backup og meta

เท้าบวม เบาหวาน วิธีรักษา ทำได้อย่างไร

เท้าบวม เบาหวาน วิธีรักษา ทำได้อย่างไร

โรคเบาหวานเป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้มีของเหลวรั่วออกจากหลอดเลือดเเละไปเพิ่มการสะสมของน้ำตามเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการบวมตึงตามอวัยวะดังกล่าวได้ โดยมักเกิดขึ้นที่อวัยวะส่วนปลาย เช่น บริเวณขา ข้อเท้า และเท้า เมื่อมีอาการ เท้าบวม เบาหวาน วิธีรักษา สามารถทำได้ด้วยการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบวม เช่น เพิ่มการขยับเคลื่อนไหวของเท้า ยาขับปัสสาวะเพื่อขับของเหลวที่คั่งในเนื้อเยื่อ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหมั่นดูแลสุขภาพเท้าและสังเกตอาการผิดปกติ เช่น อาการบวม แผลที่เท้า ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

เท้าบวมเมื่อเป็นเบาหวาน เกิดจากอะไร

โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอหรือเซลล์ในร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้สมดุลการจัดการกับน้ำตาลในเลือดเสียไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เเละหากควบคุมโรคเบาหวานไม่ดี ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ผนังของหลอดเลือดฝอยเสื่อมลง รวมถึงทำให้แรงดันในหลอดเลือดเพิ่มขึ้นจนทำให้ของเหลวรั่วออกมาจากหลอดเลือดเข้ามาสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ บริเวณขา ข้อเท้า เท้า จึงเป็นที่มาของอาการเท้าบวม

อาการเท้าบวมอาจเกิดจากภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ ที่พบร่วมกับโรคเบาหวาน ดังต่อไปนี้

  • โรคอ้วน
  • ภาวะเลือดไหลเวียนผิดปกติ
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
  • ภาวะหลอดเลือดดำเสื่อม
  • การคั่งของน้ำเหลือง (Lymphedema)
  • โรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น โรคหัวใจ โรคไต
  • ผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาลดความดันเลือดบางชนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเเก้ปวด/ลดอาการอักเสบ ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด

เท้าบวม เบาหวาน วิธีรักษา

การรักษาอาการบวมน้ำอาจแตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบวม โดยทั่วไปอาจมีดังนี้

  • อาการเท้าบวมที่เกิดจากโรคอ้วน สามารถลดอาการบวมได้ด้วยการลดน้ำหนัก
  • อาการเท้าบวมที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ สามารถรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด
  • อาการเท้าบวมจากภาวะบวมน้ำเหลือง เเละจากหลอดเลือดดำเสื่อม นอกจากการรักษาที่สาเหตุเเล้ว การรักษาโดยใช้ถุงเท้าหรือถุงน่องกระชับขา (Compression Stocking/Socks) จะช่วpเพิ่มความดันในระดับที่เหมาะสม ทำให้เลือดเเละระบบน้ำเหลืองไหลเวียนได้ดีขึ้น เเละ ช่วยลดอาการขาบวมได้
  • ลดเค็ม โดยการเลี่ยงอาหารรสจัด ซึ่งรวมถึงอาหารรสเค็ม อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง กะปิ ไข่เค็ม ปลาเค็ม ผลไม้ดอง ปลาร้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีโซเดียมสูง ซึ่งหากในร่างกายมีโซเดียมสูงจะยิ่งทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ บวมน้ำ เเละยิ่งเสริมทำให้เท้าบวมได้ง่ายขึ้น
  • คุณหมออาจให้การรักษาด้วยยาขับปัสสาวะ เพื่อช่วยขับของเหลวที่คั่งอยู่ในเนื้อเยื่อบริเวณขา ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมน้ำได้
  • คุณหมออาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงการยืน หรือ นั่งห้อยขาเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมให้ของเหลวสะสมที่บริเวณขาได้ง่ายขึ้น
  • อาการเท้าบวมที่เกิดจากผลข้างเคียงของยา รักษาด้วยการหยุดใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการ ทั้งนี้ควรแจ้งคุณหมอเกี่ยวกับอาการเพื่อทำการหยุดยาตัวที่ทำให้มีอาการบวม เเละ เลือกใช้ยาอื่นทดเเทนเพื่อควบคุมโรค ไม่ควรเปลี่ยนหรือหยุดยาเองเด็ดขาด

การดูแลเท้าเมื่อเป็นโรคเบาหวาน

ผู้ที่เป็นเบาหวานควรดูเเลสุขภาพเท้าเบื้องต้น ดังนี้

  • ล้างทำความสะอาดเท้าเป็นประจำทุกวัน ล้างทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำเป็นเวลานานเนื่องจากอาจทำให้ผิวเปื่อยและทำให้เป็นแผลได้ง่าย และควรซับเเห้งให้ทั่วทั้งบริเวณเท้าและซอกนิ้วเท้า และทาโรยแป้งฝุ่นที่ตามซอกนิ้ว เพื่อลดความซับความชื้นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ
  • หมั่นตรวจสอบสุขภาพเท้าอยู่เสมอ ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจสอบสุขภาพเท้า เช่น มองหารอยแผล รอยขีดข่วน หูด หรือจุดที่เท้าหนาด้านผิดปกติ เนื่องจากอาจมีเเผลเล็กๆ น้อย ๆ ได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้หากสังเกตว่าเท้าหรือนิ้วเท้าผิดรูป หรือ มีแผลที่เป็นเรื้อรัง ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
  • ตัดเล็บเท้าเป็นแนวตรงเสมอปลายนิ้ว หลีกเลี่ยงการตัดเล็บแบบมุมโค้งเเละตัดเล็บสั้นจนเกินไปและควรตะไบลับขอบเล็บให้เรียบ การตัดเล็บด้วยวิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ตัดเล็บลึกจนกินเนื้อ และป้องกันไม่ให้เล็บงอกแทงผิวหนังบริเวณขอบเล็บทั้งสองข้างซึ่งอาจทำให้เกิดเเผลที่บริเวณปลายนิ้วได้
  • สวมถุงเท้าและรองเท้า ผู้ป่วยควรสวมถุงเท้าและรองเท้าที่ห่อหุ้มทั่วทั้งบริเวณเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้า และควรเลือกรองเท้าที่ขนาดพอดีเท้าและไม่บีบรัดเท้ามากเกินไปซึ่งจะทำให้เกิดการเสียดสี นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าเเม้จะอยู่ในบ้านหรือภายในอาคาร
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้เท้าสัมผัสความร้อนและความเย็นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการเเช่เท้าในน้ำอุ่น เพราะหากมีภาวะเส้นประสาทเสื่อม จะทำให้รับความรู้สึก รวมถึงอุณหภูมิได้ลดลง ทำให้อาจไม่รู้สึกถึงความร้อนเหมือนเช่นปกติ จึงเสียงต่อการเกิดเเผลเท้าพอง หรือ หากอยู่ในพื้นที่มีอากาศหนาว ควรสวมถุงเท้าอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับเท้า
  • ลดการคั่งของของเหลวที่เท้ายกเท้าให้สูงขึ้นขณะนั่งหรือนอน เช่น ยกขาพาดที่เก้าอี้หรือโต๊ะเตี้ย ๆ  หาผ้าหรือหมอนเล็ก ๆ มารองเสริมเวลานอน ซึ่งจะช่วยดการสะสมของของเหลวบริเวณเท้า เเละ หมั่นขยับเคลื่อนไหวเท้าบ่อย ๆ เพื่อเสริมการไหลเวียนของเลือด ซึ่งจะช่วยลดอาการเท้าบวมได้

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetic Foot. https://medlineplus.gov/diabeticfoot.html#:~:text=How%20does%20diabetes%20cause%20foot,of%20feeling%20in%20your%20feet.. Accessed July 19,  2022

diabetes and foot problems. https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/complications/feet. Accessed July 19, 2022

Diabetic Foot Problems. https://www.webmd.com/diabetes/foot-problems. Accessed July 19, 2022

Swelling (Edema) and Diabetes – Swelling in the Legs, Ankles and Feet. https://www.diabetes.co.uk/diabetes-complications/edema-and-diabetes.html.  Accessed July 19, 2022

Diabetes and Foot Problems.https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/preventing-problems/foot-problems#keep. Accessed July 19, 2022

Peripheral Neuropathy. https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/preventing-problems/nerve-damage-diabetic-neuropathies/peripheral-neuropathy. Accessed July 19, 2022

Lower limb oedema in diabetes. https://wchh.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/pdi.2133. Accessed July 19, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เท้า กับโรคเบาหวาน ดูแลรักษาอย่างไร

เท้าบวม เบาหวาน สาเหตุและการดูแล


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา