มะเร็ง คือ โรคร้ายที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น แต่เซลล์ผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย ทำให้เซลล์ต่าง ๆ มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติ ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะลุกลาม และแพร่กระจายทั่วร่างกาย โดยวันนี้เราจะกล่าวถึง มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ที่เกิดจากการผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว อยากทราบกันไหมว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถแบ่งออกมาใหญ่ ๆ ได้กี่ชนิด ต้องมาติดตามกัน
มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีกี่ชนิด
มะเร็งเม็ดเลือดขาว มี 2 ชนิด แต่ยังสามารถแบ่งประเภทของชนิดลงไปตามแขนงได้อีก แต่วันนี้เราจะพามารู้จักกับ 2 ชนิดหลัก ๆ ก็คือ
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง การที่เซลล์เม็ดเลือดขาวถูกผลิตออกมามากเกินไป ทำให้ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ ผู้ที่ป่วยเป็น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะไม่ค่อยปรากฏอาการออกมาเท่าไร ผู้ป่วยจะอยู่ในระยะนี้นานประมาณ 3-5 ปีขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจเลือด
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ตัวอ่อนของ เม็ดเลือดขาว เพิ่มขึ้นอย่างมาก และรวดเร็ว ซึ่งการแบ่งตัวดังกล่าวจะไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติของไขกระดูก
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน สามารถแบ่งได้กี่ชนิด
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมโฟไซติก (Acute Lymphocytic Leukemia หรือ ALL) เป็นชนิดของโรคมะเร็งในเลือดที่จะเริ่มต้นในเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้พบยากในผู้ใหญ่ แต่สามารถพบได้บ่อยในเด็ก
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอิลอยด์ (Acute Myelogenous Leukemia หรือ AML) เป็นมะเร็งที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมและความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดไมอิลอยด์ ที่ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นเซลล์แก่ได้ แต่มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในระยะของเซลล์ตัวอ่อนในไขกระดูกจำนวนมาก
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มักมีความรุนแรง และรวดเร็วมากกว่าชนิดเรื้อรัง ในเรื่องของระยะของวันหรือเวลา โดยสัมพันธ์กับระดับจำนวนเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมักจะมีภาวะติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ
การรักษา โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
- เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาหลักสำหรับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน โดยยาจะไปทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ไขกระดูกสามารถสร้างเม็ดเลือดปกติขึ้นมาใหม่ เคมีบำบัดมีทั้งชนิดรับประทานและฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง
- การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) เป็นการรักษาที่ใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ เช่น ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส
- การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell Transplantation) เป็นการนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือด และไขกระดูกของตัวผู้ป่วย ญาติ พี่น้อง หรือผู้บริจาคท่านอื่น ๆ ที่สามารถตอบสนองเข้ากันได้ดีกับร่างกายผู้ป่วยมาใช้ในการปลูกถ่าย
ในการรักษามีผลข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร
อย่างที่ทุกคนเข้าใจกันดีว่า การรักษามะเร็งมักมีผลข้างเคียงตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการ ผมร่วง มีแผลในปาก ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน อาการทางผิวหนัง ผลข้างเคียงของเคมีบำบัดอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับยาที่ใช้ และขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยอาจจะมีอาการเกิดรอยช้ำ เลือดออก และเมื่อยล้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเคมีบำบัดอาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ป่วย รวมไปถึงการมีบุตรในอนาคตได้
ปัจจุบัน คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาจากการรับประทานอาหาร หรือการได้รับสารเคมีที่มีสารก่อให้เป็นมะเร็ง โดยสาเหตุดังกล่าว ทำให้สารพันธุกรรมภายในเซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง และเสียหายได้ จนพัฒนาไปเป็นมะเร็ง ซึ่งการตรวจพบเจอก่อน ก็จะทำให้สามารถรักษาโรคที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว