backup og meta

กรามค้าง ความผิดปกติของขากรรไกร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 05/11/2022

    กรามค้าง ความผิดปกติของขากรรไกร

    กรามค้าง เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของขากรรไกร ทำให้มีอาการอ้าปากได้น้อยกว่าปกติ อ้าปากแล้วหุบไม่ได้ หรือมีอาการปวดร่วมด้วย ซึ่งส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต และหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เจ็บปวดเมื่อเคี้ยวอาหารหรือพูดได้

    สาเหตุของ กรามค้าง

    โดยปกติข้อต่อขากรรไกรจะเคลื่อนที่แบบบานพับร่วมกับแบบเลื่อน โดยมีกระดูกอ่อนห่อหุ้มกระดูกส่วนที่สัมผัสกัน และมีหมอนรองกระดูกมารองรับแรงกระแทก ทำให้ข้อต่อขากรรไกรสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างลื่นไหล ซึ่ง กรามค้าง อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

    • หมอนรองกระดูกสึกกร่อน หรือเคลื่อนออกนอกตำแหน่ง
    • กระดูกอ่อนที่หุ้มข้อต่อได้รับความเสียหายจากโรคข้ออักเสบ
    • ข้อต่อเสียหายจากการกระแทกอย่างรุนแรง
    • การสบฟันผิดปกติ (Malocclusion) หรือปัญหาการบดเคี้ยว เช่น การสูญเสียฟันกราม
    • การกัดหรือเค้นฟันอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน

    อาการกรามค้าง

    อาการกรามค้างที่เกิดจากภาวะข้อต่อขากรรไกรผิดปกติ มีดังนี้

    • อาการปวดบริเวณขากรรไกรข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง อาการปวดบริเวณรอบ ๆ หูหรือใบหน้า
    • เจ็บขากรรไกรเวลาเคี้ยวอาหาร ทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก
    • มีเสียงดังบริเวณขากรรไกรเมื่ออ้าปากหรือเคี้ยวอาหาร
    • อ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้ หรืออ้าปากได้น้อยกว่าปกติ

    ปัจจัยเสี่ยงกรามค้าง

    ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงความผิดปกติของขากรรไกรและอาจนำไปสู่ อาการกรามค้าง มีดังนี้

    • โรคข้ออักเสบชนิดต่าง ๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
    • ขากรรไกรบาดเจ็บจากการกระแทกอย่างรุนแรง
    • เคี้ยวอาหารข้างเดียว ทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกรทำงานไม่สมดุล
    • รับประทานอาหารที่แข็ง เหนียว บ่อยครั้ง
    • ความเครียด หรือการนอนกัดฟัน
    • โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue disease) บางชนิดที่อาจส่งผลต่อข้อต่อขากรรไกร

    การรักษากรามค้าง

    อาการกรามค้างอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่คุณหมออาจใช้ยาร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ดังนี้

    หากการรักษาเพื่อประคับประคองอาการในเบื้องต้นไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น คุณหมออาจพิจารณาใช้การรักษาทางเลือกและการผ่าตัด เช่น

    • เจาะข้อต่อขากรรไกร (Arthrocentesis) โดยการใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปในข้อต่อขากรรไกร เพื่อระบายสิ่งสกปรกและของเหลวภายในข้อต่อออกไป
    • ฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เข้าไปในข้อต่อเพื่อช่วยลดการอักเสบ และฉีดโบทูลินัมท็อกซินชนิดเอ (Botulinum toxin type A) เข้าไปในกล้ามเนื้อบดเคี้ยวเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด
    • ผ่าตัดข้อต่อขากรรไกรแบบส่องกล้อง โดยการสอดกล้องขนาดเล็กและอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อส่วนที่อักเสบ หรือปรับให้ข้อต่อกลับมาสู่ตำแหน่งตามปกติ
    • การผ่าตัดเปิดข้อต่อขากรรไกร เพื่อทำการรักษาหรือเปลี่ยนข้อต่อขากรรไกรที่ผิดปกติหรือเสียหายอย่างรุนแรง

    การดูแลตัวเองเพื่อจัดการ ปัญหากรามค้าง

    ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเพื่อรักษาอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้

    • เมื่อมีอาการปวดควรลดการใช้งานขากรรไกร เช่น หลีกเลี่ยงการพูด การร้องเพลง
    • ควรรับประทานอาหารอ่อนนิ่ม หลีกเลี่ยงอาหารแข็งหรือเหนียว
    • หลีกเลี่ยงการอ้าปากกว้าง เมื่อรับประทานอาหารควรตัดให้เป็นคำเล็ก ๆ
    • บริหารขากรรไกรเพื่อคลายกล้ามเนื้อบดเคี้ยว และใบหน้า โดยแตะปลายลิ้นไว้ที่บริเวณเหงือกหลังฟันหน้าบน จากนั้นอ้าปากให้กว้างที่สุด ค้างไว้ 6 วินาที ทำซ้ำ 6 ครั้ง วันละ 6 รอบ ท่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่อ้าปากกว่าจนเกินไป
    • หากต้องเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม ควรแจ้งประวัติกรามค้างให้ทันตแพทย์ทราบเพื่อให้ง่ายต่อการรักษา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 05/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา