diabetes คือ โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเซลล์ไม่ตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลิน ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถผลิตอินซูลินเพื่อเผาผลาญน้ำตาลเป็นพลังงานได้เท่าที่ควร ส่งผลให้น้ำตาลสะสมในกระแสเลือดมากเกินไป
[embed-health-tool-bmi]
อาการของ diabetes คือ
อาการของโรคเบาหวานอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น ดังนี้
- กระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
- หิวบ่อย
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน
- เบลอ มองเห็นภาพซ้อน
- แผลหายช้า
- ติดเชื้อบ่อย เช่น ติดเชื้อที่เหงือก ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในช่องคลอด
สาเหตุของ diabetes คืออะไร
โรคเบาหวานแต่ละชนิดอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้
สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 1
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าทำลายเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อนเหมือนกับการทำลายเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่เป็นอันตราย ส่งผลให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยลงหรือไม่ผลิตเลย ส่งผลทำให้น้ำตาลไม่ได้รับการเผาผลาญและสะสมอยู่ในกระแสเลือดมากขึ้น
สาเหตุของภาวะก่อนเบาหวานและโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานอาจนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงานได้ ส่งผลให้เกิดน้ำตาลสะสมในกระแสเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง การไม่ออกกำลังกาย
สาเหตุของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ในระหว่างตั้งครรภ์รกจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ไปจนกว่าจะคลอด ฮอร์โมนเหล่านี้ทำให้เซลล์ดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น ส่งผลให้อินซูลินไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลได้เท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ปัจจัยเสี่ยงของ diabetes
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 รวมทั้งโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้
- กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้
- การติดเชื้อหรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ในตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน
- น้ำหนัก หากร่างกายมีมวลไขมันมาก คือ ในผู้ชายประมาณ 15 -20% ในผู้หญิงประมาณ 25-30% จะยิ่งทำให้เซลล์ดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น ซึ่งโดยปกติผู้หญิงควรมีมวลไขมัน 8-12% และผู้ชายควรมีไขมัน 3-5% ของร่างกาย
- ไม่ขยับร่างกายหรือออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายอาจช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยเผาผลาญน้ำตาลให้เป็นพลังงานและยังช่วยให้เซลล์ไวต่ออินซูลินมากขึ้น
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะก่อนเบาหวานและโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ภาวะแทรกซ้อนของ diabetes
ภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงและเป็นโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับได้ อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นประสาทถูกทำลาย โรคไต จอประสาทตาเสื่อม สูญเสียการมองเห็น สูญเสียการได้ยิน ปัญหาสุขภาพเท้า ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม
นอกจากนี้ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น คลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวมาก เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 น้ำตาลในเลือดต่ำ
การรักษา diabetes
การรักษาโรคเบาหวานอาจสามารถทำได้ ดังนี้
- การฉีดอินซูลิน เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณของอินซูลินในร่างกายในการช่วยเผาผลาญน้ำตาลและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ยารักษาเบาหวาน เช่น เมตฟอร์มิน (Metformin) ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ยากลุ่มไกลไนด์ (Glinides) ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinediones) สารยับยั้งกลุ่มดีพีพีโฟร์ (DPP-4) เพื่อกระตุ้นตับอ่อนให้ผลิตและปล่อยอินซูลินมากขึ้น ช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- การปลูกถ่ายตับอ่อน เป็นวิธีการรักษาที่คุณหมออาจแนะนำให้กับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าทำลายเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อน ซึ่งหากการผ่าตัดสำเร็จอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยอินซูลิน แต่หากการผ่าตัดไม่สำเร็จ ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต เพื่อป้องกันร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่
- ผ่าตัดลดความอ้วน คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นโรคอ้วน ผ่าตัดลดความอ้วน ซึ่งเป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล ส่งผลให้ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
การดูแลตัวเองและการป้องกัน diabetes
การดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจทำได้ดังนี้
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังตื่นนอน ก่อนรับประทานอาหาร หลังรับประทานอาหาร และก่อนนอน เพื่อตรวจสอบค่าระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- เข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานที่อาจเป็นสัญญาณของความเสียหายต่อจอประสาทตา ต้อกระจก และโรคต้อหิน
- เข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องจาก น้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง จึงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคที่เหมาะสม เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม วัคซีนตับอักเสบบี โดยควรฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดหลังจากพบว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ 2 และหากผู้ป่วยเบาหวานมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ควรพบคุณหมอเพื่อตรวจภาวะสุขภาพก่อนรับวัคซีน
- ดูแลและตรวจสุขภาพเท้าอยู่เสมอ โดยการล้างเท้าทุกวันด้วยน้ำอุ่น และเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะระหว่างนิ้วเท้า จากนั้นการทาครีมหรือโลชั่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวและป้องกันผิวแห้งแตกที่อาจทำให้เกิดปัญหาเท้าได้ และควรตรวจหาแผลพุพอง บาดแผล รอยแดง รอยบวมหรือรอยแมลงกัดต่อย หากพบความผิดปกติควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาบาดแผล ไม่ควรปล่อยให้แผลลุกลาม เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลเน่า เนื้อตาย ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นถูกตัดเท้าได้
- รักษาความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล โดยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดินเร็ว เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที ซึ่งอาจช่วยควบคุมความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยเบาหวานได้
- ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เหงือกได้ง่ายและอาจเป็นแผลลุกลามได้เร็ว เนื่องจากในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นหลอดเลือดแดงตีบ อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่ดี ส่งผลทำให้แผลหายช้าและลุกลามได้ง่าย จึงควรแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังตื่นนอนและหลังรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ควรตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน
- งดการสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจ
- จัดการกับความเครียด ความเครียดอาจทำให้สุขภาพจิตและการทำงานของอินซูลินแย่ลง ส่งผลให้อินซูลินเผาผลาญน้ำตาลในเลือดได้ไม่เต็มที่และอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงควรจัดการความเครียดด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ฟังเพลง เป็นต้น
การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน อาจทำดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและรักษาน้ำหนักให้เหมาะสม โดยค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ควรอยู่ระหว่าง 18.5-22.90 และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ โดยควรมีค่าน้ำตาลน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง อาจทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมันและไม่ติดหนัง ธัญพืชไม่ขัดสี พืชตระกูลถั่ว อาหารไขมันต่ำ เลือกรับประทานไขมันชนิดไม่อิ่มตัวและลดการรับประทานน้ำตาล
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยป้องกันภาวะก่อนเบาหวานและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้อีกด้วย โดยควรออกกำลังกายความเข้มข้นปานกลางอย่างน้อย 30 นาที/วัน ประมาณ 5 วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์ เช่น เดินเร็ว เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ
- ขยับร่างกายให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่นั่งทำงานอยู่กับที่ ควรลุกขึ้นยืน เดิน แกว่งแขนหรือยืดกล้ามเนื้อ ทุก ๆ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายตื่นตัวและยังเป็นการออกกำลังกายในปริมาณเล็กน้อยตลอดทั้งวัน ซึ่งอาจช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ทั้งยังดีต่อการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย