวเป็นชาที่ใช้ยอดชาส่วนที่ยังตูมอยู่มาทำเป็นชา โดยผ่านการแปรรูปน้อยที่สุดทำให้มีรสชาติที่อ่อนกว่าชาชนิดอื่น ซึ่งชาขาวมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ที่ช่วยต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อและเซลล์ในร่างกาย อาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน เนื้องอก ชะลอความเสื่อมสภาพของผิวหนังและปรับปรุงสุขภาพสมอง ทั้งยังช่วยปรับปรุงการเผาผลาญ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและอาจลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้เช่นกัน นอกจากนี้ ชาขาวยังอุดมไปด้วยสารคาเทชิน (Catechins) แทนนิน (Tannins) และฟลูออไรด์ (Fluoride) ที่ช่วยให้เคลือบฟันแข็งแรงอีกด้วย
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน Food & Function Journal เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของชาเขียวและชาขาวต่อสุขภาพ พบว่า ชาขาวเป็นชาที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มโพลิฟีนอล (Polyphenol) เช่น คาเทชิน อิพิกัลโลคาเทชิน แกลเลต ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง รวมทั้งสารประกอบฟีนอลิกอื่น ๆ เช่น กรดแกลลิก (Gallic) กรดคาเฟอิก (Caffeic Acid) กรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic) เควอซิทีน (Quercetin) โปรแอนโธไซยานิดอล (Proanthocyanidols) ธีโอฟิลลีน (Theophylline) แอล-ธีอะนีน (L-Theanine) และแร่ธาตุ เช่น ฟลูออรีน (Fluorine) แมงกานีส โครเมียม ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยเพิ่มมวลกระดูก ป้องกันโรคทางระบบประสาท และป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2
-
ชาดอกคาโมไมล์
ชาดอกคาโมไมล์เป็นชาสมุนไพรที่ช่วยในการนอนหลับและลดความเครียด ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียนและอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ ทั้งยังอาจช่วยปรับปรุงการเผาผลาญในร่างกาย ลดปัญหาอาการท้องผูก ท้องร่วงและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคริดสีดวงทวารได้อีกด้วย
โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของชาคาโมมายล์ต่อสุขภาพ พบว่า ชาคาโมมายล์เป็นชาสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic) หลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) อะพิจีนีน (Apigenin) เควอซิทีน พาทูเลทิน (Patuletin) ลูทอีโอลิน (Luteolin) ไกลโคไซด์ (Glucosides) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยต้านจุลชีพ ต้านการอักเสบ ต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ลดคอเลสเตอรอล ต้านการกลายพันธ์ุของเซลล์และช่วยลดความวิตกกังวล
ข้อควรระวังในการดื่มชา
ชามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่อาจมีข้อควรระวังบางประการที่ส่งผลต่อสุขภาพ ดังนี้
- ชาแต่ละชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับบางคนได้ เช่น ชาดอกคาโมมายล์อาจทำให้มีอาการง่วงซึม อาเจียน หรือบางคนที่มีการแพ้ดอกไม้จำพวกดอกเดซี่ ดอกดาวเรือง ดอกเบญจมาศ อาจทำให้มีอาการระคายเคืองตา คัน เกิดผื่นแดงได้
- ชาอาจส่งผลกระทบต่อปฏิกิริยาของยาบางชนิด เช่น ยาต้านลิ่มเลือด (Blood Thinners) ยากล่อมประสาท ยาแอสไพริน รวมทั้งยาแก้ปวดกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Antiinflammatory Drugs หรือ NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน นาโพรเซน (Naproxen)
- ชามีส่วนประกอบของคาเฟอีนในปริมาณที่แตกต่างกัน ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับชนิดของชา เวลาการต้ม อุณหภูมิของน้ำ ซึ่งคาเฟอีนในชาอาจทำให้มีอาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือใจสั่นได้
- ชาบางชนิดอาจมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจาก สารตะกั่วอาจกระทบต่อสมองของทารกในครรภ์ที่กำลังพัฒนา และหากได้รับในปริมาณมากกว่า 40 ไมโครกรัม/เดซิลิตร/วัน อาจส่งผลเสียต่อตับและไตของทารก นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้