backup og meta

ลูกฝันร้าย คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Krittiya Wongtavavimarn


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 15/02/2023

    ลูกฝันร้าย คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร

    ลูกฝันร้าย เป็นอาการที่อาจเกี่ยวข้องกับจินตนาการที่กระทบจิตใจ จนทำให้เกิดความกลัว ความวิตกกังวลหรือความเศร้า เช่น อุบัติเหตุ การบาดเจ็บ สถานการณ์น่ากลัว การจดจำรูปภาพหรือสื่อที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวหรือฝังใจรุนแรง การแยกจากพ่อแม่ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เด็กอาจเก็บไปฝันในขณะนอนหลับ ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจรบกวนการนอนหลับ กระทบต่อการใช้ชีวิตและอาจสร้างความรู้สึกกลัวก่อนเข้านอนได้ การเรียนรู้กับวิธีรับมือเมื่อลูกฝันร้ายจึงอาจเป็นวิธีที่จะช่วยให้ลูกผ่อนคลายและนอนหลับได้ยาวนานขึ้น

    ลูกฝันร้ายเกิดจากสาเหตุอะไร

    สาเหตุที่แน่ชัดของอาการฝันร้ายยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจมีสาเหตุมาจากความเหนื่อยล้า การนอนหลับไม่เพียงพอ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือการพบเจอกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลหรือซึมเศร้า โดยการฝันร้ายสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย ซึ่งในเด็กนั้นอาการฝันร้ายอาจเกิดขึ้นในช่วงอายุประมาณ 3-6 ปี  ซึ่งอาจรบกวนการนอนหลับของเด็กและคุณพ่อคุณแม่ในตอนกลางดึกได้ แต่อาจมีแนวโน้มลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นหรือหลังจากอายุ 10 ขวบขึ้นไป  อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่ทราบสาเหตุของอาการลูกฝันร้ายที่แน่ชัด แต่อาการฝันร้ายอาจสามารถเกิดขึ้นจากปัจจัยเหล่านี้

    • ฝันร้ายอาจเชื่อมโยงมาจากเหตุการณ์ที่โรงเรียน อาจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ทำให้เด็กเป็นกังวลหรือรู้สึกไม่สบายใจ เช่น การไปโรงเรียน การได้รับความพ่ายแพ้ การถูกบูลลี่ ถูกเพื่อนแกล้ง การทำความผิดหรือกำลังปกปิดความลับ
    • ฝันร้ายจากการถูกแยกจากพ่อหรือแม่
    • ฝันร้ายจากสื่อ เช่น ละคร ภาพยนตร์ โฆษณา อาจเป็นฉากที่มีความน่ากลัวหรือทำให้เด็กรู้สึกกลัวจนเก็บเอาไปฝัน
    • ฝันร้ายของเด็กที่เกิดขึ้นติดกันบ่อยครั้ง อาจมีสาเหตุมาจากการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ความเหนื่อยล้าหรือมีกิจวัตรการนอนที่ไม่เหมาะสม

    วิธีรับมือเมื่อลูกฝันร้าย

    เพื่อรับมือกับปัญหาลูกฝันร้าย วิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้ลูกผ่อนคลายและนอนหลับได้ดีขึ้น

    • การดูแลให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยจัดการตารางการเข้านอนของลูกให้เหมาะสม ควรให้ลูกนอนอย่างน้อย 8-9 ชั่วโมง/คืน เพื่อให้ลูกได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม ซึ่งการทำเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะช่วยลดอาการฝันร้ายได้
    • การสร้างบรรยากาศก่อนการเข้านอน ควรจัดเวลาประมาณ 30-60 นาทีก่อนเข้านอน ให้ลูกงดดูรายการทีวี เกม ดนตรีหรือเสียงน่ากลัวที่อาจทำให้ลูกเก็บไปฝันได้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเปลี่ยนมาเล่านิทานก่อนนอน หรือเล่าเรื่องราวอื่น ๆ ที่จรรโลงใจ ให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย พยายามหลีกเลี่ยงเรื่องราวน่ากลัวหรือตื่นเต้นเพราะอาจจะทำให้ลูกเก็บเอาไปฝันได้
    • การพูดคุยกับลูกเรื่องฝันร้าย คุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้ลูกฝันร้าย และรับฟังเหตุการณ์ของความฝันนั้น พร้อมทั้งสอบถามเพื่อดูว่าช่วงนี้ลูกกำลังกังวลหรือเครียดกับสิ่งใดอยู่หรือไม่
    • การสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการนอน คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกซื้อตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดให้กับลูกไว้สำหรับนอนกอด เพราะการกอดจะทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและอุ่นใจ หรือหากลูกต้องการที่จะเปิดไฟนอน ก็ควรเปิดไฟไว้จนกระทั่งแน่ใจว่าลูกหลับแล้วจึงปิดไฟ หรืออาจเลือกใช้ไฟที่มีแสงนวล สว่างน้อย เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยในระหว่างนอนหลับ
    • การให้ลูกใช้จินตนาการ ลูกหลายคนอาจใช้จินตนาการในการเอาชนะฝันร้าย คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกเล่านิทานที่มีฮีโร่หรือนางฟ้าที่ออกมาช่วยเหลือลูก ๆ และอาจแนะนำลูกว่านางฟ้าและฮีโร่เหล่านี้จะออกมาช่วยหากลูกเกิดฝันร้าย

    เมื่อไหร่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ

    อาการลูกฝันร้ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งคราวอาจไม่ก่อให้เกิดผลเสียที่น่ากังวล แต่หากอาการฝันร้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือหากลูกมีอาการต่อไปนี้ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาทันที

    • ลูกมีปัญหาในการตื่นนอนตอนเช้า เช่น ตื่นสาย เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียทุกครั้งที่ตื่นนอน
    • ลูกมักมีอาการง่วงนอน และมีอาการหงุดหงิดในระหว่างวันบ่อยครั้ง
    • อาการฝันร้ายแย่ลง หรืออาการฝันร้ายเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นจนรบกวนการนอนหลับ
    • ลูกมีอาการตกใจกลัวจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
    • ลูกรู้สึกกลัวความมืดและอาจกลัวการเข้านอน

    ปัญหาลูกฝันร้ายอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากปล่อยไว้เป็นเวลานานจนอาการฝันร้ายรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจที่ทำให้เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตเมื่อโตขึ้น ผู้ปกครองจึงควรหมั่นดูแลและเอาใจใส่ในทุกพฤติกรรมและความผิดปกติทางจิตใจของลูกอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของลูกที่ดีในระยะยาว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Krittiya Wongtavavimarn


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 15/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา