backup og meta

ขมิ้นชัน ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    ขมิ้นชัน ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    ขมิ้นชัน เป็นชื่อหนึ่งของขมิ้น เช่นเดียวกับขมิ้นแกง ขมิ้นหัว ขี้มิ้น หรือตายอ ซึ่งเรียกแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย จัดเป็นพืชล้มลุกอยู่ในตระกูลเดียวกับขิง มีเหง้าอยู่ในดิน มีเนื้อสีเหลืองส้ม มีกลิ่นค่อนข้างฉุน นิยมนำมาใช้ประกอบอาหาร ทำเครื่องแกง สารสำคัญที่พบได้ในขมิ้นชัน คือ เคอร์คิวมิน (Curcumin) ซึ่งจัดเป็นสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนั้น ขมิ้นชันยังประกอบไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามิน เช่น วิตามินซี วิตามินบี เหล็ก โฟเลต

    คุณค่าทางโภชนาการของ ขมิ้นชัน

    ขมิ้นชัน 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 312 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 67.1 กรัม
  • โปรตีน 9.68 กรัม
  • ไขมัน 3.25 กรัม
  • โพแทสเซียม 2,080 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 299 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 208 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 168 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 55 มิลลิกรัม
  • โคลีน (Choline) 42.9 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 27 มิลลิกรัม
  • แมงกานีส 19.8 มิลลิกรัม
  • นอกจากนี้ ขมิ้นชันยังอุดมไปด้วยสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ซีลีเนียม (Selenium) สังกะสี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค โฟเลต (Folate)

    ประโยชน์ของ ขมิ้นชัน ต่อสุขภาพ

    ขมิ้นชัน ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติส่งเสริมสุขภาพของขมิ้นชัน ดังนี้

    อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

    เคอร์คิวมินในขมิ้นชันมีคุณสมบัติเสริมสร้างการทำงานของผนังหลอดเลือด รวมถึงช่วยลดไขมันต่าง ๆ ในหลอดเลือด โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น การบริโภคเคอร์คิวมิน จึงอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้หลอดเลือด และช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ขมิ้นชันและเคอร์คิวมินเพื่อลดระดับไขมันในเลือดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Journal ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยได้ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของขมิ้นชันและเคอร์คิวมิน โดยพบว่ามีงานวิจัยจำนวน 7 ชิ้น ที่ได้ทดลองการใช้ขมิ้นชันและเคอร์คิวมินในผู้ป่วยจำนวน 649 ราย และพบว่า ขมิ้นชันและเคอร์คิวมินอาจมีประสิทธิภาพช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ

    ดังนั้น นักวิจัยจึงสรุปว่าการบริโภคขมิ้นชันและเคอร์คิวมิน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการช่วยลดระดับไขมันในเลือด แต่ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

    ข้อควรระวังในการบริโภค ขมิ้นชัน

    ขมิ้นชันเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์หลากหลาย อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังในการบริโภค ดังต่อไปนี้

    • การบริโภคขมิ้นชันติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ได้
    • เมื่อบริโภคเคอร์คิวมินในขมิ้นชัน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานร่วมกับยาต้านเบาหวานเพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัยได้
    • ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดควรงดบริโภคขมิ้นชัน เพราะการบริโภคขมิ้นชันอาจทำให้เลือดหยุดไหลช้าลง ซึ่งอาจส่งผลให้เสียเลือดมากกว่าปกติระหว่างผ่าตัด
    • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ การบริโภคขมิ้นชันในปริมาณมาก อาจกระตุ้นการทำงานของมดลูก และอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ หญิงในระยะให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคขมิ้นชันในปริมาณมาก เพราะยังไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนว่าการบริโภคขมิ้นระหว่างให้นมบุตรนั้นปลอดภัย
    • การบริโภคขมิ้นชัน อาจทำให้ระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนในเพศชายลดลง ซึ่งจะส่งผลให้อสุจิเคลื่อนไหวช้าลง ทำให้โอกาสมีบุตรลดลง ดังนั้น ผู้ที่ต้องการมีบุตรควรหลีกเลี่ยงการบริโภคขมิ้นชันในปริมาณมาก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา