backup og meta

น้ำเกลือล้างแผล ประโยชน์และวิธีการใช้ที่ถูกต้อง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

    น้ำเกลือล้างแผล ประโยชน์และวิธีการใช้ที่ถูกต้อง

    น้ำเกลือล้างแผล มีสารละลายโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride หรือ Nacl) 0.9%  นิยมใช้ในการปฐมพยาบาล เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น หกล้ม มีแผลถลอก ของมีคมบาด นอกจากนี้ ยังอาจนำน้ำเกลือล้างแผลไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ล้างโพรงจมูก ล้างคอนแทคเลนส์ แต่ไม่ควรใช้แช่คอนแทคเลนส์ ทั้งนี้ สามารถหาซื้อน้ำเกลือล้างแผลได้ตามร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อ เมื่อเปิดใช้แล้วสามารถเก็บได้นานประมาณ 1 เดือน โดยควรปิดฝาให้สนิท และเก็บให้พ้นแสง เพื่อคงประสิทธิภาพ

    น้ำเกลือล้างแผล คืออะไร 

    น้ำเกลือล้างแผล (Normal saline solution หรือ NSS) คือ น้ำเกลือปราศจากเชื้อที่มีโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride หรือ Nacl) 0.9% โดยโซเดียมคลอไรด์เป็นสารละลายไอโซโทนิก (Isotonic solution) ที่มีความเข้มข้นเท่ากับสารละลายภายในเซลล์ร่างกาย จึงทำให้ไม่แสบ ไม่ระคายเคือง และไม่ทำลายเนื้อเยื่อเหมือนตอนล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์ แต่น้ำเกลือล้างแผลก็อาจช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ไม่ดีเท่าการใช้แอลกอฮอล์ และไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้

    ประโยชน์ของน้ำเกลือล้างแผล 

    น้ำเกลือล้างแผลนิยมนำมาใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น

  • ล้างแผล น้ำเกลืออาจช่วยชำระล้างสิ่งสกปรก สิ่งแปลกปลอม และเชื้อแบคทีเรียออกจากแผลได้โดยไม่ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อบริเวณแผลถูกทำลาย ไม่ทำให้แสบหรือระคายเคือง ช่วยลดความเสี่ยงแผลติดเชื้อ
  • ล้างโพรงจมูก โดยฉีดน้ำเกลือผ่านช่องโพรงจมูกจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้าง และเอียงศีรษะเล็กน้อย ทำทั้ง 2 ข้างเหมือนกัน เพื่อชะล้างสิ่งสกปรก ช่วยให้โพรงจมูกโล่งขึ้น หายใจสะดวกขึ้น ลดอาการน้ำมูกไหลลงคอ บรรเทาอาการคัดจมูก เมื่อโพรงจมูกสะอาด ความเสี่ยงในการติดเชื้อที่โพรงไซนัสก็อาจน้อยลง
  • ล้างคอนแทคเลนส์ การใช้น้ำเกลือล้างคอนแทคเลนส์ก่อนใช้งาน อาจช่วยชะล้างสารเคมีจากน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ และลดความเสี่ยงในการเกิดการระคายเคืองตาได้ แต่ไม่ควรใช้น้ำเกลือแช่คอนแทคเลนส์ เพราะอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ ควรแช่คอนแทคเลนส์ในน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์เท่านั้น
  • ทำความสะอาดผิวหน้า อาจช่วยขจัดสิ่งสกปรก เช่น ฝุ่น มลภาวะ ที่อยู่บนใบหน้า
  • บ้วนปาก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ และอาจช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก
  • วิธีการใช้น้ำเกลือล้างแผล

    • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ จากนั้นเช็ดมือให้แห้ง หากไม่สะดวกสามารถใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อได้
    • สวมถุงมือยางทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง (ถ้ามี)
    • เทน้ำเกลือล้างแผลใส่ผ้าก๊อซ แล้วเช็ดทำความสะอาดรอบ ๆ แผล
    • ใส่ยาฆ่าเชื้อ
    • ปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่ปราศจากเชื้อ หรือพลาสเตอร์

    ควรทำความสะอาดแผล ใส่ยา และเปลี่ยนผ้าปิดแผลทุกวัน เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ

    วิธีทำน้ำเกลือล้างแผล 

    สามารถทำน้ำเกลือล้างแผลไว้ใช้เองได้ ด้วยส่วนผสมและวิธีทำดังต่อไปนี้

    อุปกรณ์ในการทำน้ำเกลือล้างแผล  

    1. น้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มสะอาด 500 มิลลิลิตร
    2. เกลือไม่มีไอโอดีน 1 ช้อนชา
    3. ภาชนะสะอาด มีฝาปิด สำหรับบรรจุน้ำเกลือ
    4. เบกกิ้งโซดา 1 หยิบมือ (ถ้ามี)

    ขั้นตอนการทำน้ำเกลือล้างแผลอาจมีดังนี้

    1. ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนเตรียมอุปกรณ์และก่อนทำน้ำเกลือ
    2. เทน้ำลงในภาชนะที่เตรียมไว้ ใส่เกลือ คนให้ละลาย
    3. ใส่เบกกิ้งโซดา (ถ้ามี) แล้วคนให้ละลาย เพราะอาจช่วยลดอาการระคายเคืองผิวได้
    4. ปิดฝาภาชนะให้แน่น
    5. ควรเก็บน้ำเกลือทำเองในที่เย็น เช่น ตู้เย็น เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงที่แบคทีเรียจะเติบโต และควรใช้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังทำเสร็จ หากนานกว่านั้นควรทิ้ง เพราะอาจมีสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคปนเปื้อน

    ข้อควรระวังในการใช้น้ำเกลือล้างแผล

    • หากเป็นน้ำเกลือทำเองไม่ควรนำมาใช้ล้างคอนแทคเลนส์ และควรทิ้งเมื่อผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง
    • หากเป็นน้ำเกลือล้างแผลที่ซื้อมา หากเปิดใช้แล้วจะมีระยะเวลาในการใช้งานประมาณ 1 เดือน หากเกินกว่านั้นควรทิ้ง เนื่องจากน้ำเกลือภายในขวดเสี่ยงปนเปื้อนสิ่งสกปรก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ หากนำมาใช้
    • ควรเก็บน้ำเกลือล้างแผลที่เปิดใช้งานแล้วในตู้เย็น หรือที่ที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการโดนความชื้น ความร้อน แสงแดด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา