backup og meta

ใบเตย สรรพคุณ สารอาหาร และข้อควรระวังในการรับประทาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/04/2022

    ใบเตย สรรพคุณ สารอาหาร และข้อควรระวังในการรับประทาน

    ใบเตย เป็นสมุนไพรที่มีลักษณะใบเรียวยาว สีเขียว นิยมนำมาใช้บริโภค โดยสกัดเป็นเครื่องดื่ม และเพิ่มกลิ่นในอาหารหรือขนมหวานให้หอมหวานน่ารับประทานยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ใบเตยยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร ที่อาจมีสรรพคุณช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด และช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบได้อีกด้วย

    คุณค่าทางโภชนาการของใบเตย

    ใบเตย 100 กรัม มีสารอาหาร ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 17 กรัม
    • โปรตีน 1.3 กรัม
    • ไขมัน 0.7 กรัม
    • ไฟเบอร์ 13% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน

    นอกจากนี้ ใบเตยยังอุดมไปด้วย วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 และวิตามินซี ที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระบบภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

    ใบเตย สรรพคุณมีอะไรบ้าง

    ใบเตย มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของใบเตยในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    1.อาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อและข้ออักเสบรูมาตอยด์

    ใบเตยมีสารเอธานอล (Ethanol) ที่มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการอักเสบ จึงอาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Pharmacology ปี พ.ศ. 2553 ได้ทำการตรวจสอบเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของใบเตย โดยทดสอบในสัตว์ทดลอง โดยให้สารสกัดจากใบเตยปริมาณ 25 มิลลิกรัม 50 มิลลิกรัม และ 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งพบว่าสารเอธานอลที่เป็นสารสกัดในพืชรวมถึงใบเตยในปริมาณ 100 มิลลิกรัม อาจช่วยยับยั้งการอักเสบนาน 3 ชั่วโมง ทั้งนี การศึกษานี้เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของใบเตยในการต้านการอักเสบ

    2. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    ใบเตยเป็นสมุนไพรที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากมีวิตามินบีและวิตามินซีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้พุ่งขึ้นสูงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวาน

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของภาควิชาเคมีคลินิก คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ประเทศไทย ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pharmacognosy Magazine เมื่อปี พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดจากใบเตย ซึ่งทำการทดลองในกลุ่มผู้ที่มีสุขภาพดีและไม่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานจำนวน 30 คน เป็นผู้ชาย 15 คน และผู้หญิง 15 คน มีอายุเฉลี่ย 18-25 ปี ผู้เโดยแบ่งผู้เข้ารับการทดสอบออกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้กลุ่มที่ 1 ดื่มน้ำร้อน และกลุ่มที่ 2 ดื่มชาที่สกัดจากใบเตย พบว่า การดื่มชาใบเตยอาจช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลิน ช่วยดูดซึมกลูโคส และช่วยยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ที่เป็นสาเหตุทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น

    นอกจากนี้มีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งของศูนย์วิจัยโรคเบาหวาน มหาวิทยาลัย Shahid Sadoughi ประเทศอิหร่าน ที่ตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ Indian Journal of Medical Research เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยทำการทดลองให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งหมด 84 คน รับวิตามินซีในปริมาณ 500 มิลลิกรัม หรือ 1,000 มิลลิกรัม แบบสุ่มทุกวัน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า การรับประทานวิตามินซี 1,000 มิลลิกรัม/วัน อาจช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

    3.อาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ

    ใบเตยเป็นสมุนไพรที่อใบเตยเป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ (Carotenoid)  ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันและซ่อมแซมเซลล์ที่ได้รับความเสียหายจากอนุมูลอิสระที่อาจกระทบต่อหลอดเลือดหัวใจและการทำงานของหัวใจจนนำไปสู่โรคหัวใจได้

    จากการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระดับแคโรทีนในเลือดและความแปรผันของอัตราการเต้นของหัวใจ โดยการศึกษานี้ได้รวบรวมข้อมูลที่จากงานวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับสุขภาพและการมีสุขภาวะที่ดีของประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อว่า The Midlife in the United States (MIDUS) ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในช่วงอายุ 34-84 ปี จำนวน 1,074 คน พบว่า การรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน อาจช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยปรับปรุงความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้

    4.อาจช่วยรักษาแผลบนผิวหนัง

    ใบเตยมีกรดแทนนิก (Tannic) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ที่ก่อให้เกิดโรค  ปัจจุบันนำมาสกัดทำเป็นยารักษาต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นอาการท้องร่วง โรคริดสีดวงทวาร รวมถึงการรักษาบาดแผลบนผิวหนัง เช่น แผลจากไฟไหม้

    จาก การศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร ACS Applied Materials & Interfaces เมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษาแผลของไฮโดรเจลที่มีกรดแทนนิกเป็นส่วนประกอบ พบว่ายาในรูปแบบทาที่มีกรดแทนนิก หรือการดื่มน้ำใบเตอาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย บรรเทาอาการอักเสบ และช่วยให้บาดแผลสมานได้ไวขึ้น

    ข้อควรระวังการรับประทานใบเตย

    ใบเตยมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ หากรับประทานในปริมาณมากอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วงได้ นอกจากนี้ การนำใบเตยมาประกอบในอาหาร ขนมหวาน หรือเครื่องดื่ม ที่มีการปรุงแต่งรสชาติด้วยน้ำตาล และเกลือ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และไตทำงานหนักได้ ดังนั้น จึงควรระวังปริมาณการปรุงแต่งรสชาติ หรืออาจใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมเมเปิ้ล และควรเลือกใช้เกลือที่มีโซเดียมต่ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา