แน่นอนว่า แมว เป็นอีกหนึ่งสัตว์เลี้ยงที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลิน และบำบัดจิตใจให้แก่ผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะอาการที่เรียกกันว่า อาการแพ้ขนแมว ดังนั้นหากใครกำลังตัดสินใจที่จำเข้าสู่วงการทาสแมว ก็อาจจำเป็นที่ต้องศึกษาวิธีป้องกันตนเองเบื้องต้นเสียก่อน ในบทความของ Hello คุณหมอ ที่นำมาฝากทุกคนวันนี้กันค่ะ
อาการแพ้ขนแมวเกิดมาจากสาเหตุใด
อาการแพ้ขนแมว (Cat Allergies) คือโรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นจากการได้รับสารบางชนิดในโปรตีนน้ำลายของแมว ที่มักจะติดอยู่บนขนแมว เวลาที่แมวเลียทำความสะอาดตัวเอง ผู้เลี้ยงมักได้รับสารเหล่านี้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว ผ่านทางการกอดหรือการหอมแมว นอกจากนี้ โปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ยังมิได้อยู่แต่เพียงบนขนแมว และน้ำลายเท่านั้น แต่ยังสามารถอยู่ตามปัสสาวะและอุจจาระของแมวได้อีกด้วย
หากคุณเผลอสัมผัส หรือได้รับสารดังกล่าวเข้า ก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการภูมิแพ้ขึ้นได้ เพราะเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะเริ่มกระบวนการสร้างแอนติบอดีเพื่อมาต่อต้านกับสิ่งแปลกปลอม จนกระทั่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่าภูมิแพ้ตามมาในที่สุด
สัญญาณเบื้องต้นของอาการ แพ้ขนแมว
- หายใจติดขัด
- ผื่นขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่รับการสัมผัส หรือขึ้นตามใบหน้า และหน้าอก
- ตาแดง และคันระคายเคือง
- น้ำมูกไหล
- ไอ จาม
แม้ว่าอาการแพ้ส่วนใหญ่อาจยังเป็นอาการที่ไม่รุนแรงมากเท่าไหร่นัก แต่ก็ยังมีผู้ที่แพ้ขนแมวบางกลุ่มอาจมีอาการที่รุนแรง จนนำไปสู่การเป็นโรคหอบหืดเรื้อรังได้ ดังนั้นเมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยาหรือสัญญาณเตือนของอาการข้างต้น โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในทันที เพื่อขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับยาบรรเทาอาการแพ้ทั้งในรูปแบบเม็ดและแบบพ่น อย่างเหมาะสมเท่าทัน
วิธีการป้องกันตนเองจากอาการ แพ้ขนแมว
แม้ว่าจะเป็นทาสแมวมากมากเพียงใด แต่หากคุณรู้ว่าตนเองมีอาการแพ้ขนแมว คุณก็อาจจำเป็นต้องศึกษาถึงการป้องกันไว้เบื้องต้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ จนส่งผลเสียแก่สุขภาพคุณร่วม ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- จำกัดพื้นที่บางส่วนไว้เฉพาะสำหรับแมว
- ทำความสะอาดรอบบ้าน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์เป็นประจำ
- รักษาระยะห่างระหว่างคุณกับแมวเล็กน้อย
- ทำความสะอาดเครื่องฟอกอากาศ หรือแอร์อย่างสม่ำเสมอ
- ล้างมือทุกครั้งหลังเก็บอุจจาระ หรือทำความสะอาดกระบะทรายแมว
- อาบน้ำให้แมวเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง หรือตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งคุณสามารถปรึกษาสัตวแพทย์ร่วมด้วยได้
ที่สำคัญไม่ว่าคุณจะรับสัตว์ชนิดใดมาเลี้ยง คุณควรมีการศึกษาพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน ไปจนถึงตรวจเช็กร่างกายของตนเองก่อนเสมอ เพราะเนื่องจากภาวะทางสุขภาพของแต่ละบุคคลอาจไม่พร้อมที่จะรับสัตว์บางชนิดมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะชื่นชอบเป็นอย่างมากก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงในภายหลัง หรือเกิดปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ที่อาจตามมา
[embed-health-tool-bmr]