backup og meta

เจ็บท้องคลอด จริงหรือหลอก แยกได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 12/01/2023

    เจ็บท้องคลอด จริงหรือหลอก แยกได้อย่างไร

    เจ็บท้องคลอด เป็นอาการใกล้คลอดที่ส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ลูกน้อยใกล้ออกมาลืมตาดูโลกแล้ว แต่บางครั้งอาการเจ็บนั้นอาจจะยังไม่ถึงเวลาคลอดจริง ๆ ก็ได้ ฉะนั้น จึงควรศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของอาการเจ็บท้องจริงหรือเจ็บท้องหลอก เพื่อการเตรียมตัวเองให้พร้อมเสมอก่อนเวลาเจ็บท้องจริง ๆ จะมาถึง และรับมือกับสถานการณ์อย่างมีสติ ปลอดภัย 

    อาการ เจ็บท้องคลอด เป็นอย่างไรบ้าง

    อาการเจ็บท้องหลอก คืออะไร

    อาการเจ็บท้องหลอกเป็นอาการเจ็บท้อง ที่ชวนให้นึกว่าใกล้ถึงเวลาคลอดแล้ว ถึงแม้ว่าอาการเจ็บแบบนี้จะทำให้คอมดลูกบางลง แบบเดียวกับอาการเจ็บท้องจริง ๆ แต่อาการเจ็บท้องหลอกจะไม่นำไปสู่การคลอดลูกอย่างแน่นอน

    อาการเจ็บท้องหลอกจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายหรือช่วงค่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวันที่ได้ออกแรงทำโน่นทำนี่ไปเยอะแยะ ตอนนี้อาจจะยังไม่มีอาการเจ็บท้องจริงเกิดขึ้นหรอกนะ แต่อาการเจ็บท้องหลอกนี้จะมีมาบ่อยขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันคลอด เวลาที่เกิดอาการเจ็บท้องหลอกนั้น จะรู้สึกตึง ๆ บริเวณช่องท้อง ซึ่งมักไม่ใช่อาการเจ็บปวด แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้

    สัญญาณของอาการเจ็บท้องหลอก

    • การบีบตัวของมดลูกที่เป็น ๆ หาย ๆ
    • การบีบตัวของมดลูกที่ไม่มีความรุนแรงมากขึ้น
    • การบีบตัวของมดลูกที่จะหายไป เมื่อเปลี่ยนท่าทาง หรือปัสสาวะออกจนหมด

    อาการเจ็บท้องจริง คืออะไร

    อาการเจ็บท้องจริง มักจะเกิดขึ้นเวลาที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่าออกซิโทซินออกมา ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นมดลูกให้เกิดการบีบรัดตัว ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าใกล้ถึงเวลาคลอดแล้ว

    อาการเจ็บท้องจริงที่เกิดขึ้นกับว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่นั้น จะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 40 ของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีอาการเจ็บท้องจริงเริ่มเกิดขึ้นในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์นั้น อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าจะเกิดการคลอดก่อนกำหนด

    อาการเจ็บท้องจริงจะทำให้มดลูกส่วนบนเกิดอาการตึง ๆ ในการดันตัวทารกลงไปที่ช่องคลอด เพื่อเตรียมตัวคลอด นอกจากนี้ยังทำให้คอมดลูกบางลง เพื่อช่วยให้ทารกเคลื่อนตัวผ่านออกมาได้

    ดังนั้น อาการเจ็บท้องจริงนั้น คุณแม่จะมีความรู้สึกเหมือนระลอกคลื่น สังเกตคือจะเริ่มจากความเจ็บปวดเล็กน้อย แล้วเพิ่มขึ้นจนถึงระดับสูงสุด จากนั้นก็จางหายไปในที่สุด ถ้าใช้มือสัมผัสบริเวณท้อง ก็จะรู้สึกท้องแข็ง ๆ ในระหว่างที่มดลูกมีการบีบตัว

    คุณแม่สามารถล่วงรู้ว่า เป็นอาหารเจ็บท้องจริงได้ เวลาที่การบีบรัดตัวของมดลูกนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สม่ำเสมอกัน (อย่างเช่น ทุกๆ 5 นาที) จากนั้นก็เกิดขึ้นถี่ขึ้นเรื่อย ๆ คือทุก ๆ 3 นาที แล้วเปลี่ยนมาเป็นทุก ๆ 2 นาที และทุก ๆ 1 นาที นอกจากนี้อาการเจ็บท้องจริงมักจะมีความหนักหน่วงขึ้น และเจ็บปวดมากขึ้นด้วย

    นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณเตือนอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าใกล้ถึงเวลาคลอดแล้ว ก็ได้แก่…

    • อาจสังเกตเห็นมูกเลือดไหลออกมาเวลาที่เข้าไปใช้ห้องน้ำ
    • อาจรู้สึกเหมือนลูกน้อยกำลังจะ ตกลงมาจากท้อง
    • อาจสังเกตเห็นมีของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ถุงน้ำคร่ำได้แตกออกแล้ว

    เมื่อมีอาการเจ็บ ท้องคลอด ต้องทำอย่างไร

    อาการเจ็บท้องจากการบีบรัดตัวของมดลูกจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งมักจะเป็นอาการเจ็บท้องหลอก แต่ถ้าเริ่มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความหนักหน่วงขึ้น นั่นก็อาจแสดงว่าใกล้ถึงเวลาคลอดเต็มทีแล้ว

    เวลาที่มีอาการบีบรัดตัวของมดลูกเกิดขึ้นทุก ๆ 5 หรือ 6 นาที ก็อาจต้องรีบเดินทางไปที่โรงพยาบาลได้แล้ว แต่ถ้ายังไม่แน่ใจว่าเป็นอาการเจ็บท้องจริงหรือเปล่า ก็โทร.ปรึกษาคุณหมอหรือเจ้าหน้าที่แผนกคลอดของโรงพยาบาล ซึ่งในช่วงเวลานี้ควรเดินทางไปโรงพยาบาล เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้แล้ว ถึงแม้ว่าอาการเจ็บท้องนั้นจะเป็นอาการเจ็บท้องหลอกก็ตาม

    อาการเจ็บท้องจริง กับ เจ็บท้องหลอกต่างกันอย่างไร

    ในการที่จะล่วงรู้ว่าการบีบรัดตัวของมดลูกที่กำลังเกิดขึ้นนั้น เป็นอาการเจ็บท้องจริงที่บ่งบอกว่าใกล้ถึงเวลาคลอดลูกแล้วจริงหรือเปล่าก็ควรถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้

    อาการบีดรัดตัวของมดลูกเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

    • อาการเจ็บท้องหลอก อาการบีบรัดตัวของมดลูกจะเกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ
    • อาการเจ็บท้องจริง อาการบีบรัดตัวของมดลูกจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สม่ำเสมอกัน โดยจะเกิดขึ้นแต่ละครั้งนาน 30-70 วินาที และจะมีความหนักหน่วงและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ

    เวลาที่เปลี่ยนท่าอาการเจ็บท้องหายไปหรือเปล่า

    • อาการเจ็บท้องหลอก อาการบีบรัดตัวของมดลูกจะหยุด เวลาที่เดินหรือหยุดพัก หรือแค่เปลี่ยนท่านั่งท่านอนก็ทำให้อาการเจ็บท้องหยุดได้แล้ว
    • อาการเจ็บท้องจริง อาการบีบรัดตัวของมดลูกจะเกิดขึ้นต่อไป ถึงแม้จะเคลื่อนไหวร่างกาย หรือเปลี่ยนท่าทางแล้วก็ตาม หรือแม้แต่เวลาพยายามจะหยุดพัก อาการเจ็บนั้นก็ยังไม่ยอมหยุด

    อาการเจ็บนั้นมีความหนักหน่วงแค่ไหน

    • อาการเจ็บท้องหลอก โดยปกติอาการบีบรัดตัวของมดลูกจะไม่ค่อยมีพลัง และจะไม่มีความหนักหน่วงมากขึ้น หรือจะรุนแรงในช่วงแรกแล้วอาการจะลดลง
    • อาการเจ็บท้องจริง อาการบีบตัวของมดลูกจะมีความหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ

    จะรู้สึกเจ็บในบริเวณไหน

    • อาการเจ็บท้องหลอก: โดยปกติจะรู้สึกเจ็บบริเวณท้องด้านหน้า หรือบริเวณอุ้งเชิงกราน
    • อาการเจ็บท้องจริง: อาการบีบรัดตัวของมดลูกจะมีความหนักหน่วงมากขึ้น และอาจเริ่มจากบริเวณหลังด้านล่าง แล้วเลื่อนไปที่ท้องส่วนบน หรืออาจจะเริ่มที่ท้องแล้วเลื่อนไปที่หลังก็ได้ ว่าที่คุณแม่ทั้งหลาย อย่าลืมลองสังเกตอาการเจ็บท้องกันดูนะคะ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวเองและเจ้าตัวเล็กค่ะ  

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 12/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา