backup og meta

น้องเน่า คืออะไร ส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของเด็กอย่างไร

น้องเน่า คืออะไร ส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของเด็กอย่างไร

เมื่อไม่นานมานี้มีเรื่องราวของเด็กชาวญี่ปุ่นที่โกรธแม่เพราะแม่เอาตุ๊กตาตัวโปรดไปทิ้ง ซึ่งคุณแม่ให้เหตุผลว่าเพราะตุ๊กตานั้นมีสภาพที่ขาดรุ่งริ่งแล้ว จึงตัดสินใจนำไปทิ้ง เด็กชายจึงเขียนจดหมายไปหารายการทีวีเพื่อขอให้ช่วยซ่อมตุ๊กตาให้กลับมาดังเดิม เรื่องราวนี้มีผู้คนในโลกออนไลน์แชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งมีการแสดงความคิดเห็นถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของเด็ก พร้อมทั้งแชร์ประสบการณ์ของตนเองกับน้องเน่าตัวโปรดกันมากมาย จากเรื่องราวนี้อาจทำให้ผู้ปกครองหลายคนมาคิดได้ว่า สำหรับเด็กแล้ว “น้องเน่า” อาจเป็นมากกว่าตุ๊กหรือสิ่งของที่ชำรุดหรือหมดสภาพ แต่อาจหมายถึงเพื่อนที่ทำให้รู้สึกสบายใจเมื่อได้อยู่ใกล้ วันนี้ Hello คุณหมอ มีเรื่องราวดีๆ ของน้องเน่ามาฝากค่ะ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

น้องเน่า คืออะไร

น้องเน่า ผ้าเน่า ตุ๊กตาเน่า หรือหมอนเน่า คือจักรวาลน้องเน่าที่อยู่ในหมวดคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Comfort Objects หรือ Transitional Objects หรือ Security Blanket อันหมายถึงวัตถุหรือสิ่งของที่ให้ความรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย และสบายใจที่ได้อยู่ใกล้ๆ ทั้งยังหมายถึงวัตถุแห่งการเปลี่ยนผ่านความทรงจำ กล่าวคือไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหน แต่ของสิ่งนั้นก็ยังคงช่วยให้รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และสบายใจทุกครั้งที่ได้กอดหรือสัมผัส

หากเรียกรวมๆ แล้ว ก็หมายถึงน้องเน่า ผ้าเน่า ตุก๊กตาเน่า หรือหมอนเน่าที่พวกเราเรียกกันจนติดปากนั่นเอง โดยของดังกล่าวอาจจะเป็นหมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตา ของเล่น เสื้อผ้า หรือวัตถุใดๆ ก็ตาม แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นวัตถุที่มีสัมผัสนุ่มนิ่ม เพราะจะให้ความรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลายยามกอดหรือนอนหนุนขณะหลับ มากไปกว่านั้นหลายคนอาจตั้งชื่อให้กับน้องเน่าของตนเองโดยเฉพาะด้วย

ประโยชน์ของ น้องเน่า ตุ๊กตาเน่า หรือผ้าเน่า

เด็กกับตุ๊กตาหรือของเล่นนั้นเป็นของคู่กัน ทุกคนย่อมมีของเล่นชิ้นโปรดหรือตุ๊กตาตัวโปรดด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปของสิ่งนั้นอาจสกปรก ขาด ชำรุด จนควรค่าแก่การนำไปทิ้ง แต่…ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะหยิบเอาน้องเน่าไปทิ้ง โปรดช้าก่อน เพราะน้องเน่าที่ดูมอมแมมตัวนั้น อาจมีประโยชน์ต่อลูกน้อยของคุณมิใช่น้อยเลยทีเดียว

เป็นเพื่อนคลายเหงา

ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะมีอารมณ์ว้าเหว่ โดดเดี่ยว หรือช่วงเวลาเหงา เด็กๆ เอง ก็มีประสบการณ์ความรู้สึกเหงาได้เหมือนกัน ซึ่งอาจจะเป็นจังหวะที่ผู้ปกครองยุ่งอยู่กับการทำงานจนไม่มีเวลาให้ การแยกให้ลูกนอนคนเดียว การพาลูกไปอยู่กับคุณตาคุณยายหรือคุณปู่คุณย่าในช่วงปิดเทอม

ช่วงเวลาที่เด็กๆ ต้องอยู่ห่างจากคุณพ่อคุณแม่และสภาพแวดล้อมเดิมที่คุ้นเคย อาจส่งผลให้เด็กรู้สึกเหงาในระยะแรกๆ ของการปรับตัว การมีน้องเน่าเป็นเพื่อนสักคนให้คอยคุยด้วย คอยรับฟัง และเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่พูด นับว่าช่วยในการคลายความเหงาในใจของเด็กๆ ได้ไม่น้อย

ช่วยให้เด็กหลับได้ง่ายขึ้น

การเข้านอนคนเดียวนั้นเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของเด็กๆ เด็กหลายคนอาจยังไม่พร้อม และต้องการที่จะนอนกับพ่อแม่มากกว่า การมีน้องเน่าหรือผ้าเน่าไว้เคียงกาย ได้กอด ได้สัมผัส สามารถช่วยให้เด็กๆ รู้สึกได้ว่ามีเพื่อนนอนอยู่ด้วย ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือหวาดกลัว ทั้งยังสามารถช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายต่อความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวความมืด หรือกลัวที่ต้องนอนคนเดียว น้องเน่าสามารถทำให้เด็กๆ นอนหลับได้อย่างสบายใจมากขึ้น

สร้างความรู้สึกปลอดภัย

ไม่ว่าจะเป็นการนอน การไปโรงเรียน การไปหาคุณหมอ ล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เด็กจะต้องพบเจอ แน่นอนว่าเด็กมักจะรู้สึกกังวลและรู้สึกไม่ปลอดภัย การพกน้องเน่าหรือตุ๊กตาตัวโปรดติดตัวไปด้วย มีส่วนช่วยทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าปลอดภัยมากขึ้น อุ่นใจที่มีเพื่อนร่วมทางไปด้วย

เป็นตัวแทนความทรงจำ

เมื่อวันเวลาผ่านไป น้องเน่าหรือตุ๊กตาเน่าหรือหมอนเน่าหรือผ้าเน่านี้จะกลายมาเป็นวัตถุแห่งความทรงจำที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายทั้งสุขและทุกข์ สำหรับเด็กน้องเน่าเป็นเสมือนตัวแทนความทรงจำจากคนๆ หนึ่ง อาจจะเป็นพ่อ แม่ คนในครอบครัว หรือเป็นของขวัญชิ้นแรกที่ได้รับ ซึ่งจะกลายมาเป็นตัวแทนของบุคคลหรือความทรงจำนั้นๆ ให้คอยระลึกถึง แม้จะอยู่ห่างกันแต่น้องเน่าก็จะเป็นตัวกลางที่เสมือนว่าได้อยู่ใกล้ชิดกัน ช่วยคลายความคิดถึง และเพิ่มความรู้สึกใกล้ชิดให้กับเด็กๆ ได้

เด็กกับน้องเน่า-น้องเน่า

เมื่อไหร่ที่เด็กจะเลิกติดน้องเน่า

อาจสามารถตอบได้ว่า เมื่อเด็กๆ เริ่มโตขึ้น มีประสบการณ์ในชีวิตมากขึ้น หน้าที่ของน้องเน่าก็จะค่อยๆ ลดบทบาทไปเอง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นกังวล หรือคิดแทนลูกว่าควรจะเลิกติดน้องเน่าได้แล้ว โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อการเลิกติดน้องเน่านั้น ก็มาจากหลากหลายเหตุผล ทั้งในเรื่องของอายุที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ในครอบครัว ประสบการณ์ชีวิตของเด็ก ตลอดจนอารมณ์และความรู้สึกของเด็กๆ เองด้วย

อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่หลายๆ คน แม้จะมีอายุที่มากขึ้นแล้ว ก็ยังคงติดน้องเน่าอยู่เหมือนเดิม เวลาเข้านอนก็ยังคงต้องกอดน้องเน่า หมอนเน่า หรือผ้าเน่าอยู่เหมือนเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากนั่นจะเป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้นอนหลับได้สนิทมากขึ้น

พ่อกับแม่ควรทำความเข้าใจกับน้องเน่าของเด็กๆ อย่างไร

การที่ลูกติดน้องเน่านั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญมากกว่าการที่ลูกติดน้องเน่าคือ หมั่นสังเกตุพฤติกรรมของเด็กเสมอว่าเด็กมีอาการซึมเศร้า มีความเครียด หรือไม่สบายใจอะไรจนต้องเก็บเอาไปคุยกับน้องเน่าแค่คนเดียวหรือเปล่า แต่ถ้าหากไม่มีความผิดปกติใดๆ การที่เด็กติดน้องเน่าก็ไม่อยู่ในขอบข่ายที่จะต้องเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณถือว่ามีส่วนสำคัญต่อน้องเน่าเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อให้เด็กๆ ได้มีน้องเน่าเป็นคู่หูคลายเหงาแบบไร้กังวล คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เคล็ดลับดังต่อไปนี้เพื่อจัดการและดูแลน้องเน่าให้กับลูก

เลือกน้องเน่าที่ปลอดภัย

การจะหาคู่หูให้กับลูก ของสิ่งนั้นก็ควรจะมีความปลอดภัยต่อเด็ก ไม่ก่อให้เกิดอันตราย สร้างรอยแผลหรือรอยขีดข่วน ตลอดจนต้องพกพาสะดวก ไม่หนักหรือใหญ่จนเกินไป และต้องไม่มีสารเคมีหรือผลิตจากวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้เด็กๆ สามารถกอดน้องเน่าได้อย่างสบายใจไร้กังวล

มีน้องเน่าสำรอง

ความรับผิดชอบในวัยเด็กนั้นยังไม่มากเท่าผู้ใหญ่ เด็กอาจลืมหรือเผลอวางไว้ หรือทำหล่นหายไป คุณพ่อคุณแม่ควรมีน้องเน่าสำรองไว้ 1-2 ตัว เพื่อที่จะได้นำมาทดแทนน้องเน่าตัวเก่าที่หายไป จะได้ไม่ทำให้เด็กๆ รู้สึกเสียใจ แต่ควรจะปิดเป็นความลับด้วย อย่าให้เด็กรู้ว่ามีน้องเน่าตัวอื่นๆ สำรองไว้

อย่างไรก็ตาม น้องเน่าแต่ละตัวก็จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น รอยเปื้อน มีการผูกโบว์ หรือมีตำหนิบางอย่าง หากเป็นไปได้ควรใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เพื่อให้น้องเน่าสำรองได้ทำหน้าที่แทนน้องเน่าตัวเก่าอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง หรืออาจจะดีที่สุดในการสอดแทรกบทเรียน สอนเด็กๆ ให้รู้จักการสูญเสีย และยอมรับในความผิดพลาดที่ได้ทำน้องเน่าหายไป และทดแทนด้วยน้องเน่าตัวใหม่ หรือสามารถใช้เหตุการณ์นี้เพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบได้อีกทีหนึ่งด้วย

ดูแลเรื่องความสะอาดและซ่อมแซมอยู่เสมอ

เด็กๆ อาจจะนำน้องเน่าไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลา จึงอาจทำให้น้องเน่าของเด็กๆ สกปรกหรือสะสมแบคทีเรีย ตลอดจนชำรุดหรือขาดหลุดลุ่ยได้ คุณพ่อคุณแม่ควรบอกกับลูกๆ ว่า ถึงเวลาพาน้องเน่าไปอาบน้ำได้แล้ว น้องเน่าจะได้สะอาด หรือถ้าเห็นว่าน้องเน่าเริ่มขาดหรือชำรุด ควรบอกกับลูกว่าจะนำน้องเน่าไปซ่อม หรือชวนลูกมาซ่อมน้องเน่าด้วยกัน 

ข้อสำคัญคือไม่ควรนำไปทิ้งหรือทำอะไรกับน้องเน่าโดยที่ไม่พูดคุยกับลูกก่อน เพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกโกรธ เสียใจ หรือไม่พอใจที่ถูกพรากจากคู่หูคนสนิทอย่างน้องเน่า

มีข้อจำกัดสำหรับน้องเน่า

เด็กหลายคนติดน้องเน่ามากถึงขนาดพกติดตัวไปไหนมาไหนตลอดเวลา ทั้งตอนอยู่บ้าน ตอนไปโรงเรียน แม้กระทั่งตอนกินข้าวก็ยังต้องพกน้องเน่ามาด้วย คุณพ่อคุณแม่อาจให้เหตุผลเชิงสนับสนุนว่าน้องเน่าควรจะได้พักผ่อนอยู่บ้าน กลับมาถึงบ้านแล้วค่อยเล่นกับน้องเน่าจะดีกว่า แต่ถ้าหากเด็กๆ ยังยืนกรานจะพาน้องเน่าไปยังที่ต่างๆ ด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งไปเร่งรัด แต่ค่อยๆ ใช้เวลาในการเกลี้ยกล่อมและให้เหตุผลที่เหมาะสมจะดีกว่า

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณพ่อคุณแม่

สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้าใจในความสำคัญของน้องเน่าในฐานะเพื่อนและคู่หูของเด็กๆ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ปล่อยให้น้องเน่าทำหน้าที่เกินความเป็นคู่หูจนเลยเถิดกลายเป็นผู้รับฟังปัญหาในชีวิตทุกอย่าง

ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของเด็กอยู่เสมอ เด็กเครียดไปหรือเปล่า ช่วงนี้ลูกเศร้าหรือเสียใจอะไรไหม หมั่นพูดคุยกับลูกอยู่เสมอ สร้างบรรยากาศของความอบอุ่น ความเชื่อใจ และเป็นที่พึ่งพาให้แก่เด็กๆ มากไปกว่านั้น ควรให้ความรักและความอบอุ่นกับคู่หูของเด็กๆ อย่างน้องเน่าด้วย ก็จะช่วยให้น้องเน่ามีตัวตนและเป็นเพื่อนคู่หูของลูกน้อยได้อย่างสมบูรณ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The Transitional Objects and Self Comfort. https://www.mentalhelp.net/blogs/the-transitional-objects-and-self-comfort/. Accessed on August 26, 2020.

Baby’s Transitional Object. https://www.parents.com/baby/development/separation-anxiety/babys-transitional-object/. Accessed on August 26, 2020.

Comfort Objects and Attachment Parenting. https://www.llli.org/comfort-objects-and-attachment-parenting/. Accessed on August 26, 2020.

Comfort object. https://psychology.wikia.org/wiki/Comfort_object. Accessed on August 26, 2020.

THE STRONG BOND BETWEEN CHILDREN AND COMFORT OBJECTS. https://www.careforkids.com.au/child-care-articles/article/271/the-strong-bond-between-children-and-comfort-objects. Accessed on August 26, 2020.

The role of childhood comfort objects. https://www.firstfiveyears.org.au/child-development/the-role-of-childhood-comfort-objects. Accessed on August 26, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/02/2023

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

การเล่นบทบาทสมมติ สำคัญต่อพัฒนาการของเด็กอย่างไร

สัตว์เลี้ยงกับเด็ก อยู่ร่วมกันอย่างไร ไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 15/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา