ผู้หญิงบางรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ หรือมีความกลัวต่อการคลอดบุตรตามธรรมชาติ อาจเลือกวิธีคลอดบุตรโดยการผ่าคลอด อย่างไรก็ตาม การผ่าคลอดอาจมีความเสี่ยงมากกว่าการคลอดตามธรรมชาติ ยิ่งโดยเฉพาะหากผ่าคลอดซ้ำ ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป โดยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าคลอดซ้ำ อาจมีทั้งการเกิดรอยแผลเป็น การบาดเจ็บที่กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ การตกเลือด ปัญหาเกี่ยวกับรก ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรศึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงของการผ่าคลอดซ้ำ และปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
[embed-health-tool-due-date]
ผลการศึกษาบอกอะไรเกี่ยวกับการ ผ่าคลอดซ้ำ
การศึกษาในออสเตรเลียในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 2,345 ราย ซึ่งมีประสบการณ์การคลอดบุตรโดยการผ่าคลอดหนึ่งครั้ง และจัดเป็นกลุ่มที่มีโอกาสจะใช้การคลอดบุตรตามธรรมชาติ หลังจากที่เคยผ่าคลอดมาก่อน โดยผู้หญิง 1,108 ราย มีกำหนดคลอดโดยการผ่าคลอด ในขณะที่ผู้หญิงที่เหลืออีก 1,237 ราย เลือกการคลอดบุตรตามธรรมชาติ หลังจากที่เคยผ่าคลอดมาก่อน อย่างไรก็ดี ผู้หญิงจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้หญิงทั้งหมด ที่ใช้การคลอดตามธรรมชาติ ขณะที่ผู้หญิงจำนวนที่เหลือใช้ทางเลือกในการผ่าคลอด
อย่างเป็นที่น่าสังเกต ได้มีทารกเสียชีวิตในครรภ์ (stillbirth) โดยไม่ทราบสาเหตุจำนวนสองราย ในกลุ่มที่คลอดตามธรรมชาติ ในขณะที่ไม่มีทารกเสียชีวิตในการคลอดด้วยการผ่าคลอด อัตราการเสียชีวิตของทารก หรือภาวะเกี่ยวกับสุขภาพที่ร้ายแรงก่อนออกจากโรงพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 2.4 ในกลุ่มที่ใช้การคลอดบุตรตามธรรมชาติหลังจากที่เคยผ่าคลอดมาก่อน ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 0.9 ในกลุ่มที่ใช้การผ่าคลอดอย่างเดียว
โดยสรุปแล้ว นักวิจัยเชื่อว่าการใช้การผ่าคลอดซ้ำเป็นทางเลือกในการคลอด มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงอย่างมาก ทั้งสำหรับมารดาและบุตร
ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นของการ ผ่าคลอดซ้ำ
การผ่าคลอดซ้ำอาจมีความเสี่ยง ดังนี้
เนื้อเยื่อมดลูกและบริเวณใกล้เคียงมีรอยแผลเป็น
หลังจากการผ่าคลอดในแต่ละครั้ง จะมีแถบเนื้อเยื่อพังผืดคล้ายแผลเป็นก่อตัวขึ้น รอยแผลเป็นที่หนาส่งผลให้การคลอดเป็นไปได้ยาก และทำให้การคลอดใช้เวลานานขึ้น
บาดแผลที่กระเพาะปัสสาวะและลำไส้
เยื่อพังผืดที่ก่อตัวขึ้นหลังการผ่าคลอดครั้งก่อน สามารถเชื่อมกระเพาะปัสสาวะให้ติดกับมดลูกได้ อีกทั้งยังเป็นการขัดขวางการทำงานของลำไส้เล็กอีกด้วย
ภาวะตกเลือดอย่างรุนแรง
การผ่าคลอดซ้ำ อาจก่อให้เกิดภาวะตกเลือดอย่างรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลให้มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นในการตัดมดลูกออก เพื่อยับยั้งภาวะตกเลือดอย่างรุนแรง จากการศึกษาหนึ่ง ความเสี่ยงในการตัดมดลูกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.65 หลังการผ่าคลอดครั้งแรก และร้อยละ 2.41 หลังการผ่าคลอดครั้งที่สี่
ปัญหาเกี่ยวกับรก
หากผ่าตัดคลอดซ้ำหลายครั้ง อาจมีภาวะเกี่ยวกับรกเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น รกฝังตัวลึกเกินไปในผนังมดลูก หรือรกปิดกั้นปากทางคอมดลูกในบางส่วน หรือทั้งหมด จากการศึกษา ความเสี่ยงของภาวะรกงอกติด (placenta accreta) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.24 หลังการผ่าคลอดครั้งแรก เป็นร้อยละ 2.13 หลังการผ่าคลอดครั้งที่สี่ ดังนั้น จึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว ก่อนตัดสินใจคลอดบุตรด้วยวิธีการผ่าคลอด