พริกไทยดำ เป็นพืชสมุนไพรและเครื่องเทศที่นิยมใช้ประกอบอาหารและใช้เป็นยาสมุนไพรกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต บรรเทาอาการปวดท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ มาช้านาน พริกไทยดำมีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ดร้อน ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกจะมีสีแดง และเมื่อแห้งทั้งเปลือกจะกลายเป็นเม็ดสีดำ อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 โพแทสเซียม แคลเซียม จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านโรคมะเร็ง และช่วยเพิ่มการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด
คุณค่าทางโภชนาการของ พริกไทยดำ
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า พริกไทยดำสด ประมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 251 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น
- คาร์โบไฮเดรต 64 กรัม (แบ่งเป็นไฟเบอร์หรือใยอาหาร 25.3 กรัม ส่วนที่เหลือเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น เช่น น้ำตาล แป้ง)
- โปรตีน 10.4 กรัม
- เถ้า (Ash) 4.49 กรัม
- ไขมัน 3.26 กรัม
- โพแทสเซียม 1,330 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 443 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 171 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 158 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ในพริกไทยดำยังมีแมงกานีส ซีลีเนียม สังกะสี ทองแดง เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 โฟเลต โคลีน รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารไพเพอร์รีน (Piperine) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์ (สารประกอบอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบหลัก) ที่ให้กลิ่นฉุนและรสเผ็ดร้อน มีส่วนช่วยต้านการอักเสบและบรรเทาปวด
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ พริกไทยดำ
พริกไทยดำอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของพริกไทยดำ ดังนี้
อาจช่วยเพิ่มการดูดซีมสารอาหารได้
พริกไทยดำมีสารไพเพอร์รีนที่อาจช่วยกระตุ้นการดูดซึมอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และอาจช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบทางเดินทางอาหารได้ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Foods เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับผลของการบริโภคขมิ้นชันต่อสุขภาพมนุษย์ โดยการรวบรวมและทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า โดยปกติแล้ว ร่างกายจะดูดซึมสารอาหารจากขมิ้นชันไปใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก แต่เมื่อรับประทานขมิ้นชัน 2 กรัมร่วมกับสารไพเพอร์รีนจากพริกไทยดำ 20 มิลลิกรัม พบว่า ร่างกายสามารถดูดซึมสารเคอร์คูมิน (Curcumin) จากขมิ้นขันเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้นถึง 2,000% ภายในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมงหลังบริโภค โดยไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ในมนุษย์
อาจเป็นพรีไบโอติกที่มีประโยชน์
สารไพเพอร์รีนในพริกไทยดำช่วยควบคุมความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้และเสริมสุขภาพทางเดินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Food Science เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพในการเป็นพรีไบโอติก องค์ประกอบทางเคมี และความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของเครื่องเทศที่ใช้ประกอบอาหารหลายชนิด พบว่า พริกไทยดำมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรค ช่วยควบคุมความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ และเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานของระบบทางเดินอาหาร
อาจต้านมะเร็งได้
พริกไทยดำมีสารบีตา-แคริโอฟิลลีน (b-caryophyllene) ซึ่งเป็นสารเทอร์พีน (Terpenes) จำพวกน้ำมันหอมระเหยที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่อาจเป็นประโยชน์ในการบรรเทาปวด ป้องกันการเสียหายของเซลล์ และรักษาโรคเรื้อรังอย่างโรคมะเร็งที่เกิดจากการอักเสบได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Medicine เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านมะเร็งและแก้ปวดของสารบีตา-แคริโอฟิลลีน พบว่า สารบีตา-แคริโอฟิลลีนกระตุ้นการตายและยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง รวมทั้งลดระดับของการสร้างเส้นเลือดใหม่ของเนื้องอกมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองในสัตว์ จึงควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไปเพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งของพริกไทยดำ
ข้อควรระวังในการบริโภค พริกไทยดำ
ข้อควรระวังในการบริโภค พริกไทยดำ อาจมีดังนี้
- ควรบริโภคพริกไทยดำในปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่เกิน 1-2 ช้อนโต๊ะ/วัน หากบริโภคมากเกินไป อาจทำให้ระคายเคืองและแสบร้อนในลำคอและกระเพาะอาหาร ปวดท้อง และอาหารไม่ย่อยได้
- สารไพเพอร์รีนในพริกไทยดำมีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัวช้า การบริโภคพริกไทยดำมากเกินไปจึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะตกเลือดหรือเลือดตกในได้ หากเลือดออกผิดปกติ
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกรดไหลย้อน ไม่ควรบริโภคพริกไทยดำมากเกินไป เพราะอาจทำให้มีกรดในหลอดอาหารเพิ่มขึ้น ระคายเคืองทางเดินอาหาร และทำให้อาการของโรคแย่ลงได้
- หากบริโภคพริกไทยดำแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ผิวหนังระคายเคือง คันผิวหนัง ผิวหนังบวมแดง อาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้พริกไทยดำ ควรหยุดบริโภคและไปพบคุณหมอ
[embed-health-tool-bmr]