โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือ GDM คือ โรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะหายหลังจากคลอดบุตร โดยเกิดจากร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามปกติ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ ได้แก่ การมีน้ำหนักเยอะหรือเป็นโรคอ้วน การมีญาติใกล้ชิดเป็นเบาหวาน อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นรักษาได้และป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และเด็กได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
[embed-health-tool-due-date]
GDM คือ อะไร
Gestational diabetes หรือ GDM คือ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นโรคที่พบในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แต่เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยลง จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างขึ้นจากตับอ่อน ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือดและใช้เป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่ออินซูลินทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้มีน้ำตาลปริมาณมากตกค้างและสะสมอยู่ในกระแสเลือด จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และนำไปสู่โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ GDM มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ได้ 24-28 สัปดาห์ คุณแม่จึงต้องเข้ารับการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล หากพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และอาจต้องทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลแบบแบบ 3 ชั่วโมง (Oral glucose tolerance test หรือ OGTT) เพื่อยืนยันผลว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ GDM
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้
- มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- เคลื่อนไหวร่างกายน้อย ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- มีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)
- เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- มีญาติใกล้ชิดที่เป็นเบาหวาน
- เคยคลอดเด็กที่น้ำหนักเยอะ หรือมากกว่า 4 กิโลกรัมมาก่อน
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ GDM ส่งผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ GDM อาจส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อคุณแม่และเด็กในครรภ์ ดังนี้
ผลกระทบต่อคุณแม่
- อาจทำให้ความดันโลหิตสูงและเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
- อาจจำเป็นต้องผ่าคลอด
- อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์เมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไป และมีความเสี่ยงสูงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่ออายุมากขึ้น
ผลกระทบต่อทารกในครรภ์
- หากระดับในเลือดสูงกว่ามาตรฐาน อาจทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดเกินเกณฑ์ หรือมากกว่า 4 กิโลกรัม
- อาจทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนด
- ทารกอาจมีภาวะหายใจลำบากตั้งแต่กำเนิด (Respiratory distress syndrome) เนื่องจากคลอดก่อนกำหนด
- ทารกอาจพิการตั้งแต่กำเนิด
- ทารกอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอดและอาจมีอาการชักได้
- ทารกอาจเสี่ยงเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- อาจเกิดภาวะตายคลอด (Stillbirth) ซึ่งหมายถึงภาวะที่ทารกคลอดออกมาแล้วไม่มีสัญญาณชีพ เนื่องจากเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์
แนวทางการรักษาภาวะ GDM
การรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจทำได้ดังนี้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด และเนื้อสัตว์ไม่ติดมันเพื่อเสริมโปรตีน รวมถึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ธัญพืชขัดสี น้ำหวาน ที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็วและอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงแบบเฉียบพลันได้ และควรหมั่นขยับร่างกายอยู่เสมอ เช่น ออกกำลังกายเบา ๆ ทั้งก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และหลังคลอด เพื่อช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ
ทีมคุณหมอผู้ดูแลอาจขอให้คุณแม่ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจเบาหวาน อย่างน้อย 4 ครั้ง/วัน ในช่วงหลังตื่นนอนและหลังรับประทานอาหาร เพื่อให้คุณแม่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายและใกล้เคียงกับเกณฑ์ปกติมากที่สุด ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมกับผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า ก่อนรับประทานอาหาร
- 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง
- 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือน้อยกว่า หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง
ฉีดอินซูลินหรือรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือด
หากการดูแลตัวเองเบื้องต้นไม่สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ คุณหมออาจให้ฉีดอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลไปเป็นพลังงานให้กับร่างกาย หรือสั่งจ่ายยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน
ติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด
การติดตามสุขภาพของทารกในครรภ์เป็นส่วนสำคัญของแผนการรักษาโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ คุณหมอจะตรวจภาวะสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วยวิธีอัลตราซาวด์และการทดสอบอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์และหลังคลอดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว
ติดตามผลหลังคลอด
คุณหมออาจนัดตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้งในช่วง 6-12 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่กลับสู่ระดับปกติ และอาจต้องกลับมาตรวจโรคเบาหวานซ้ำทุก 3 ปี
การป้องกันภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงด้วยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ในช่วงก่อนตั้งครรภ์