มะเร็งโพรงจมูก (Nasopharyngeal Cancer หรือ Nasopharyngeal Carcinoma) เป็นโรคมะเร็งที่พบในช่องจมูก ซึ่งอาจอยู่บริเวณฐานของกะโหลกศีรษะเหนือหลังคาปาก อาการของมะเร็งชนิดนี้อาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย เช่น คัดจมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ มะเร็งโพรงจมูกอาจตรวจไม่พบในระยะเริ่มต้น เพราะมักเกิดขึ้นตำแหน่งที่ตรวจพบได้ยาก และการตรวจช่องจมูกทำได้ค่อนข้างยาก
คำจำกัดความ
มะเร็งโพรงจมูก คืออะไร
มะเร็งโพรงจมูก คือ มะเร็งที่ศีรษะและลำคอชนิดหายาก อาจพบที่ส่วนบนของลำคอด้านหลังจมูก หรือที่เรียกว่า ช่องจมูก ซึ่งอยู่บริเวณฐานของกะโหลกศีรษะเหนือหลังคาปาก
มะเร็งโพรงจมูกอาจเกิดจากไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein Barr Virus หรือ EBV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโมโนนิวคลิโอซิส โดยอาการที่ปรากฏอาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น คัดจมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ มะเร็งโพรงจมูกอาจตรวจไม่พบในระยะแรก เพราะการตรวจช่องจมูกทำได้ค่อนข้างยาก
อาการ
อาการมะเร็งโพรงจมูก
มะเร็งโพรงจมูกในระยะแรกอาจไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม อาการที่อาจพบได้เมื่อเป็นมะเร็งโพรงจมูก มีดังนี้
- มีก้อนที่คอซึ่งอาจเกิดจากต่อมน้ำเหลืองบวม
- มีเลือดปนในน้ำลาย
- คัดจมูก หรือมีเสียงดังในหู
- เลือดออกจากจมูก
- อาจสูญเสียการได้ยิน
- เจ็บคอ
- ปวดศีรษะ
- อาจเกิดการติดเชื้อในหูบ่อย ๆ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
อาการของมะเร็งโพรงจมูกในระยะเริ่มต้นอาจไม่จำเป็นต้องไปพบคุณหมอ แต่หากสังเกตเห็นว่าอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในร่างกาย เช่น อาการคัดจมูกผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
สาเหตุ
สาเหตุของมะเร็งโพรงจมูก
มะเร็งโพรงจมูกอาจมีความเชื่อมโยงกับไวรัสเอ็บสไตบาร์ แม้ว่าการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์อาจพบได้บ่อย แต่ผู้ป่วยทุกคนอาจไม่ได้มีไวรัสเอ็บสไตบาร์ที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งโพรงจมูก นักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นคว้าว่า ไวรัสเอ็บสไตบาร์อาจนำไปสู่มะเร็งโพรงจมูกได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมจากไวรัสเอ็บสไตบาร์ที่มีผลต่อดีเอ็นเอในเซลล์ของช่องจมูก การเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเออาจทำให้เซลล์เติบโตและแบ่งตัวผิดปกติจนอาจเกิดเป็นมะเร็งโพรงจมูก
ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งโพรงจมูกอาจเพิ่มขึ้น หากสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือรับประทานอาหารที่หมักเกลือ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งโพรงจมูก
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งโพรงจมูก อาจมีดังนี้
- เพศ มะเร็งโพรงจมูกอาจพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- อายุ แม้จะพบได้ในทุกช่วงวัย แต่อาจพบมากในผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี
- ประวัติครอบครัว หากสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งโพรงจมูก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้
- การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ เป็นไวรัสที่อาจทำให้เกิดโรคโมโนนิวคลิโอสิส (Mononucleosis) ทั้งยังอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งชนิดหายาก เช่น มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งกระเพาะอาหาร
- การรับประทานอาหารที่มีเกลือ สารเคมีที่ปล่อยออกมาในไอน้ำเมื่อปรุงอาหารที่มีเกลือ เช่น เนื้อแดดเดียว ผักดอง อาจเข้าไปในโพรงจมูก และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งโพรงจมูก นอกจากนั้น การสัมผัสกับสารเคมี เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือการสูดดมฝุ่นจากไม้ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักและการสูบบุหรี่ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งโพรงจมูก
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยมะเร็งโพรงจมูก
มะเร็งโพรงจมูกอาจวินิจฉัยได้โดยการตัดชิ้นเนื้อตรงเนื้องอกไปตรวจด้วยกล้องเอนโดสโคป (Endoscope) ซึ่งเป็นกล้องขนาดเล็ก วิธีนี้อาจช่วยให้ศัลยแพทย์ศีรษะและลำคอ สามารถมองเห็นเนื้องอกและขอบเขตของเนื้องอกได้ นอกจากนี้ คุณหมออาจใช้วิธีการเหล่านี้ร่วมด้วย
- การตรวจเอ็มอาร์ไอ หรือเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
- การตรวจเลือด
- การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์
การรักษามะเร็งโพรงจมูก
จากการวินิจฉัยเบื้องต้น หากตรวจพบว่าอาจเป็นมะเร็งโพรงจมูกปฐมภูมิ คุณหมออาจใช้วิธีการรักษาด้วยรังสี หรืออาจรักษาด้วยเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสี เนื่องจากมะเร็งระยะเริ่มแรกอาจตอบสนองต่อการรักษาวิธีนี้ ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับขนาดและขอบเขตของเนื้องอก
หากเป็นมะเร็งโพรงจมูกที่รักษาไปแล้ว แต่อาจกลับมาเป็นใหม่ คุณหมออาจใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยอาจใช้กล้องเอนโดสโคป และเครื่องส่องกล้องทางรูจมูก หรือหากจำเป็น อาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแบบเปิด นอกจากนั้น ยังอาจใช้การรักษาเหล่านี้ร่วมด้วย
- การรักษาด้วยรังสี
- การรักษาด้วยลำแสงโปรตอน
- เคมีบำบัด
- การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือมะเร็งโพรงจมูก
ในหลายกรณี มะเร็งหลังโพรงจมูกอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่การปรับไลฟ์สไตล์อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งหลังโพรงจมูก เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่บ่มหรือหมักเกลือ
- เลิกสูบบุหรี่
- งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์