backup og meta

วิธีตรวจมะเร็ง ด้วยเทคนิคทางการแพทย์

วิธีตรวจมะเร็ง ด้วยเทคนิคทางการแพทย์

มะเร็ง เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายสร้างเซลล์ที่ผิดปกติและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งยังสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2563 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุดเกือบ 10 ล้านคน และอาจมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย สถาบันมะเร็งแห่งชาติกล่าวว่าปัจจุบันสถิติผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้น 139,206 คน/ปี และมีอัตราเสียชีวิต 84,073 คน/ปี ซึ่งมะเร็งที่ถูกค้นพบมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งปากมดลูก ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยหากสังเกตพบว่า ตนเองมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ เสียงแหบ โดยไม่ทราบสาเหตุ รับประทานอาหารลำบาก เลือดออกทางทวารหนัก ผิวหนังเป็นแผล มีตุ่มหรือเป็นก้อน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง หรือตรวจวินิจฉัยมะเร็งในทันที เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

มะเร็ง เกิดจากอะไร

มะเร็ง เกิดจากเซลล์ในร่างกายมีการแบ่งตัวหรือเจริญเติบโตรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ จนอาจเกิดเป็นเนื้อร้าย เนื้องอก นอกจากนี้ เซลล์มะเร็งอาจสามารถแพร่กระจายไปทั่วทั้งร่างกาย ทำลายเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ โดยมะเร็งมีมากกว่า 100 ประเภท โดยมักเรียกตามอวัยวะหรือเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม ทั้งนี้ สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ได้รับมาจากคนในครอบครัว ภาวะสุขภาพบางประการ รวมถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย การตากแดดเป็นเวลานาน การสัมผัสหรือสูดดมสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ลำไส้ใหญ่บวม โรคอ้วน ก็อาจส่งผลให้มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้เช่นกัน

สัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง

สัญญาณเตือนของมะเร็งอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่อาจแสดงอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • อาการไอเรื้อรัง
  • หายใจลำบาก
  • ปวดศีรษะ
  • เหนื่อยล้าง่าย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้
  • เหงื่อออกเยอะ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
  • รับประทานอาหารหรือกลืนอาหารลำบาก
  • อาหารไม่ย่อย รู้สึกไม่สบายช่องท้อง
  • ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง
  • เลือดออก มีรอยฟกช้ำบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผิวหนังเปลี่ยนสี อาจทำให้ผิวมีสีเหลือง คล้ำ หรือแดง
  • แผลหายช้า
  • น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • ปัสสาวะลำบาก ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง รู้สึกเจ็บปวดและมีเลือดออกขณะขับถ่าย
  • มีก้อนหนาใต้ผิวหนัง

การตรวจวินิจฉัยมะเร็ง

คุณหมออาจใช้วิธีการตรวจมะเร็ง ดังนี้

  1. การตรวจสุขภาพ

คุณหมออาจสอบถามประวัติสุขภาพของครอบครัวและตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อหาก้อนเนื้อใต้ผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย และอาจตรวจหาสัญญาณของโรคมะเร็ง เช่น สีผิวเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้ คุณหมออาจทำการตรวจเลือด ปัสสาวะ และอุจจาระ ในการตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ

  1. การตรวจมะเร็งจากภาพ

เป็นวิธีตรวจหามะเร็งภายในด้วยการสร้างภาพโครงสร้างของร่างกายจากรังสีเอกซเรย์ คลื่นเสียง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้คุณหมอทราบถึงสิ่งผิดปกติ เช่น เนื้องอก ก้อนเนื้อ และสิ่งผิดปกติอื่น ๆ การตรวจสอบนี้มีหลายประเภทด้วยกัน ได้แก่

  • เอกซเรย์ เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างภาพภายในร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะออกมาในรูปแบบภาพขาวดำ เป็นวิธีที่รวดเร็วและสะดวกที่สุด และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ คัน ลมพิษ ความดันโลหิตต่ำ เหมาะสำหรับการตรวจโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งกระดูก โรคข้ออักเสบ หลอดเลือดอุดตัน ปัญหาทางเดินอาหาร ปอดบวม
  • ซีที สแกน (CT Scan) คือ การสแกนด้วยการเอกซเรย์ซึ่งจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉายภาพที่สแกนมุมต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก หลอดเลือด เนื้อเยื่อ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ เนื้องอก ภาวะลิ่มเลือด มะเร็ง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ รวมไปถึงตรวจสุขภาพเพื่อหาอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ และอาการผิดปกติหลังจากผ่าตัด สำหรับสตรีตั้งครรภ์อาจหลีกเลี่ยงการใช้วิธีนี้ เพื่อป้องกันทารกในครรภ์ได้รับรังสี โดยคุณหมออาจใช้วิธีการอัลตร้าซาวด์ เพื่อความปลอดภัย
  • อัลตร้าซาวด์ เป็นการวินิจฉัยด้วยคลื่นเสียงสะท้อนกับเนื้อเยื่อในร่างกาย เพื่อสร้างภาพโครงสร้างของร่างกายให้ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับการตรวจระบบไหลเวียนของเลือด ก้อนเนื้อ เนื้องอก ต่อมไทรอยด์ ปัญหาการทำงานของต่อมลูกหมาก มดลูก รังไข่
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการสแกนร่างกายโดยใช้คลื่นแม่เล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ เพื่อสร้างภาพของรายละเอียดภายในร่างกายและสามารถตรวจสอบได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น สมอง ไขสันหลัง หน้าอก กระดูก ข้อต่อ ตับ มดลูก ต่อมลูกหมาก เพื่อหาสาเหตุของโรค
  • การตรวจด้วยสารกัมมันตรังสี (Nuclear Scan) ใช้ตรวจหามะเร็งโดยการใช้สารกัมมันตรังสีฉีดเข้าสู่หลอดเลือด และแสกนด้วยเครื่องเพื่อตรวจจับกัมมันตรังสีที่ไหลทั่วร่างกาย สร้างภาพอวัยวะ โครงสร้างต่าง ๆ เผยบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ บางคนอาจมีความเสี่ยงแพ้ต่อสารกัมมันตรังสีเล็กน้อย สำหรับสตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรแจ้งให้คุณหมอทราบก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อความปลอดภัยของทารก คุณหมออาจใช้การตรวจหามะเร็งด้วยวิธีอื่นแทน
  1. การส่องกล้อง

คุณหมออาจใช้วิธีการตรวจด้วยการสอดกล้องขนาดเล็ก ผ่านเข้าสู่ทางช่องปาก หรือทวารหนัก เพื่อตรวจหามะเร็ง และสิ่งผิดปกติ โดยประเภทของการส่องกล้อง แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการตรวจที่ส่องกล้องผ่านเข้าไปบริเวณลำไส้โดยตรง เหมาะสำหรับผู้ที่ตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ ติ่งเนื้อ ความผิดปกติภายในช่องท้อง เช่น อาการปวดท้อง ท้องร่วงเรื้อรัง เลือดออกปนกับอุจจาระ
  • การส่องกล้องในกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) คุณหมอจะทำการสอดกล้องผ่านท่อยาวที่มีความยืดหยุ่น หรือแบบแข็ง เพื่อตรวจหาสาเหตุสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหากระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือด การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ก่อนการสอดท่อคุณหมออาจฉีดยาชา หรือให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อลดความกังวลขณะตรวจ
  • การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP) เป็นการวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นในตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และตับอ่อน โดยใช้กล้องเอนโดสโคปที่มีความยืดหยุ่นผ่านช่องปากลงไปในลำคอ ควบคู่กับการเอกซเรย์ เพื่อให้เห็นรายละเอียดภายในมากขึ้น ใช้สำหรับตรวจผู้ป่วยที่ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับอ่อน เช่น การอุดตันของท่อตับอ่อน การติดเชื้อในท่อน้ำดี เนื้องอก สำหรับสตรีตั้งครรภ์ คุณหมออาจเปลี่ยนวิธีการตรวจด้วยเทคนิคอื่นแทน เพราะอาจส่งผลให้ทารกได้รับรังสีที่เสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิด
  • การส่องกล้องตรวจหลอดลม (Bronchoscopy) เป็นการส่องกล้องผ่านทางจมูกหรือปากลงสู่ลำคอจนถึงปอด เพื่อตรวจเช็กหาความผิดปกติตามทางเดินหายใจ บางคนอาจได้รับการเอกซเรย์ทรวงอกร่วมด้วย วิธีนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงภายใน เช่น มีไข้เล็กน้อย เลือดออก ปอดยุบ
  1. การตรวจชิ้นเนื้อ

เป็นขั้นตอนผ่าตัดขนาดเล็กที่คุณหมออาจให้ยาระงับประสาทหรือฉีดยาชา แล้วนำเนื้อเยื่อมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาสาเหตุว่าเสี่ยงเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ โดยการตรวจจะขึ้นอยู่กับอาการของมะเร็งบริเวณนั้น ซึ่งอาจนำชิ้นเนื้อออกมาพร้อมกับวิธีการส่องกล้อง หตัรือใช้เข็มเจาะดูดชิ้นเนื้อ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cancer. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/cancer . Accessed January 07, 2022

Cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cancer/symptoms-causes/syc-20370588 . Accessed January 07, 2022

Cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cancer/diagnosis-treatment/drc-20370594 . Accessed January 07, 2022

How Is Cancer Diagnosed? https://stanfordhealthcare.org/medical-conditions/cancer/cancer/cancer-diagnosis.html . Accessed January 07, 2022

Cancer. https://www.nhs.uk/conditions/cancer/ . Accessed January 07, 2022

Symptoms of Cancer. https://www.cancer.gov/about-cancer/diagnosis-staging/symptoms . Accessed January 07, 2022

How is Cancer Diagnosed, https://www.cancer.gov/about-cancer/diagnosis-staging/diagnosis . Accessed January 07, 2022

X-ray. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/x-ray/about/pac-20395303 . Accessed January 07, 2022

Ultrasound. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/ultrasound/about/pac-20395177 . Accessed January 07, 2022

CT scan. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/ct-scan/about/pac-20393675 . Accessed January 07, 2022

MRI scan. https://www.nhs.uk/conditions/mri-scan/ . Accessed January 07, 2022

Nuclear Medicine Scan. https://www.webmd.com/cancer/nuclear-medicine-scan . Accessed January 07, 2022

Cystoscopy. https://www.nhs.uk/conditions/cystoscopy/ . Accessed January 07, 2022

Colonoscopy. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/colonoscopy/about/pac-20393569 . Accessed January 07, 2022

Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography (ERCP). https://www.hopkinsmedicine.org/health/treatment-tests-and-therapies/endoscopic-retrograde-cholangiopancreatography-ercp . Accessed January 07, 2022

Bronchoscopy. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/bronchoscopy/about/pac-20384746 . Accessed January 07, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/01/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก ที่คุณผู้ชายควรรู้

มะเร็งตับระยะสุดท้าย อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 08/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา