backup og meta

ตรวจน้ำตาลคนท้อง เพื่อการคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สำคัญอย่างไร

ตรวจน้ำตาลคนท้อง เพื่อการคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สำคัญอย่างไร

การ ตรวจน้ำตาลคนท้อง ใช้เพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) มักทำการตรวจในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ แม้ภาวะนี้โดยส่วนมาแล้วจะหายได้เองหลังจากคลอดบุตร แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่งและทารกในครรภ์ได้ ทั้งนี้ หากวินิจฉัยพบภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์และเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ทั้งคุณแม่และทารกมีสุขภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์ และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้อีกด้วย

[embed-health-tool-due-date]

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นับเป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่พัฒนาขึ้นในช่วงขณะที่ตั้งครรภ์ (ในผู้ที่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน) ซึ่งหากไม่ควบคุมให้ดี ปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย ปากแห้ง กระหายน้ำบ่อยผิดปกติ หิวบ่อย ปัสสาวะบ่อย ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้

  • เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในการตั้งครรภ์ที่ผ่านมา
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน เช่น พี่ น้อง
  • เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกคลอดตั้งแต่ 4,000 กรัมขึ้นไป
  • เคยคลอดบุตร ที่เสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ออกมาแล้วเสียชีวิต หรือมีภาวะพิการแต่กำเนิด
  • มีอายุมากกว่า 35 ปี
  • เป็นโรคอ้วน
  • มีโรคร่วม เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง หรือภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์อื่น ๆ
  • มีกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS)

ตรวจน้ำตาลคนท้อง ควรตรวจเมื่อไหร่

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงของการตั้งครรภ์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์ที่มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นโดยส่วนมากแล้ว คุณหมอจะทำการตรวจคัดกรองภาวะตั้งแต่การฝากครรภ์ครั้งแรก ๆ หากคุณแม่มีความเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน แต่หากไม่มีความเสี่ยงหรือตรวจเมื่อครั้งแรกผลปกติ คุณหมอจะทำการตรวจคัดกรองอีกครั้งเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ที่ 24-28 สัปดาห์ (ช่วงไตรมาสที่ 2 หรือเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์)

ตรวจน้ำตาลคนท้อง ทำได้อย่างไร

การตรวจน้ำตาลเพื่อคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะใช้วิธีตรวจ 2 ขั้นตอน (Two Step Screening) ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 (Glucose Challenge Test)

การตรวจในขั้นตอนนี้ คุณแม่ยังไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำมาล่วงหน้า คุณหมอจะให้ดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 50 กรัม แล้วรอ 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคสสูงไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เสี่ยงเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แต่หากระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคสสูงเกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และคุณหมอจะนัดตรวจในขั้นตอนที่ 2 ต่อไป

ขั้นตอนที่ 2 (Oral Glucose Tolerance Test หรือ OGTT)

ในขั้นตอนที่ 2 คุณแม่จะจำเป็นงดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานก่อนตรวจมาเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จากนั้นจึงเจาะเลือดครั้งแรกเพื่อทำการตรวจระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร แล้วจึงจะให้ดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 100 กรัม หลังจากนั้นจะทำกาเจาะเลือดเพื่อตรวจน้ำตาลในเลือดหลังจากดื่มน้ำตาลไปแล้วที่ 1, 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ โดยในระหว่างนี้ คุณแม่ยังจำเป็นต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานอยู่แต่สามารถจิบน้ำเปล่าได้

เกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมมีดังนี้

  • ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารควรน้อยกว่า 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 155 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 3 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

หากมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์อย่างน้อย 2 ค่าขึ้นไป จะแสดงว่าคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณหมอจะให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกอาหารและการปรับพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ อีกทั้งคุณแม่ยังต้องหมั่นติดตามค่าน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ ในเบื้องต้นหากคุณแม่สามารถควบคุมอาหารและปรับพฤติกรรมสุขภาพได้ดี จนระดับน้ำตาลลดลงอยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย คุณหมอจะทำการนัดติดตามเป็นระยะ

แต่หากปรับพฤติกรรมสุขภาพแล้วไม่สามารถลดระดับน้ำตาลลงได้ตามเป้าหมาย คุณหมอจะจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยอินซูลิน ซึ่งเป็นยาที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณแม่ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ เพื่อลดระดับน้ำตาลลงให้ได้ตามเป้าหมาย ให้คุณแม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ไปได้อย่างปลอดภัยจนถึงวันคลอด

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กระทบต่อการตั้งครรภ์อย่างไร

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ ดังนี้

  • ทารกตัวใหญ่กว่าปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดของทารกในครรภ์จะสูงตามคุณแม่ที่เป็นเบาหวานไปด้วย ทำให้ตับอ่อนของทารกหลั่งอินซูลินมากกว่าปกติ อินซูลินที่มากขึ้นส่งผลให้ทารกตัวใหญ่ขึ้น จึงอาจคลอดตามธรรมชาติได้ยากกว่าปกติ จนอาจต้องใช้เครื่องมือพิเศษช่วยในการคลอดหรือผ่าคลอด
  • ภาวะครรภ์แฝดน้ำหรือครรภ์มานน้ำ (Polyhydramnios) คุณแม่อาจมีปริมาณน้ำคร่ำมากกว่าปกติจนทำให้ถุงน้ำคร่ำใหญ่ขึ้นและขยายตัว ซึ่งอาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดหรือมีปัญหาในการคลอดได้
  • การคลอดก่อนกำหนด ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดหรือก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) คือภาวะที่ทำให้คุณแม่มีความดันโลหิตสูงร่วมกับมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เป็นภาวะที่อันตรายและจำเป็นต้องรีบให้การรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเช่น หัวใจวาย ท่วมปอด ตับอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน ชัก แท้งบุตร และหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ทารกตัวเหลือง ช่วงแรกคลอดทารกที่มีคุณแม่เป็นเบาหวานอาจเกิดภาวะตัวเหลือง (Jaundice) ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gestational diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gestational-diabetes/diagnosis-treatment/drc-20355345#:~:text=Initial%20glucose%20challenge%20test.,L)%2C%20indicates%20gestational%20diabetes. Accessed March 24, 2023

Gestational diabetes. https://www.nhs.uk/conditions/gestational-diabetes/. Accessed March 24, 2023

Gestational Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/gestational-diabetes. Accessed March 24, 2023

Tests & Diagnosis for Gestational Diabetes. https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/what-is-diabetes/gestational/tests-diagnosis. Accessed March 24, 2023

Oral Glucose Tolerance Test During Pregnancy. https://my.clevelandclinic.org/health/diagnostics/9696-glucose-test-pregnancy. Accessed March 24, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

GDMA1 คืออะไร เกี่ยวข้องกับหญิงตั้งครรภ์อย่างไร

10 อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา