พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 30 ทารกมีขนาดตัวเท่ากับกะหล่ำปลี โดยมีน้ำหนักตัวประมาณ 1.3 กิโลกรัม และยาวประมาณ 40 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า ขนาดตัวของทารกจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมทั้งมีชั้นไขมันมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ทารกมีริ้วรอยน้อยลง ทั้งยังทำหน้าที่สร้างความอบอุ่นให้กับทารกในช่วงหลังคลอดด้วย นอกจากนั้น สมองเริ่มมีรอยหยัก อีกทั้ง ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่
[embed-health-tool-due-date]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 30
ลูกจะเติบโตอย่างไร
สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 30 นี้ ทารกมีขนาดตัวเท่ากับกะหล่ำปลี โดยมีน้ำหนักตัวประมาณ 1.3 กิโลกรัม และยาวประมาณ 40 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า
ขนาดตัวของทารกจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมทั้งมีชั้นไขมันมากขึ้น โดยชั้นไขมันจะช่วยให้ทารกมีริ้วรอยน้อยลง ทั้งยังทำหน้าที่สร้างความอบอุ่นให้กับทารกในช่วงหลังคลอดด้วย ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์นี้ ทารกจะฝึกหายใจมากขึ้น ทำให้กระบังลม (Diaphragm) เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และทารกน้อยอาจสะอึกได้เป็นครั้งคราว จนทำให้มดลูกบิดตัวเป็นจังหวะจนคุณแม่รู้สึกได้
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ในช่วงตั้งครรภ์เส้นผมของคุณแม่จะดูหนาขึ้น แต่เมื่อคลอดบุตร ผมจะหลุดร่วงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผมดูบางลงได้
ในช่วงนี้ อาจรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีปัญหาในการนอนหลับ จนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งยังอาจรู้สึกว่าตัวเองซุ่มซ่ามมากกว่าปกติอีกด้วย เนื่องจากจุดศูนย์ถ่วงเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทำให้เส้นเอ็นต่าง ๆ คลายตัวมากขึ้น ข้อต่อต่าง ๆ จึงอาจไม่แน่นกระชับเหมือนเดิม ส่งผลให้เสียสมดุลได้
อาการเส้นเอ็นคลายตัวนี้ ยังอาจทำให้เท้าขยายจนรองเท้าคู่ที่ใส่อยู่คับเกินไป ควรซื้อรองเท้าคู่ใหม่ที่พอดีเท้าและใส่สบายมากขึ้น
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ยังคงส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 30 มีอารมณ์แปรปรวน หรืออารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ควรหากิจกรรมผ่อนคลายหรือดึงความสนใจ และควรทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง แจ่มใสอยู่เสมอ หากรู้สึกเครียด ก็ควรทำกิจกรรมคลายเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ หรือจะออกกำลังกายเบา ๆ เช่น โยคะ ก็ได้
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาแพทย์อย่างไรบ้าง
ในช่วงนี้อาจรู้สึกหายใจลำบาก อันเนื่องมาจากมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น จนดันกะบังลมขึ้นไปสูงกว่าปกติ ทำให้หายใจลำบากและหายใจเร็วขึ้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีปัญหาในการหายใจ เช่น หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม หายใจถี่ เจ็บหน้าอก ควรปรึกษาคุณหมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยขึ้น อาการแย่ลง หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะการที่คุณแม่หายใจผิดปกติ อาจส่งผลให้ออกซิเจนในเลือดน้อยลง และทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนได้
การทดสอบที่ควรรู้
คุณหมออาจนัดพบคุณแม่ตั้งครรภ์บ่อยขึ้น โดยอาจเริ่มจากการนัดพบทุก ๆ 2 สัปดาห์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการนัดทุกสัปดาห์จนถึงกำหนดคลอด โดยการตรวจสุขภาพในช่วงเดือนนี้ ได้แก่ การวัดความดันโลหิต และการชั่งน้ำหนัก คุณหมออาจถามถึงสัญญาณและอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และอาจขอให้บรรยายลักษณะการเคลื่อนไหวของลูกน้อยให้ฟัง หรือสอนการนับลูกดิ้น รวมถึงอาจตรวจสอบขนาดของมดลูกตามปกติด้วย
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีปัญหานอนไม่หลับ ไม่ควรแก้ปัญหาโดยการรับประทานยานอนหลับเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคุณหมอ เนื่องจากยานอนหลับไม่ปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ควรลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายเบาๆ ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอน
หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หรือสังเกตถึงความผิดปกติที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด ควรรีบปรึกษาคุณหมอ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและทารกในครรภ์ได้