อาการของการ แพ้ครีมกันแดด อาจคล้ายกับอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสแสงแดด หรือโดนแสงไฟจัด ๆ หลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคผื่นแพ้แสง หรือผื่นแพ้แสงแดด โรคผดร้อน และอาการผิวไหม้แดด ซึ่งล้วนแต่ทำให้ผิวหนังแดง บางครั้งอาจมีอาการคัน และเป็นผื่นร่วมด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่แพ้ครีมกันแดดก็อาจมีอาการลมพิษ มีตุ่มนูน เป็นแผลพุพอง เลือดออก ผิวตกสะเก็ด และอาการเจ็บแสบร่วมด้วย
[embed-health-tool-ovulation]
อาการ แพ้ครีมกันแดด
อาการของการแพ้ครีมกันแดดอาจคล้ายกับอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสแสงแดด หรือโดนแสงไฟจัด ๆ หลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคผื่นแพ้แสง หรือผื่นแพ้แสงแดด (Sun Allergy หรือ Sun Poisoning หรือ Photodermatitis) โรคผดร้อน และอาการผิวไหม้แดด ซึ่งล้วนแต่ทำให้ผิวหนังแดง บางครั้งอาจมีอาการคัน และเป็นผื่นร่วมด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่แพ้ครีมกันแดดก็อาจมีอาการลมพิษ มีตุ่มนูน เป็นแผลพุพอง เลือดออก ผิวตกสะเก็ด และอาการเจ็บแสบร่วมด้วย
ปฏิกิริยาภูมิแพ้ครีมกันแดดจะปรากฏให้เห็นช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนอาจมีอาการแพ้ครีมกันแดดภายใน 2-3 นาทีหลังทาครีมกันแดด หรือบางคนก็อาจผ่านไป 2 วัน จึงจะปรากฏอาการ และบางครั้งอาการแพ้ครีมกันแดดก็อาจปรากฏเมื่อผิวหนังโดนแสงแดดและรังสียูวี ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า ผื่นแพ้สัมผัสเนื่องจากแพ้สารร่วมกับแสง (Photoallergic Contact Dermatitis)
ผู้ที่เสี่ยงต่อการ แพ้ครีมกันแดด
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้ครีมกันแดด อาจมีดังนี้
- มีประวัติโรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งโรคผื่นแพ้สัมผัส หมายถึง การอักเสบของผิวหนังชั้นนอกที่เกิดจากการสัมผัสกับวัตถุบางอย่าง ซึ่งในกรณีของครีมกันแดด ก็อาจจะเป็นน้ำหอม หรือสารกันเสีย เป็นต้น
- เป็นผู้หญิง เพราะมักใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของครีมกันแดดมากกว่าผู้ชาย
- มีปัญหาผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับแสงแดดเรื้อรัง เช่น ผิวเสียจากแสงแดด
- เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis หรือ Atopic Eczema) คือ ผิวหนังอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ เพราะผิวหนังไวต่อสภาพแวดล้อมมากเกินไป
- ทาครีมกันแดดบนผิวที่ไหม้เสียจากแดด หรือโดนแสงแดดทำร้ายอย่างรุนแรง
- ต้องทำงานกลางแจ้ง
สารเคมีในครีมกันแดดที่ทำให้เกิดอาการแพ้
การแพ้ครีมกันแดดอาจเกิดจากสารเคมีในครีมกันแดด ดังต่อไปนี้
- เบนโซฟีโนน (Benzophenones) เป็นสาเหตุของการแพ้ครีมกันแดดที่พบได้บ่อยมาก ดังนั้น เวลาซื้อครีมกันแดดจึงต้องระวังส่วนประกอบนี้บางครั้งเบนโซฟีนอลอาจมาในชื่อ ออกซิเบนโซน (Oxybenzone) ไดเฟนิลคีโตน (Diphenylketone) หรือสารเคมีอื่น ๆ ที่มีคำว่า เบนโซฟีโนน (Benzophenones) ต่อท้าย
- กรดพารา-อะมิโนเบนโซอิก (Para-Aminobenzoic Acid) หรือ พาบา (PABA) พบได้บ่อยในครีมกันแดดในอดีต แต่ในปัจจุบันผู้ผลิตครีมกันแดดไม่นิยมใช้สารชนิดนี้เป็นส่วนประกอบของครีมกันแดด เนื่องจากก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง รวมถึงผื่นแพ้สัมผัสด้วย หากพบว่าตัวเองแพ้กรดพาบา ก็อาจจะแพ้สารพาราฟีนิลีนไดอะมีน (Para-Phenylenediamine) ซึ่งเป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ย้อมผม หรือแพ้ยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า กลุ่มยาซัลฟา (Sulfa) ได้เช่นกัน
- ออคโตไครลีน (Octocrylene) มีรายงานทางการแพทย์หลายฉบับระบุว่า ออกโตไคลีนสามารถก่อให้เกิดโรคผื่นแพ้สัมผัสได้
นอกจากนี้ ยังมีสารซาลิไซเลต (Salicylate) ไดเบนโซอิลมีเทน (Dibenzoylmethane) และซินนาเมต (Cinnamate) ที่ต้องระวัง หากครีมกันแดดยี่ห้อไหนมีสารที่กล่าวมามากกว่าหนึ่งชนิด แนะนำว่าไม่ควรซื้อมาใช้งาน หรือหากซื้อมาแล้ว ให้ทดสอบอาการแพ้โดยทาครีมประมาณเท่าเหรียญสิบบริเวณใต้ท้องแขน หรือข้อพับ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกันประมาณ 3-5 วัน หรือแต้มครีมกันแดดบริเวณหลังใบหู ประมาณ 3 วัน หากไม่มีอาการคัน ผื่นแดง หรืออาการแพ้ใด ๆ เกิดขึ้น ก็อาจาทาหน้าได้ แต่นี่เป็นเพียงวิธีทดสอบอาการแพ้เบื้องต้นเท่านั้น จึงไม่สามารถการันตีได้ว่าจะใช้ครีมกันแดดนั้นได้โดยไม่แพ้จริง ๆ
ครีมกันแดดแบบไหนที่ใช้ได้ไม่แพ้
หากรู้ว่าตัวเองแพ้สารเคมีตัวไหน ก็ควรเลือกใช้ครีมกันแดด รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและผิวกายที่ไม่มีสารเคมีนั้น ๆ เป็นส่วนประกอบ หรือหลีกเลี่ยงสารกันแดดแบบเคมี หรือแบบเคมิคอล (Chemical Absorbers) แล้วใช้ครีมกันแดดที่มีสารกันแดดแบบกายภาพ หรือแบบฟิสิคอล (Physical Blockers) แทน เช่น ไทเทเนียม ไดออกไซด์ (Titanium dioxide) ซิงก์ออกไซด์ (Zinc Oxide) เพราะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังน้อยกว่าสารกันแดดแบบเคมี แต่ข้อเสียก็คือ ครีมกันแดดแบบกายภาพนั้นจะมีเนื้อหนักกว่า หรือเหนียวเหนอะหนะกว่า ทาแล้วหน้าอาจดูวอกหรือขาวเกินไป ทั้งยังล้างออกได้ยากกว่า จึงควรทาแต่พอดี และล้างออกด้วยผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอาง อย่าใช้แค่น้ำเปล่าเพื่อป้องกันการอุดตันของรูขุมขนจนทำให้เกิดสิว