backup og meta

อาการคนท้องระยะแรก และวิธีรับมืออาการแพ้ท้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2022

    อาการคนท้องระยะแรก และวิธีรับมืออาการแพ้ท้อง

    อาการคนท้องระยะแรก เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ที่ควรให้ความสำคัญ หากมีอาการ เช่น ประจำเดือนไม่มา รู้สึกเหนื่อยล้า เต้านมขยายใหญ่ขึ้น หรือมีอาการแพ้ท้อง เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน เหนื่อยล้าผิดปกติ อาจสันนิษฐานได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ ในเบื้องต้น ควรใช้ชุดตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจการตั้งครรภ์ที่สถานพยาบาลเพื่อยืนยันผล หากผลออกมาว่าตั้งครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดูแลตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ สำหรับบางคนอาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรง หากดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง ควรเข้าไปพบคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และรับการรักษาอย่างตรงจุด

    อาการคนท้องระยะแรก มีอะไรบ้าง

    อาการต่อไปนี้อาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่ากำลังตั้งครรภ์ในระยะแรก

    ประจำเดือนขาด หรือไม่มาเป็นปกติ

    ความเปลี่ยนแปลงของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนขาด ถือเป็นอาการคนท้องระยะแรกที่ทำให้คนส่วนใหญ่สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ และตัดสินใจใช้ที่ตรวจครรภ์เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ โดยปกติแล้ว การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยที่ตรวจครรภ์จะให้ผลที่แม่นยำ หากใช้หลังระยะเวลาที่ประจำเดือนควรมาไม่กี่วัน

    เจ็บบริเวณหน้าอก

    ในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ ประมาณ 1-2 สัปดาห์แรก บริเวณหน้าอกจะบวมและขยายใหญ่ขึ้น ลานนมหรือปานนมจะมีสีเข้มขึ้น มองเห็นเส้นเลือดได้อย่างชัดเจน ทั้งยังอาจรู้สึกคัดตึงเต้านม สัมผัสแล้วรู้สึกเจ็บ อาการในช่วงนี้อาจคล้ายกับอาการก่อนเป็นประจำเดือน เมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นได้แล้ว อาการจะเริ่มบรรเทาลง แต่อาจต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์

    รู้สึกเหนื่อยล้าผิดปกติ

    ในช่วงตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนเพศหญิง เช่น โปรเจสเตอโรน (Progesterone) เอสโตรเจน (Estrogen) จะสูงขึ้นอย่างมาก เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้หลอดเลือดในร่างกายบีบรัดตัวได้ลดลง ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ คุณแม่จึงอาจหน้ามืดและเหนื่อยง่าย อีกทั้งกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ที่ควบคุมการทำงานและรักษาสมดุลของภาวะต่าง ๆ ในร่างกายของคุณแม่จะทำงานช้าลง เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมในช่วงนี้ถึงเหนื่อยล้า ไม่ค่อยมีแรง และเป็นตะคริวบ่อย คุณแม่ควรพักผ่อนให้มาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์ โดยปกติแล้ว เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน รกจะถูกสร้างอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจทำให้คุณแม่กลับมามีพละกำลังมากขึ้น และไม่เหนื่อยง่ายเหมือนในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

    มีอาการแพ้ท้อง

    ความรู้สึกคลื่นไส้ ผะอืดผะอม ที่มักจะเกิดขึ้นตอนเช้า เป็นอาการของคนท้องระยะแรกที่พบได้บ่อย แต่อาการอาจมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน นอกจากนี้ คนท้องระยะแรกอาจมีอาการอยากอาหารบางชนิดเป็นอย่างมาก เช่น ของเปรี้ยว ของหมักดอง หรือบางคนก็อาจไม่สามารถทนต่อกลิ่นหรือรสชาติของอาหารบางชนิดได้ เช่น เหม็นกลิ่นอาหารที่เคยชื่นชอบจนรับประทานอาหารนั้นไม่ลง อาการแพ้ท้องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดจากของระดับฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน โดยทั่วไป อาการแพ้ท้องจะหายไปเองในช่วงสัปดาห์ที่ 13-16 ของการตั้งครรภ์

    ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

    การตั้งครรภ์กระตุ้นการทำงานของไตและเพิ่มระดับน้ำในร่างกาย อีกทั้งมดลูกที่ขยายตัวยังอาจไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้คนท้องมักปัสสาวะบ่อยกว่าปกติในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์

    อยากอาหารมากขึ้น

    คนท้องเมื่อพ้นระยะแพ้ท้องมักอยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีพลังงาน ธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง เช่น ไอศกรีม ช็อกโกแลต ข้าว มันฝรั่ง นมและผลิตภัณฑ์นม สาเหตุที่ในระยะนี้คุณแม่ต้องการอาหารมากขึ้นยังไม่พบแน่ชัด แต่อาจเป็นเพราะอาหารเหล่านี้เป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้คุณแม่และทารกในครรภ์ คนท้องบางคนอาจอยากรับประทานหรือดมอะไรแปลก ๆ เช่น อยากรับประทานของดองเค็ม อยากดมกลิ่นแก๊สหุงต้ม และอาจจะรู้สึกไม่ชอบอาหารที่เคยชอบมาก่อน ทั้งยังมักมีประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นและรสที่ไวมากขึ้นด้วย เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) เพิ่มสูงขึ้น

    มีอาการท้องผูก

    ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่สูงขึ้นทำให้อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่ได้ช้าลง และระบบขับถ่ายทำงานไม่ปกติ การดื่มน้ำให้มาก ๆ กินอาหารที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารสูง เช่น ผักและผลไม้ ร่วมกับการออกกำลังกายเบา ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้

    อารมณ์แปรปรวน

    ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนในร่างกายคุณแม่จะแปรปรวนอย่างรุนแรง จนมักส่งผลให้มีอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่คงที่ ทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งหากปล่อยไว้เรื้อรัง อาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้ หากพบว่าอารมณ์และจิตใจเปลี่ยนแปลงไปในช่วงตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาคุณหมอและรับการรักษาอย่างเร่งด่วน

    มีเลือดออกจากช่องคลอด

    ส่วนใหญ่ ภาวะเลือดออกจากช่องคลอดมักเกิดขึ้นตอนตั้งครรภ์ครั้งแรก อาจพบได้ในช่วง 6-12 วันหลังไข่ผสมกับอสุจิแล้วปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน ภาวะนี้เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งอาจทำให้คนสับสนว่าเป็นประจำเดือนที่มาก่อนกำหนด แต่ความแตกต่างระหว่างเลือดล้างหน้าและประจำเดือนปกติ คือ เลือดล้างหน้าเด็กจะไหลออกมาในปริมาณเล็กน้อย กะปริบกะปรอย ไม่เยอะมากและอาจมีตกขาวที่เหนียวข้นร่วมด้วย

    การฝากครรภ์ ขั้นตอนสำคัญสำหรับคนท้อง

    เมื่อมีอาการคนท้องระยะแรก และตรวจสอบจนแน่ใจแล้วว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ควรเข้าฝากครรภ์กับคุณหมอที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ คุณหมออาจนัดตรวจครรภ์ทุก 4-6 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของทารกในครรภ์

    การฝากครรภ์ คือ การตรวจสุขภาพครรภ์เป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่มีความผิดปกติ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะรกต่ำ หรือโรคทางพันธุกรรมที่อาจส่งต่อมายังลูก เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคฮีโมฟีเลีย

    การฝากครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 1 คุณหมออาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้

  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจกรุ๊ปเลือดของคุณแม่ ความเข้มข้นเลือด ความเข้มข้นของเกล็ดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์หรือมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และโรคอื่น ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อเอชไอวี โรคซิฟิลิส โรคหัดเยอรมัน
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่ เพราะหากมี อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ หรือมีภาวะที่มีน้ำตาลหรือโปรตีนรั่วในปัสสาวะหรือไม่
  • การประเมินภาวะสุขภาพทั่วไป คุณหมอจะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่คุณแม่อาจเป็นกังวล การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ และการดูแลตัวเองระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นต้น
  • วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง

    สำหรับผู้ที่อาการแพ้ท้อง อาจบรรเทาอาการด้วยตัวเอง ตามวิธีต่อไปนี้

    • ลดอาการแพ้ท้องอ่อน ๆ ด้วยขิง เช่น ดื่มน้ำขิง การรับประทานแคปซูลขิงเสริมอาหาร รับประทานขิงสด นำขิงไปประกอบอาหาร ขิงอาจช่วยลดอาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้รู้สึกสดชื่น และสบายใจมากขึ้นได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ Integrative Medicine Insights เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของขิงต่อการป้องกันอาการวิงเวียนศีรษะและอาเจียนในขณะตั้งครรภ์และทำคีโมบำบัด พบว่า ขิงแคปซูลสามารถลดอาการแพ้ท้องได้ดีกว่าการใช้ยาหลอก เมื่อบริโภควันละ 1,000 มิลลิกรัม เป็นเวลาอย่างน้อย 4 วัน
    • หากแพ้ท้องหนักจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ อาจแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ ประมาณ 5-6 มื้อ/วัน แทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ทีเดียว 3 มื้อ
    • เลี่ยงการรับประทานอาหารเผ็ดร้อน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะอาหารไม่ย่อยในคนท้อง และอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งอาจทำให้รู้สึกผะอืดผะอมและอาเจียนได้
    • ออกไปรับอากาศบริสุทธิ์ อาจเดินเล่นหรือเปิดหน้าต่างรับลมเข้ามาในบ้าน เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี แต่หากตรวจสอบคุณภาพอากาศและค่าฝุ่นประจำวันแล้วพบว่า ค่าสูงจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
    • อาจผ่อนคลายด้วยน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เหมาะสำหรับคนท้อง เช่นกลิ่นดอกมะลิ กลิ่นดอกลาเวนเดอร์ กลิ่นยูคาลิปตัส
    • ดื่มน้ำอย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน อาจดูดน้ำแข็งเล็ก ๆ หรือจิบชาอ่อน ๆ เพื่อบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ
    • ใส่เสื้อผ้าทรงหลวม ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่นจนทำให้รู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายตัว
    • หากรู้สึกอยากอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้สารอาหารครบถ้วน และอาจเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายด้วยวิตามินเสริม เช่น กรดโฟลิก (Folic Acid) หรือโฟเลต หรือวิตามินบี 9 ที่เป็นวิตามินสำคัญสำหรับคนท้อง ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ควรได้รับกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัม หรือ 0.4 มิลลิกรัม/วัน เพื่อช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการตามปกติ

    โดยปกติแล้ว อาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ หายไปเมื่อเข้าไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรักษาต่อไป

    • วิงเวียนศีรษะและอาเจียนหนักมากขึ้น
    • มึนศีรษะ หรือรู้สึกเหมือนจะเป็นลมเมื่อลุกขึ้นยืน
    • หัวใจเต้นรัว เร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ
    • ไม่สามารถดื่มน้ำได้ ดื่มน้ำแล้วอาเจียนออกมา
    • รับประทานอาหารไม่ได้จนน้ำหนักลด
    • ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา