backup og meta

อาการโรคเบาหวานระยะสุดท้าย และการรับมือ

อาการโรคเบาหวานระยะสุดท้าย และการรับมือ

อาการโรคเบาหวานระยะสุดท้าย เป็นสัญญาณที่บอกถึงระยะร้ายแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ของโรคเบาหวาน ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะแทรกซ้อนที่สร้างความเสียหายให้กับระบบการทำงานภายในร่างกาย ดังนั้น การสังเกตอาการโรคเบาหวานระยะสุดท้ายอาจช่วยรับมือกับการพัฒนาของโรคได้

โรคเบาหวานระยะสุดท้าย คืออะไร

โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือดที่ผิดปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเบาหวาน ซึ่งโรคเบาหวานระยะสุดท้ายเป็นระยะที่รุนแรงและควบคุมไม่ได้ อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคไต ปัญหาสายตาปัญหาผิว การติดเชื้อที่รุนแรง ปัญหาช่องปาก เส้นประสาทเสียหาย และปัญหาระบบย่อยอาหาร เนื่องจากระดับน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานในร่างกายหลายส่วน

อาการโรคเบาหวานระยะสุดท้าย

อาการของโรคเบาหวานระยะสุดท้ายส่วนใหญ่เป็นอาการจากภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง และการพัฒนาของภาวะแทรกซ้อน ส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในร่างกาย ที่อาจทำให้มีอาการดังนี้

ระดับน้ำตาลในลือดไม่สมดุล

ผู้ป่วยโรคเบาหวานระยะสุดท้ายควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล เพราะการใช้ยารักษาโรคเบาหวานหรือการควบคุมแป้งและน้ำตาลมากเกินไปอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ มีอาการดังนี้

  • รู้สึกเหนื่อยล้า วิงเวียนศีรษะ ผิวซีด
  • หิวบ่อย
  • ตัวสั่น ใจสั่น ชาที่ริมฝีปาก
  • อารมณ์แปรปรวน
  • เห็นภาพซ้อน
  • มึนงง สับสนและไม่มีสมาธิ ง่วงนอนบ่อย

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจไม่แสดงอาการในช่วงแรก แต่หากมีระดับน้ำตาลสูงขึ้นมากอาจมีอาการ ดังนี้

  • รู้สึกเหนื่อยล้า
  • ปากแห้ง กระหายน้ำมากขึ้น
  • ปวดท้อง
  • ปัสสาวะบ่อยครั้ง
  • น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ เชื้อราในช่องคลอด และการติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • ลมหายใจที่มีกลิ่นหวานเหมือนผลไม้

การติดเชื้อบ่อยขึ้น

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้ระบบการทำงานองร่างกายแย่ลง ซึ่งการติดเชื้อเป็นอาการโรคเบาหวานระยะสุดท้ายที่พบบ่อยและอาจรุนแรงขึ้น ทำให้แผลหายช้าลงโดยเฉพาะที่เท้า และสำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานอาจเกิดการติดเชื้อราในกระเพาะปัสสาวะและช่องคลอดบ่อยครั้ง

มือและเท้าชา

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาท ซึ่งอาจทำให้มีอาการเสียวซ่า ชาที่มือและเท้า หรือรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่แขน ขา มือ และเท้า

กระหายน้ำมากขึ้นและปัสสาวะบ่อยครั้ง

อาการโรคเบาหวานระยะสุดท้ายที่พบบ่อยคืออาการกระหายน้ำมากขึ้นและปัสสาวะบ่อยครั้ง เกิดจากน้ำตาลกลูโคสส่วนเกินสะสมอยู่ในเลือด ทำให้ไตทำงานมากขึ้นเพื่อดูดซับกลูโคสส่วนเกินนี้ กลูโคสส่วนเกินที่ไตไม่สามารถดูดซับได้หมดจะดึงของเหลวออกจากเนื้อเยื่อ และถูกขับออกผ่านทางปัสสาวะทำให้ร่างกายขาดน้ำ จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกระหายน้ำ และการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นจึงทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้งตามมาด้วยเช่นกัน

ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นและน้ำหนักลดลง

เมื่อร่างกายขับกลูโคสออกจากเลือดผ่านทางปัสสาวะมากขึ้น อาจส่งผลให้ร่างกายสูญเสียแคลอรี่ และทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ เมื่อร่างกายไม่มีกลูโคสเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างเพียงพอ จึงทำให้ผู้ป่วยอาจมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

มองเห็นภาพซ้อน

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะดึงของเหลวออกจากเนื้อเยื่อ รวมถึงน้ำในเนื้อเยื่อของดวงตาด้วย ส่งผลให้การโฟกัสของดวงตาแย่ลงและมองเห็นภาพซ้อน หากปล่อยไว้อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นและตาบอดได้

ปัญหาไต

โรคเบาหวานระยะสุดท้ายอาจพัฒนาไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า เบาหวานลงไต สามารถแบ่งได้เป็น 5 ระยะตามความรุนแรง ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ไตเริ่มทำงานหนักและโตขึ้นเล็กน้อย เริ่มมีอัลบูมิน (Albumin) คือโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระแสเลือด หรือเรียกว่า ไข่ขาว  รั่วออกมาทางปัสสาวะประมาณ 30-300 มก./วัน
  • ระยะที่ 2 ไตเริ่มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างช้า ๆ ซึ่งยังไม่แสดงอาการใดใด
  • ระยะที่ 3 เบาหวานลงไตระยะเริ่มต้น บางคนอาจไม่มีอาการหรืออาจแสดงอาการบวมบริเวณมือและเท้า และอาจมีความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง
  • ระยะที่ 4 เบาหวานลงไตระยะร้ายแรง อาจมีอาการบวมที่มือและเท้า ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ระยะที่ 5 ไตวาย เป็นภาวะที่ไตหยุดทำงาน อาจมีอาการปัสสาวะเป็นฟอง มือและเท้าบวม เบื่ออาหาร รสชาติโลหะในปาก และอาการชัก ต้องได้รับการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไต

ปัญหาไตเป็นอาการโรคเบาหวานระยะสุดท้ายที่พบบ่อยเ ซึ่งเกิดจากไตทำงานหนักเพื่อดูดซับกลูโคสในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการ ดังนี้

  • ปัสสาวะสีเข้ม หรือเป็นเลือด
  • ปัสสาวะเป็นฟอง
  • ปวดบริเวณไตบริเวณหลังส่วนล่าง
  • โรคไตเรื้อรัง หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดและอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และโรคอ้วน ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดและหัวใจตามมา และอาจทำให้มีอาการแผลหายช้าลง เจ็บหน้าอก และจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ

การรับมือกับอาการโรคเบาหวานระยะสุดท้าย

การรับมือกับโรคเบาหวานระยะสุดท้าย เป็นการควบคุมอาการให้คงที่ และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ไม่ให้พัฒนาจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น ดังนี้

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดครต ไขมันและแคลอรี่สูงหากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เน้นอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี
  • ออกกำลังกาย โดยการออกกำลังกายในระดับปานกลางประมาณ 30 นาทีต่อวัน เช่น การเต้นแอโรบิก การเดินเร็ว เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดน้ำหนักส่วนเกิน
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ควบคุมไม่ให้ระบน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไป
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และใช้ยาอินซูลินหรือยารักษาโรคเบาหวานตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • เข้ารับการทดสอบสำหรับภาวะแทรกซ้อนเมื่อเข้าขั้นโรคเบาหวานระยะสุดท้าย ดังนี้
    • ตรวจเลือด (A1c blood test)
    • การทดสอบภาวะกรดในเลือดสูงจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis : DKA)
    • ทดสอบต่อมไทรอยด์

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetes symptoms: When diabetes symptoms are a concern. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/in-depth/diabetes-symptoms/art-20044248. Accessed September 28, 2021

How Does Diabetes Affect Your Body?. https://www.webmd.com/diabetes/guide/risks-complications-uncontrolled-diabetes. Accessed September 28, 2021

Diabetes Complications. https://www.webmd.com/diabetes/diabetes-complications. Accessed September 28, 2021

Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/symptoms-causes/syc-20371444. Accessed September 28, 2021

Low blood sugar (hypoglycaemia). https://www.nhs.uk/conditions/low-blood-sugar-hypoglycaemia/. Accessed September 28, 2021

Hyperglycaemia (high blood sugar). https://www.nhs.uk/conditions/high-blood-sugar-hyperglycaemia/. Accessed September 28, 2021

“เบาหวานลงไต” ปฏิบัติตัวอย่างไร. https://www.dmthai.org/index.php/knowledge/for-normal-person/health-information-and-articles/health-information-and-articles-2563/912-2020-03-01-04-09-34. Accessed September 28, 2021

Stages of Diabetic Kidney Disease. https://www.webmd.com/diabetes/diabetic-kidney-disease-stages. Accessed September 28, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/02/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องลดน้ำหนัก และควรลดแบบไหน

ทำไมต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เรื่องใกล้ตัวที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา