backup og meta

Hyperemesis gravidarum คือ อาการแพ้ท้องรุนแรง สามารถรักษาได้อย่างไร

Hyperemesis gravidarum คือ อาการแพ้ท้องรุนแรง สามารถรักษาได้อย่างไร
Hyperemesis gravidarum คือ อาการแพ้ท้องรุนแรง สามารถรักษาได้อย่างไร

Hyperemesis gravidarum คือ ภาวะแพ้ท้องรุนแรง พบมากในหญิงตั้งครรภ์ระยะแรก สาเหตุของภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย หรือการเข้าใกล้สิ่งกระตุ้นบางอย่างที่ทำให้แพ้ท้อง โดยทั่วไป อาจรักษาด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมไปถึงการใช้ยาแก้อาเจียน ยาลดกรด เป็นต้น แต่หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ทุเลาและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

Hyperemesis gravidarum คือ อะไร

โดยปกติแล้ว หญิงตั้งครรภ์ในระยะแรกมักมีอาการแพ้ท้องที่อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนเอชซีจีหรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (hCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin) ในร่างกายเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัวเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่สบายตัวบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

แต่หญิงตั้งครรภ์ระยะแรกบางรายอาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรงและถี่กว่าปกติ เรียกว่า Hyperemesis gravidarum มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 9-13 ของการตั้งครรภ์ ภาวะนี้มักไม่ทุเลาเมื่อเวลาผ่านไปสักพักเหมือนอาการแพ้ท้องทั่วไป ทั้งยังอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มได้ตามปกติ จนเสี่ยงเกิดภาวะขาดสารอาหารและขาดน้ำที่อาจส่งผลให้ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้ม ผิวแห้ง อ่อนแรง หน้ามืด เป็นลม หรือรุนแรงจนถึงขั้นช็อคหรืออาเจียนเป็นเลือดได้

อาการ Hyperemesis gravidarum เป็นอย่างไร

อาการของ Hyperemesis gravidarum อาจมีดังนี้

  • คลื่นไส้รุนแรง
  • อาเจียนหนัก
  • อาเจียนบ่อย หรืออาเจียนรุนแรงมีเลือดปน โดยมักจะเป็นมากในช่วงเช้าของวัน และหากอาการคลื่นไส้อาเจียนยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ อาจจะทำให้ส่งผลต่อเนื่องตามมา ได้แก่
    • ปวดศีรษะ
    • สับสน มึนงง
    • หมดสติหรือเป็นลม
    • น้ำหนักลดลงกว่า 5% หรือลดลงมากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์
    • ถ่ายปัสสาวะน้อยลง
    • มีภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ผิวแห้ง
    • มีภาวะตัวเหลือง (Jaundice)
    • อ่อนเพลียรุนแรง
    • หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
    • ความดันโลหิตต่ำ

วิธีรักษา Hyperemesis gravidarum

การรักษาอาการแพ้ท้องรุนแรง อาจทำได้ดังนี้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

  • รับประทานอาหารที่ย่อยได้ง่าย เช่น โจ๊กหมู ซุปมะเขือเทศ ปลากะพงนึ่งมะนาว มันฝรั่งต้ม กล้วยสุก น้ำเต้าหู้
  • รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ แทนการรับประทานมื้อใหญ่ทีเดียว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้อง หากรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ข้าวเหนียว กะทิ มะพร้าว แล้วอาการกำเริบหรือแย่ลง อาจเปลี่ยนไปรับประทานอาหารฤทธิ์เย็นแทน เช่น ข้าวยำธัญพืช แตงโม เมลอน แก้วมังกร น้ำใบเตยหอม
  • จิบน้ำบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในแต่ละครั้งในปริมาณมากเกินไป

การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการแพ้ท้อง

การสัมผัส รับประทาน หรือเข้าใกล้สิ่งของบางอย่าง อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้องรุนแรงและต่อเนื่องได้ จึงควรสังเกตว่าสิ่งของใดหรือพฤติกรรมใดที่ทำให้เกิดอาการ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น ตัวอย่างสิ่งกระตุ้นอาการแพ้ท้อง เช่น

  • เสียงรบกวนบางอย่าง เช่น เสียงโทรทัศน์ เสียงวิทยุ
  • แสงสว่างหรือไฟกะพริบ
  • ยาสีฟัน
  • กลิ่น เช่น น้ำหอม ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ
  • การสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป
  • การโดยสารรถสาธารณะ หรือนั่งรถนาน ๆ

การรักษาทางการแพทย์

  • การรับวิตามินเสริม เช่น
    • ไพริดอกซีน (Pyridoxine) หรือวิตามินบี 6 เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยรับประมาณครั้งละ 10-25 มิลลิกรัม อย่างน้อย 3 ครั้ง/วัน หากใช้เกินกว่านี้อาจทำให้เส้นประสาทเสียหายชั่วคราวได้
    • ไทอามีน (Thiamine) หรือวิตามินบี 1 เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนต่อเนื่อง และปวดท้อง โดยรับประทานในปริมาณ 1.5 มิลลิกรัม/วัน
  • ยาแก้อาเจียน ในรูปแบบเม็ด ยาเหน็บ หรือทางหลอดเลือดดำ
  • ยาลดกรด (Antacids) เพื่อช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนที่ทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนแย่ลง
  • การให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือดดำ (IV fluid) ร่วมกับการแก้ไขภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำจากการอาเจียนเป็นปริมาณมาก
  • การให้อาหารทางสายยาง (Tube feeding) หากอาเจียนหนักจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ คุณหมออาจให้อาหารทางสายยางผ่านจมูกเพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอและป้องกันภาวะขาดสารอาหาร

การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

  • การพักผ่อนบนเตียง (Bed rest) เป็นการใช้เวลาพักผ่อนบนเตียงเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้กระทบกระเทือนสุขภาพของทารกในครรภ์น้อยที่สุด แต่ก็ควรขยับตัวบ้าง และระวังการกดทับหรือน้ำหนักลดเนื่องจากการอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน
  • การกดจุด (Acupressure) การใช้นิ้วโป้งกดบริเวณกลางข้อมือ ระหว่างเส้นเอ็นทั้ง 2 เส้น ห่างจากรอยพับของข้อมือประมาณ 3 นิ้ว ค้างไว้ประมาณ 3 นาที ที่ข้อมือทั้ง 2 ข้าง อาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Clinical Evidence เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับอาการคลื่นไส้และอาเจียนในหญิงตั้งครรภ์ระยะแรก จากการรวบรวมและทบทวนงานวิจัยจำนวน 32 ชิ้น พบว่า การกดจุดอาจมีประสิทธิภาพในการลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน ทั้งนี้ ยังต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้เพิ่มเติมต่อไป

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วภาวะแพ้ท้องรุนแรงหรือ Hyperemesis gravidarum ยังไม่ทุเลา และมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะสีเข้ม ผิวแห้งกร้าน
  • มีอาการของภาวะขาดสารอาหาร เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • อาเจียนออกมาแล้วมีเลือดปน
  • ปวดท้อง
  • น้ำหนักลดมากกว่า 5%ของน้ำหนักตัวเดิม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hyperemesis gravidarum. https://medlineplus.gov/ency/article/001499.htm. Accessed November 3, 2022

Hyperemesis Gravidarum. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-complications/hyperemesis-gravidarum/. Accessed November 3, 2022

Morning Sickness. https://www.webmd.com/guide/morning-sickness-pregnant. Accessed November 3, 2022

What Is Hyperemesis Gravidarum?. https://www.webmd.com/baby/what-is-hyperemesis-gravidarum. Accessed November 3, 2022

Severe vomiting in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/complications/severe-vomiting/. Accessed November 3, 2022

Nausea and vomiting in early pregnancy. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3959188/#BMJ_1405_I2.Accessed November 3, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีแก้อาการแพ้ท้อง มีอะไรบ้าง

อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง รับมืออย่างไรดี


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา