ธัญพืชสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นอีกหนึ่งอาหารที่อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยบาหวาน โดยเฉพาะธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีอย่างข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง คินัว เนื่องจากอุดมด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ เช่น อาจป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันโรคอ้วน
[embed-health-tool-bmi]
ธัญพืชสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
หากผู้ป่วยเบาหวานต้องการรับประทานธัญพืช อาจเลือกธัญพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี เนื่องจาก ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีอุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุ ที่ร่างกายต้องการ ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานอาจบริโภคธัญพืชประมาณ 45%-55% จากแคลอรี่ทั้งหมดที่รับประทานในแต่วัน เพื่อเสริมสร้างความสมดุลให้แก่สุขภาพร่างกาย โดยธัญพืชที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานรับประทานได้อาจมีดังนี้
- ข้าวโอ๊ต
- โฮลวีต
- ข้าวฟ่าง
- คินัว
- ข้าวกล้อง
- ข้าวโพด
- ข้าวไรย์เต็มเมล็ด
- บัลเกอร์
- ข้าวทริทิเคลี
นอกจากธัญพืช ผู้ป่วยเบาหวานอาจรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ผลไม้และผักชนิดต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักใบเขียว ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาซาร์ดีน เพราะอาจเป็นอีกตัวช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเส้นเลือด เติมวิตามินพร้อมแคลเซียมให้แก่ร่างกาย เพิ่มเอนไซม์ในการช่วยย่อยแป้ง และมีสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชัน ที่ส่งผลต่อการเกิดอาการรุนแรงจากโรคเบาหวาน
ประโยชน์ของ ธัญพืชสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ของธัญพืชในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
อาจช่วยป้องกันระดับคอเลสเตอรอล
เบต้ากลูแคนในธัญพืชอาจช่วยลดระดับคอลเลสเตอรอลโดยรวมและไขมันไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบในหลอดเลือดแดง และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ สารต้านอนุมูลอิสระในธัญพืชอย่างอาวีนันทราไมต์ (Avenanthramide) เมื่อทำงานร่วมกับวิตามินซียังอาจช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดนชันได้
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน European Journal of Clinical Nutrition พ.ศ. 2537 ศึกษาเกี่ยวกับเบต้ากลูแคนในข้าวโอ๊ตช่วยลดความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลในเลือดของผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง พบว่า เบต้ากลูแคน ซึ่งเป็นเส้นใยที่ละลายน้ำได้ในข้าวโอ๊ต ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมและไขมันไม่ดีในผู้ใหญ่ที่มีไขมันในเลือดสูงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อไขมันดี
อาจช่วยป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดสูง
เบต้ากลูแคน ซึ่งเป็นเส้นใยที่ละลายน้ำได้ในธัญพืชอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งยังอาจช่วยลดการตอบสนองของกลูโคสและอินซูลินหลังรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน European Journal of Nutrition พ.ศ. 2551 ศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากธัญพืชไม่ขัดสีจากข้าวบาร์เลย์ที่มีเส้นใยสูงหรือข้าวโอ๊ตที่อาจมีผลต่อระดับกลูโคสหลังตื่นนอนและการตอบสนองของอินซูลิน พบว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตอบสนองของกลูโคส คือ หลังรับประทานอาหารที่มีอะไมโลส (Amylose) หรือเอสเอสกลูแคน (SS-Glucan) สูง ในขณะที่การตอบสนองของอินซูลินต่ำที่สุดหลังมื้ออาหารที่มีเบต้ากลูแคนสูง ส่วนการตอบสนองของน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยในช่วง 60 นาทีแรกหลังจากที่ได้รับประทานข้าวบาร์เลย์และข้าวโอ๊ตจะต่ำกว่าปริมาณกลูโคสปกติ 5% โดยดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index หรือ GI) ของบาร์เลย์จะเท่ากับ 30 และดัชนีน้ำตาลของข้าวโอ๊ตจะอยู่ที่ 60 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์จากธัญพืชมีผลดีต่อการตอบสนองของกลูโคสในเลือดและการตอบสนองของอินซูลิน
อาจช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันโรคอ้วน
ธัญพืชอุดมด้วยเส้นใยที่ละลายน้ำได้อย่างเบต้ากลูแคน ซึ่งอาจเพิ่มความอิ่มโดยการชะลอการย่อยของกระเพาะอาหาร ทั้งยังอาจช่วยลดความอยากอาหาร ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Appetite พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับเส้นใยอาหารที่อาจช่วยควบคุมความอยากอาหาร พบว่า เส้นใยอาหารอาจช่วยทำให้อิ่มเร็วขึ้นและทำให้อิ่มนานขึ้น โดยเฉพาะเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้อาจช่วยเพิ่มความหนืดของลำไส้ที่มักส่งผลต่อการควบคุมความอยากอาหาร
ข้อควรระวังในการรับประทานธัญพืชสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรู้ในก่อนเริ่มรับประทานธัญพืช คือ การเลือกซื้อธัญพืชอย่างระมัดระวัง โดยอาจตรวจสอบตามคำแนะนำต่าง ๆ เหล่านี้
- หลีกเลี่ยงธัญพืชที่มีวัตุดิบอื่น ๆ เช่น เกล็ดน้ำตาล เกลือ ปนเปื้อน
- อ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ว่าระบุรับรองธัญพืชไม่ขัดสี หรือ มัลติเกรน เพราะหากไม่มี 2 ข้อความนี้ระบุอาจเป็นไปได้ว่าไม่ใช่ธัญพืชเต็มเมล็ด 100%
- ระวังข้อความประกอบบนบรรจุภัณฑ์ เช่น คำว่า อุดม เพราะอาจมีเพียงธัญพืชเพียงแค่ส่วนน้อย
- เลือกรับประทานธัญพืชควบคู่กับอาหารมื้อต่าง ๆ เช่น น้ำซุป สลัด ข้าวผัด
- ผู้ที่เป็นโรคเซลิแอคและผู้ที่แพ้กลูเตนควรเลือกผลิตภัณฑ์ธัญพืชที่ผ่านการรับรองว่าปราศจากกลูเตนเท่านั้น เนื่องจากบางครั้งอาจถูกปนเปื้อนด้วยธัญพืชอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดอาการแพ้
อย่างไรก็ตาม ก่อนรับประทานต่าง ๆ ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องปรึกษาคุณหมอเสียก่อน เนื่องจาก ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีเงื่อนไขทางสุขภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้น ธัญพืชเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้