backup og meta

โลหิตจางขณะตั้งครรภ์ สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน

โลหิตจางขณะตั้งครรภ์ สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน

โลหิตจางขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะผิดปกติที่มักพบในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์และช่วงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ อาจเกิดจากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ หรือคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นโรคที่ส่งผลให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้น้อยลง คุณแม่จึงควรไปตรวจครรภ์ตามนัดเสมอ เพราะหากผลสัญญาณของภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ คุณหมอจะได้รักษาได้ทันท่วงที ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพของทารกในครรภ์

[embed-health-tool-due-date]

โลหิตจางขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

ภาวะโลหิตจาง (Anemia) คือ ภาวะที่เม็ดเลือดแดงหรือระดับฮีโมโกลบินในเลือดมีปริมาณน้อยกว่าปกติ เซลล์เม็ดเลือดแดงจึงไม่แข็งแรงพอจะนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายคุณแม่และส่งต่อให้ทารกในครรภ์

โดยปกติ ในระหว่างการตั้งครรภ์ร่างกายจะต้องผลิตเลือดมากขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสารอาหารที่ต้องใช้ในการผลิตเลือดอย่างธาตุเหล็กก็อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย ง่วงซึม หายใจลำบาก ปวดศีรษะ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ต่าง ๆ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ปัญหาการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

สาเหตุของภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์

สาเหตุของภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ที่พบบ่อย มีดังต่อไปนี้

  • ตั้งครรภ์ 2 ครั้งในระยะเวลาใกล้กัน
  • อาเจียนบ่อยเนื่องจากแพ้ท้อง
  • ประจำเดือนก่อนตั้งครรภ์มามากเป็นประจำ
  • รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ เนื่องจากอาจจำกัดชนิดอาหารเข้มงวดมากเกินไป หรือรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำเพียงอย่างเดียว จนทำให้โลหิตจางได้
  • ได้รับอาหารเสริมธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ในกรณีที่ตั้งครรภ์หลังจากแท้งได้ไม่นาน
  • มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับเลือดเรื้อรัง
  • มีน้ำหนักน้อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาการคลอดในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
  • มีโอกาสเสี่ยงแท้งลูก เคยมีเลือดออกในช่วงตั้งครรภ์ หรือเคยตกเลือดในรูปแบบอื่น ๆ

อาการของภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์

อาการของภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ที่ควรสังเกต มีดังนี้

  • อ่อนเพลีย ง่วงซึม ทนความเจ็บปวดได้น้อยกว่าปกติ
  • รู้สึกไม่สบายตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • ผิวซีดกว่าปกติ
  • ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่ายกว่าปกติ
  • หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว
  • ปวดศีรษะ
  • เมือกที่ด้านในเปลือกตาล่างซีดขาว เพราะหากจำนวนเม็ดเลือดแดงปกติ เปลือกตาล่างด้านในมักจะเป็นสีชมพู

การรักษาโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์

โดยปกติ เมื่อเป็นโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ คุณหมอมักรักษาด้วยการให้รับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กหรืออาหารเสริมกรดโฟลิคเพิ่มเติมจากการรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ตามปกติ ความเข้มข้นของธาตุเหล็กจะกลับสู่ปกติภายใน 2-3 สัปดาห์หลังรับการรักษา

อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมธาตุเหล็กอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ไม่สบายท้อง และอุจจาระเปลี่ยนสีเป็นเขียวเข้มหรือดำได้ จึงควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารเพิ่มขึ้น และดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียง หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบคุณหมอ ทั้งนี้ คุณแม่ที่มีภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์จำเป็นต้องรับธาตุเหล็กเสริมไปจนถึงช่วงหลังคลอด เนื่องจากร่างกายสูญเสียเลือดมากระหว่างคลอด และควรเข้ารับการตรวจเลือดหลังคลอด 6 สัปดาห์

การป้องกันภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์

แม้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะรับประทานอาหารที่ครบถ้วนก็สามารถเกิดภาวะโลหิตจางได้ ดังนั้น ควรไปพบคุณหมอตามนัดอย่างสม่ำเสมอ หากพบสัญญาณภาวะโลหิตจางจะได้รักษาได้ทัน อย่างไรก็ตาม การรักษาทำได้ยากกว่าการป้องกัน คุณแม่จึงควรดูแลตนเองด้วยวิธีต่อไปนี้ ร่วมกับการตรวจครรภ์ตามนัด

  • รับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิค ร่วมกับอาหารเสริมธาตุเหล็ก
  • รับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กชนิดเม็ดและชนิดน้ำตามที่คุณหมอแนะนำ
  • รับประทานวิตามินบี 12 ชนิดเม็ด หรือรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ นม
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เนื่องจากจำเป็นต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก
  • เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ ธาตุเหล็กฮีม (Heme Iron) ซึ่งพบได้ในเนื้อสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะในเนื้อแดง และธาตุเหล็กไม่ใช่ฮีม (Non-Heme Iron) ซึ่งพบในผักใบเขียว เช่น บรอกโคลี ถั่ว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Anemia and Pregnancy. http://www.hematology.org/Patients/Anemia/Pregnancy.aspx. Accessed March 11, 2022.

Anemia in Pregnancy. http://www.webmd.com/baby/guide/anemia-in-pregnancy#1. Accessed March 11, 2022.

Iron deficiency anemia during pregnancy: Prevention tips. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/anemia-during-pregnancy/art-20114455. Accessed March 11, 2022.

Anemia in Pregnancy.

https://www.msdmanuals.com/professional/gynecology-and-obstetrics/pregnancy-complicated-by-disease/anemia-in-pregnancy. Accessed March 11, 2022.

Anemia and Pregnancy. https://www.ucsfhealth.org/education/anemia-and-pregnancy. Accessed March 11, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/10/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สมุนไพรสำหรับโรคโลหิตจาง มีอะไรบ้างและเป็นประโยชน์อย่างไร

โรคโลหิตจาง ปัญหาสุขภาพที่คนกินมังสวิรัติต้องระวังให้ดี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา